สถาพร ศรีสัจจัง
ระบบการศึกษาไทยปัจจุบัน ที่ต้องถือว่าเป็น “เครื่องมือป้อนข้อมูล” หรือพูดให้ทันสมัยแบบร่วมยุค ดิจิทัลว่า “โปรแกรมเมอร์”(programmer)นั้น แทบจะพูดได้เลยว่า ลอกแบบแผนและได้รับอิทธิพลวิธีคิดมาจาก “ตะวันตก” แทบทั้งสิ้น เริ่มจากยุโรปตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 จนกลายเป็น “แบบอเมริกันจ๋า” อย่างเต็มรูปหลังปีพ.ศ. 2504 ที่ประเทศไทยเริ่มมีแผน “พัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ระยะที่ 1 (ยังไม่มีคำ และสังคม) เป็นต้นมา
ระบบการศึกษาดังกล่าวนี้เองที่เป็นเครื่องมือทางสังคม (social tool) อันสำคัญยิ่งในการเปลี่ยน “โลกทัศน์” และ “ชีวทัศน์” ของคนไทยให้มีระดับ “คุณภาพ” อย่างที่เป็นๆกันอยู่ในปัจจุบัน
แต่เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องบอกว่า ระบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง “ระบบคุณค่า” แบบเก่า ที่สังคมไทยบูรณาการอัตวิสัยของตนเองหลอมรวมเข้ากับอารยธรรมที่รับมาจากแหล่งอิทธิพลหลักของตะวันออกโบราณ คืออินเดีย จีนและเปอร์เซีย (ซึ่งส่วนใหญ่คลี่คลายผ่านระบบลัทธิความเชื่อหรือที่เรียก “ศาสนา” นั่นเอง) ก็เป็น “อุปสรรค” และ ปัจจัยต่อการนำเข้า “วิธีวิทยา”แบบตะวันตกอยู่ไม่น้อย
ศาสนาพุทธแบบเถรวาทที่สถาปนาขึ้นในสังคมไทยแบบผสมผสานกับลัทธิพราหมณ์ และ ระบบนับถือผีที่ทรงอิทธิพลในพื้นที่มาก่อน นับว่าเป็นะระบบสร้างคุณค่าที่สำคัญยิ่งของสังคมไทยส่วนใหญ่ ความคิดเกี่ยวกับระบบคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับความเป็น “สังคมมนุษย์” ซึ่งเกิดจาก “คตินิยมเชิงพุทธ” ก็น่าจะเป็นตัว “เหนี่ยวรั้ง” บุคลิกภาพของสังคมไทยให้มีลักษณะจำเพาะไว้ได้ไม่น้อย
แม้ภายหลังเมื่อระบบทุนนิยมแบบตะวันตกจะสามารถพัฒนาศักยภาพสังคมโลกให้เป็น “สังคมไร้พรมแดน”(Globalization)ได้ในที่สุด ด้วยความเจริญก้าวหน้าของระบบการสื่อสารและระบบโลจิสติกส์ยุคปัจจุบัน แต่ “ความเป็นแบบแฝงเร้น” ของระบบคุณค่าที่เกิดจาก “วัฒนธรรมเชิงพุทธ” ดังกล่าวก็ยังคงสำแดงคุณภาพอยู่ได้ในบางระดับ แม้จะค่อยๆกลายเป็นด้านรองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแล้วก็ตาม
ใน การบรรพชา-อุปสมบทของกลุ่มคนไทยพุทธ ซึ่งยังคงเป็นชนกลุ่มหลัก(Major group)ของสังคม นับเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในคุณค่าความเป็น “มนุษย์” ของสังคมไทย
ในคำขอบวชบทหนึ่งของเจ้านาค อุปัชฌาจารย์จะถามคำถามสำคัญคำถามหนึ่งก่อนจะอนุญาตให้บวชเพื่อเปลี่ยนจากเพศคฤหัสถ์เข้าสู่เพศบรรพชิตได้ คือคำถามภาษามคธต่อ “เจ้านาค” (ผู้ขอบวช)ที่ว่า “มนุสส โสสิ” ซึ่งแปลคำไทยได้ว่า “เป็นมนุษย์หรือไม่?” !
ความเป็น “มนุษย์” ในแง่ของพระพุทธศาสนานั้นสำคัญมาก เพราะมีหลักการยืนยันไว้อย่างชัดเจนว่า “มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถจะปฏิบัติตามเส้นทาง “ธรรม” ของสมณโคดม หรือ พระพุทธเจ้า ไปบรรลุภาวะ “นิพพาน” (หลุดพ้นจากกิเลสแห่งความทุกข์สุขทั้งมวล)ได้”
ที่จริง “คุณค่าความเป็นมนุษย์” ในแง่นี้ ก็มี “หลักคิด” พื้นฐานที่มีความคล้ายคลึงกับกรอบคิดเกี่ยวกับระบบการศึกษาแบบโลกตะวันตกที่มีอืทธิพลครอบอยู่เหนือสังคมไทยและสังคมโลกปัจจุบัน
กล่าวคือ จากที่แต่เดิมกรอบความคิดการจำแนก “ศาสตร์” ของตะวันตกมีเพียง 2 สาขาใหญ่ๆคือ “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” (Natural Science) กับ “วิทยาศาสตร์สังคม” (Social Science) ภายหลังเมื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับ “ศาสตร์” ของพวกเขาพัฒนาสูงขึ้น จึงได้แยกศาสตร์ที่ว่าด้วย “คุณค่าของความเป็นมนุษย์” ออกมาเป็นศาสตร์ใหญ่อีกสาขาหนึ่งต่างหาก เรียกว่า “Humanities” หรือ “มนุษยศาสตร์” อย่างที่มีปรากฏชื่อนี้ให้เห็นอยู่ในทุกมหาวิทยาลัย
ถามว่าแล้วศาสตร์ที่มุ่งสอนหรือ “โปรแกรม” ให้ “คน” ได้เรียนรู้ถึงความมีคุณค่าของความเป็น “มนุษย์” ที่ว่า คือการเรียนรู้ในเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้างละ?
นักวิชาการของโลกตะวันตกตอบคำถามดังกล่าวสรุปได้เป็น “คำแก่นแกน” (หรือที่ปัจจุบันชอบเรียกว่า “Keywords”) ได้แบบห้วนๆสั้นเพียงว่า ก็คือการเรียนรู้เรื่อง “ความจริง ความดี และความงาม” นั่นไง !
ทั้งยังย้ำด้วยว่า “ความจริง ความดี และความงาม” ที่ว่านี้ เป็นคุณค่า 3 ประการที่มีแต่ “คน” เท่านั้นจะเรียนรู้ และ “สร้างสรรค์” ขึ้นได้ สิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นไม่สามารถ สิ่งนี้จึงถือว่าเป็น “คุณสมบัติพิเศษ” ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน”
และการเรียนรู้เพื่อการสร้างสรรค์ใน “คีย์เวิร์ด” ทั้ง 3 คำนี้นี่เอง ที่ปลี่ยนแปลงคนจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ให้เข้าสู่ความเป็นคนยุคประวัติศาสตร์
แล้วคำแปลหรือ “อรรถาธิบาย” เชิงความหมายของคำ “ความจริง ความดี ความงาม” ละคืออะไรกันแน่?
โดยสรุปพวกเขาตอบว่า คำแปลของคำ “ความจริง” ก็คือ “สภาวธรรม”/คำแปลของคำ “ความดี” ก็คือ “คุณธรรม-จริยธรรม-ศีลธรรม”/คำแปลของคำ “ความงาม” ก็คือ “ศิลปะ”
และองค์รวมเชิงความหมายของคำ “ความจริง-ความดี-ความงาม” ที่หมายถึง “คุณค่าที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์” ดังกล่าวถ้าจะสรุปให้ได้เป็นคำเดียว ก็คือคำว่า “วัฒนธรรม” นั่นเอง!
คนไทยยุครัฐบาล “เศรษฐา 1” หรือ “ยุคสลายขั้ว” หรือยุค “เอาไปเลย 1 หมื่นชื่นหัวใจ” อย่างวันนี้ที่มักต้องตื่นขึ้นมาตอนเช้า(เพื่อเตรียมตัวออกล่าคุณค่าสูงสุดของยุคสมัยคือเงิน)เคยตั้งคำถามกับตัวเองแบบคนพุทธที่จะขอบวชบ้างหรือเปล่าว่า “มนุสส โสสิ”- “กูเป็นมนุษย์หรือเปล่าวะ?” หรือ ว่าล้วนกลายร่างเป็นเครื่องจักรหรือ “AI” ให้ “ทันสมัย” (Modern) กันไปหมดแล้ว?!