สถาพร ศรีสัจจัง

“กุศลปรุงแต่งกรรม/วัฒนธรรมปรุงแต่งคน” เป็น “ข้อสรุปแห่งชีวิต” ชุดหนึ่งของ ท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ปราชญ์สามัญชน คนตะเครียะ เมืองสงขลา ผู้เป็นต้นคิดและสถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่เกาะยอเมืองสงขลา ให้เป็นต้นแบบ “สถาบันทางวัฒนธรรม” (ไทยเน้นภาคใต้) ขึ้น ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520

ที่บอกว่าตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 ก็เพราะจริงๆแล้ว ท่านอาจารย์สุธิวงศ์ฯคิด “การย์” เรื่องนี้มาตั้งแต่ท่านเริ่มเห็น “ความพิกลพิการ” จากผลของสิ่งที่เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของประเทศไทยระยะที่ 1 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ยุคจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้สมาทาน “อเมริกา” เป็นสรณะ ที่เริ่มประกาศใช้มาตั้งแต่เมื่อปี 2506 โน่นแล้ว!

สังเกตให้ดีนะ แผนพัฒนาฯระยะที่ 1 นี้ไม่มีคำว่า “สังคม” อยู่หลังคำ “เศรษฐกิจ” แต่อย่างใด ซึ่งเป็นสิ่งบอก “นัย” ที่สำคัญมากบางประการ!

ฟังว่านักวิชาการที่รัฐบาลแห่งประเทศ “สหปาลีรัฐอเมริกา” ยุคนั้นส่งมาช่วยยกร่าง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ”ให้ในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญ” (อาจจะไม่เคยสัมผัสชีวิต และ “วิถี” ของสังคมไทยเลย) นั้น เป็นพวก “ดอกเตอร์” ประเภทที่ได้รับการ “อัดระบบคิดแนวใหม่” ทางสังคมที่กำลังเข้าไปมีบทบาททางความคิดอย่างสูงอยู่ในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ และ นักมานุษยวิทยาชั้นนำในมหาวิทยาลัยดังๆของสหรัฐอเมริกายุคนั้นแทบทุกคน

นั่นคือแนวคิดแบบ “นีโอ มาร์กซิต” สาย “อันโตนิโอ กรัมชี” (อิตาลี) ของสำนัก “แฟรงก์เฟิร์ต” แห่งเยอรมนี ที่แพร่สะพัดอย่างทรงพลังมาจากจากยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศส!

คงไม่พูดเรื่องนี้ในรายละเอียด (เพราะรู้น้อย) ใครอยากรู้ลึกก็ลองไปหาอ่านกันเอาเองก็แล้ว กัน ดูเหมือนพวกนักวิชาการประเภท “อีลีท” ของสังคมไทยเขาจะเขียนจะแปลกันไว้ไม่น้อยแล้ว!

ถ้าหาที่ไหนไม่เจอ ก็ลองไปสืบค้นดูจากหนังสือ “ฟ้าเดียวกัน” ก็ได้ ดูเหมือนจะมีหลายฉบับที่มีบทความซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ให้อ่าน  ถ้าหาหนังสือชื่อที่ว่าไม่ได้อีก ก็อาจลองติดต่อปรึกษาไปที่บรรดา “เกจิ” ของชาวคณะ “ก้าวหน้า” ของ คุณธนาธร อาจารย์ปิยบุตร และ “พี่ช่อ” ดูก็ได้ ฟังว่าแนวคิดดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนด “ยุทธศาสตร์” เพื่อการทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมไทยของพวกท่านเหล่านี้อยู่เหมือนกัน

แต่ถ้าพยายามอย่างหนักทั้ง 2 รายการดังว่าแล้วก็ยังไม่ได้ผล   คงต้องแนะนำให้ตรงไปหารือเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวนี้ได้โดยตรงที่ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งกำลัง “ลือชื่อ” อยู่ในวงการ “ออนไลน์” เมืองไทยเสียแล้วหละมั้ง !

