รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

พลังของการบริหารจัดการข้อมูลมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากข้อมูลเป็นรากฐานของนวัตกรรม การตัดสินใจใด ๆ ต้องอาศัยข้อมูลความก้าวหน้าด้านการวิจัย ประสบการณ์เฉพาะบุคคล การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และความก้าวหน้าทางสังคม ก็ต้องพึ่งพาข้อมูล นอกจากนี้ ข้อมูลยังคงมีอิทธิพลต่อการกำหนดรูปแบบต่าง ๆ ในชีวิตของผู้คน การบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีความรับผิดชอบและ
มีประสิทธิภาพจึงถือเป็นสิ่งสำคัญของการบรรลุความสำเร็จทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับส่วนบุคคล องค์กร และสังคม

ข้อมูล ณ วันนี้ ไม่เหมือนกันกับข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะทุกคนเป็น
ผู้ผลิต/สร้างและเผยแพร่คอนเทนต์หรือข้อมูลด้วยตนเองได้ (User-generated Content หรือ UGC) ข้อมูลชุดเดียวกันเผยแพร่ได้หลากหลายช่องทางหรือแพลตฟอร์ม การผลิตข้อมูลซ้ำทำได้ง่ายขึ้นมากจนบางครั้งไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง นอกจากนี้การเดินทางของข้อมูลก็ใช้เวลาหดสั้นลงมาก กำแพงภาษาที่เคยเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงข้อมูลข้ามภาษาก็น้อยลง แต่ที่สำคัญและต้องระมัดระวังในการใช้ข้อมูลคือ ข้อมูลเก่าและล้าหลังเร็วมาก แม้แต่ข้อมูลในมหาวิทยาลัยก็เป็นไปตามลักษณะนี้เหมือนกัน

การบริหารจัดการข้อมูลในมหาวิทยาลัยจึงเป็นความท้าทายของผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรทุกคน !!!

การบริหารจัดการข้อมูลในมหาวิทยาลัยในวันนี้และวันต่อไป เป็นที่ยอมรับกันว่าเกิดจากอิทธิพลของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological advancements) การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางการศึกษา (Changing educational paradigms) และข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Evolving data privacy concerns)

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปฏิวัติการบริหารจัดการข้อมูลในมหาวิทยาลัยทำให้การรวบรวม การจัดเก็บ การประมวลผล
การวิเคราะห์ และการใช้ประโยชน์ข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านวิชาการและการบริหาร ความก้าวหน้าเหล่านี้ยังช่วยยกระดับประสบการณ์การศึกษา ปรับปรุงผลการวิจัย และปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วการบริหารจัดการข้อมูลที่ดีจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จโดยรวมท่ามกลางโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การศึกษาส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริหารจัดการข้อมูลในมหาวิทยาลัย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการสอน การเรียนรู้ และการบริหารจัดการ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การศึกษาเน้นการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ประสบการณ์การเรียนรู้ส่วนบุคคล และการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับการศึกษา การบริหารจัดการข้อมูลที่เหมาะสมเป็นพื้นฐานสำหรับมหาวิทยาลัยในการควบคุมศักยภาพของการเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงผลการศึกษา และการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของนักศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

ข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่เกิดขึ้นในสังคมดิจิทัลได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริหารจัดการข้อมูลในมหาวิทยาลัย เนื่องจากมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สูงขึ้น ประเด็นข้อพิจารณาด้านจริยธรรม และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
ข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลยังส่งผลถึงการบริหารจัดการข้อมูลที่มีความรับผิดชอบในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการข้อมูล การจัดลำดับความสำคัญด้านความปลอดภัยของข้อมูล การปฏิบัติตามข้อกำหนด ความโปร่งใส และจริยธรรม ขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ภายใต้สังคมดิจิทัลการบริหารจัดการข้อมูลในมหาวิทยาลัยต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดระเบียบ การเข้าถึง และการเก็บรักษาข้อมูล ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่าของข้อมูลให้มากขึ้น เพราะต้องแน่ใจว่าข้อมูลความรู้ได้รับการจัดระเบียบ เข้าถึงได้ และใช้งานได้เพื่อประโยชน์ของทุกคน แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาก้าวล้ำอย่างต่อเนื่อง แต่การบริหารจัดการข้อมูลก็ยังมีความสำคัญต่อการรักษา
ความสมบูรณ์และการใช้งานข้อมูล

การบริหารจัดการข้อมูลมหาวิทยาลัยมีหลายประการ อาทิ การสร้างเมตาดาต้าและจัดทำแคตตาล็อกที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐานเพื่อสะดวกและง่ายต่อการจัดระเบียบ เข้าถึง และค้นคืนสารนิเทศดิจิทัล การเก็บและการอนุรักษ์ทรัพยากรดิจิทัล รวมถึงการย้ายข้อมูลดิจิทัลเพื่อป้องกันการล้าสมัย การดูแลบริหารจัดการข้อมูลและการสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการจัดระเบียบข้อมูล การสร้างเมตาดาต้า และการแบ่งปันข้อมูล เพื่อให้สามารถค้นหาได้ เข้าถึงได้ ใช้งานร่วมกันได้ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (FAIR - Findable, Accessible, Interoperable, and Reusable) การวางแผนการจัดการข้อมูล เพื่อพัฒนาแผนการจัดการข้อมูล สรุปวิธีการรวบรวม จัดเก็บ แบ่งปัน และเก็บรักษาข้อมูล โดยคำนึงถึงข้อพิจารณาด้านจริยธรรมและการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการคุ้มครองข้อมูล

ทุกวันนี้ข้อมูลดิจิทัลทุกรูปแบบกลายเป็นรากฐานสำคัญของการวิจัย การสอน และการบริหารจัดการ รวมถึงการใช้ชีวิตในทุกด้านของ
‘พลเมืองมหาวิทยาลัย’ ความเชี่ยวชาญด้านการจัดระเบียบข้อมูล ข้อพิจารณาเชิงจริยธรรม และการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิผลจะเป็นสิ่งล้ำค่า มหาวิทยาลัยจึงควรมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการทรัพยากรข้อมูลดิจิทัลให้เกิดประสิทธิผลและมีความรับผิดชอบ

และนี่คือ… หนทางหนึ่งของการยกระดับพลเมืองไทยสู่พลโลกดิจิทัล (Thai digital citizen to global digital citizen) ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ข้อมูลคือ ขุมทรัพย์ที่จะมีค่ามากกว่าน้ำมัน !!! ท่านผู้อ่านคิดต่าง คิดเหมือน หรือคิดอย่างไรกันบ้างครับ ...