เพราะฟังมาว่า ที่นั่นก็มีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย ทั้งเมื่อวันก่อนเห็นท่านเลขาธิการพรรคคุณชัยธวัช  ตุลาธน (อดีตบก.วารสาร “ฟ้าเดียวกัน”?) ให้สัมภาษณ์ออกทีวีอยู่แจ้วๆว่า “ใครมาเราก็ต้อนรับหมดแหละครับ” ท่านคงหมายถึงยินดีต้อนรับ “ทุกฝ่าย” และ ทุกคน ที่ไปเยือนพรรค แบบพรรคการเมืองที่ดีของ “ประชาชน” นั่นหละมั้ง)

ถ้าติดต่อกลุ่มนักวิชาการ “ก้าวหน้า” ดังว่าไม่ได้ หรือยุ่งยากนัก ก็แนะนำให้ลองเปิด “ยูทูบ” และพิมพ์ชื่อรายการ “Dailydose Live” ของ “คุณปลื้ม” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล แห่ง “ว้อยซ์ ทีวี” ดูก็จะมีคลิปที่พูดถึงเรื่องดังกล่าวนี้อยู่หลายคลิป ฟังแล้วอาจเข้าใจได้ง่ายและเร็วกว่า แล้วค่อยไปหาอ่าน “ออริจินัล” เพื่อให้ “รู้จริง” เอาตอนหลังก็ได้

ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึงก่อน แทนที่จะอรรถาธิบายถึง “วาทกรรม” สำคัญของท่าน อาจารย์สุธิวงศ์ฯ “กุศลปรุงแต่งกรรม/วัฒนธรรมปรุงแต่งคน” ที่จั่วตั้งเป็นหัวเรื่องไว้ทันทีโดยตรง  ก็เพราะอยากโยงให้เห็นว่า สภาพการณ์ของประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้นั้นมี “เหตุปัจจัย” ที่แท้จริงมาจากอะไร!

ก็จากอิทธิพลของสิ่งที่เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจ” ที่ฝรั่งอเมริกามาวางเป็นรากไว้ให้ตั้งแต่ต้น แล้วบรรดานักวิชาการผู้ไปสมาทานความคิดฝรั่งตะวันตกที่กลับมามีบทบาทในสังคมชนชั้นนำของไทยในชั้นหลัง มาต่อเพิ่มเติมแต่งให้หนักยิ่งขึ้นอีกในภายหลังนั่นแหละ!

เพราะ 60 ปีของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบที่ว่านี้เองที่ทำให้สังคมไทยกลายเป็น “สังคมรากขาด” เพราะเป็นแผนที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมของสังคม” ที่พัฒนาสั่งสมมานับเวลาเป็นพันๆปี เป็น “หลัก” แม้สักกระผีกเดียว!

นัก “ทฤษฎีปฏิวัติสังคม” สาย “Theory of conflict” ในชั้นหลังจาก “คาร์ล มาร์กซ์ และ เฟรดเดอริค เองเกลส์” นั้น ส่วนใหญ่มักติดยึดแนวคิด “มนุษย์เป็น” สัตว์เศรษฐกิจ “(Economic animal)” เป็นสรณะ  มักเป็นพวกที่มีความเชื่อแบบกลไกว่า “เศรษฐกิจ” เป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมมนุษย์ ที่สำคัญคือเป็นตัวกำหนด “Super structure” หรือ “โครงสร้างขั้นบน” ทั้งหมดของสังคม

พูดให้ง่ายขึ้นแบบ “นักวิชาการชาวบ้าน” ก็คือ “รูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิต” (Relation of production) ในระบบเศรษฐกิจแบบหนึ่งจะกำหนดสร้างรูปแบบทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งนั่นเอง!

ฟังว่า “อันโตนิโอ กรัมชี” หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีช่วงกลางยุคทศวรรษ 1920 ไม่เชื่อเช่นนั้น และ ได้ศึกษาวิเคราะห์เรื่องความสำคัญของ “วัฒนธรรม”  และ เขียนเป็นทฤษฎีทางการเมืองสำหรับ “Neo-Marxist” ขึ้นชุดหนึ่ง จนกลายเป็น “เครื่องมือทางความคิด” ที่สำคัญของ “นักปฏิวัติสังคม” ในขั้นหลังจนมีอิทธิพลซึมซ่านอยู่ในสังคมนักวิชาการยุโรป และอเมริกันมาอย่างยาวนานพอควร

และส่งผลถึง “นักวิชาการ” ในสังคมไทยที่นิยมสมาทาน “วิธีวิทยา” ของตะวันตกบางกลุ่มมาจนถึงปัจจุบัน

แต่แนวคิด “กุศลปรุงแต่งกรรม/วัฒนธรรมปรุงแต่งคน” ของท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ศาสตราจารย์ระดับ 11 ที่จบเพียงปริญญาตรี (น่าจะคนสุดท้ายของประเทศไทย) ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากแนวคิดดังกล่าวนี้ แต่เป็นแนวคิดที่เกิดจากประสบการณ์ของชีวิต ทั้งด้านส่วนตนและด้านวิชาการที่เปี่ยมเต็มแบบไทยๆที่ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ!