รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ลมหายใจขององค์กรหลายแห่งผิดปกติ ความพยายามขององค์กรที่จะทำให้ลมหายใจององค์กรกลับคืนสู่สภาวะปกติหลังการระบาดของโควิด-19 มีความไม่เหมือนเดิมทั้งในเชิงกายภาพและเชิงเปรียบเทียบ (physical & metaphorical)

ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคที่รุนแรงทำให้บุคลากรต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงาน แต่การปรับเปลี่ยนนั้นยังมีการร้องขอและดำเนินต่อเนื่องมาถึงในวันนี้แม้ว่าสถานการณ์ของโรคจะสงบลงมากแล้วก็ตาม กล่าวคือบุคลากรต้องการและคาดหวังต่อองค์กรให้ส่งมอบความเป็นส่วนตัวที่มากขึ้น (more personalized) เช่น การแบ่งสัดส่วนวันทำงานจากที่บ้านหรือที่ใดก็ได้ให้มากกว่าการเข้าทำงานภายในที่ตั้งองค์กร การขับเคลื่อนด้วยคุณค่า (values-driven) เช่น การมองว่าความล้มเหลวทีเกิดขึ้นจากการทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ให้กับองค์กรไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่ต้องปรับตัว เรียนรู้ และแก้ไขให้ทันท่วงที และการให้บริการแบบมีส่วนร่วม (engaged services) เช่น การให้ความร่วมมือกับองค์กรในทุกด้านอย่างเต็มใจและสมัครใจ เป็นต้น

การระบาดของโควิด-19 ครั้งใหญ่ที่ผ่านมาทำให้องค์กรต้องหายใจเข้าและหายใจออกอย่างหนักหน่วงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ผู้นำองค์กรเชิงกลยุทธ์ต่างตระหนักดีว่า ณ เวลานี้เป็นเวลาที่ต้องเคลื่อนไหวหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างกล้าหาญ ไม่ใช่การนิ่งเฉย

โดยแท้จริงแล้ว เป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรจะต้องเผชิญกับความเจริญและความเสื่อมถอยตามวัฏจักร ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การตัดสินใจ (decision-making) การจัดสรรทรัพยากร (resource allocation) และการจัดสรรอสังหาริมทรัพย์ (real estate allotment)  การที่องค์กรต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำหรือผู้บริหารใหม่ หรือต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ จากภายนอกที่กระทบกับองค์กร เช่น ความท้าทายใหม่ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี ทั้งหมดเหล่านี้ก็คือ “ลมหายใจขององค์กร”

สิ่งที่สำคัญที่ต้องเข้าใจคือ ลมหายใจขององค์กรเป็นของกลาง ๆ ไม่ใช่สิ่งไม่ดีหรือสิ่งที่ดี (good or bad) กุญแจสำคัญที่จะต่อลมหายใจขององค์กรให้ดำเนินต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดคือ แรงบันดาลใจที่มีแบบแผนขององค์กรและการลงมือทำอย่างจริงจัง

การทำงานของผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรภายใต้เงื่อนไขหรือบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ผู้นำคนใหม่ควรทำงานอย่างมีส่วนร่วม คอยสังเกตการตัดสินใจของบุคลากรที่ได้รับมอบอำนาจว่าขาดความรับผิดชอบหรือไม่ ตลอดจนการให้การสนับสนุน การทำงานของส่วนกลาง และลดภาระการตัดสินใจของบุคลากรหน้างานและผู้บริหารระดับกลาง

เมื่อเวลาผ่านไป ผู้นำหรือผู้บริหารคนใหม่ต้องเข้ามาสานงานต่อ และสังเกตพบว่าองค์กรเริ่มทำงานล่าช้าและเต็มไปด้วยขั้นตอนแบบราชการ ผู้นำคนใหม่ต้องปรับทิศทางการทำงานหรือการตัดสินใจใหม่ พร้อม ๆ กับมีการพูดคุยหรือสื่อสารที่เหมาะสม เพื่อสร้างประสิทธิภาพการทำงานและส่งเสริมความมีส่วนร่วมในการทำงาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้บุคลากรทุกคนทันกระแสหรือก้าวข้าม
การเปลี่ยนแปลงและประสบความสำเร็จร่วมกัน 

ผู้นำหรือผู้บริหารคนใหม่จะธำรงรักษาความอยู่รอด การเติบโต รวมถึงการต่อลมหายใจให้กับองค์กรได้อย่างถาวร ก็ต้องตระหนักรู้และทำตามแนวโน้มและตามจังหวะของวัฏจักรที่เกิดขึ้น และที่สำคัญต้องพยายามรับมือกับสภาวะดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันให้ได้ รวมถึงต้องรู้และเข้าใจว่าในแต่ละบริบทหรือสถานการณ์จะต้องเลือกใช้รูปแบบการบริหารแบบกระจายอำนาจหรือแบบรวมศูนย์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการองค์กรและความคาดหวังของบุคลากร

ลมหายใจขององค์กรประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ วัตถุประสงค์และค่านิยม เมื่อบุคลากรรู้สึกเชื่อมั่นในวัตถุประสงค์และค่านิยมขององค์กรจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจและมีจุดมุ่งหมายในการทำงาน วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ เมื่อบุคลากรกระจาย
ความสนใจและมุ่งมั่นทำงานที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ขององค์กรได้ดี จะทำให้องค์กรเข้มแข็งและมีลมหายใจที่มั่นคงยืนนาน วัฒนธรรมองค์กร ลมหายใจขององค์กรที่ดีเกิดจากวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์และสนับสนุนการทำงานที่ดี วัฒนธรรมเช่นนี้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ ความโปร่งใส และการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ลมหายใจขององค์กรยังรวมถึงการสนับสนุนและการพัฒนาบุคลากร องค์กรจะมีลมหายใจที่ดีได้ต้องให้ความสำคัญกับ การสนับสนุนและการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการให้โอกาสการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะ การสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างโครงสร้างที่สนับสนุนการเติบโตและความสำเร็จของบุคลากร และการสื่อสารและการแบ่งปันข้อมูล เมื่อองค์กรสื่อสารอย่างเปิดเผยและเป็นระบบก็จะช่วยให้บุคลากรได้รับข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การสื่อสารที่ดียังช่วยให้บุคลากรตระหนักถึงการรับรู้และความภักดีต่อองค์กร

องค์กรแต่ละแห่งอาจมีลมหายใจที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งวัฒนธรรม และปรัชญาขององค์กร อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับลมหายใจขององค์กรสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการทำงานได้ อย่างเต็มที่และสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรที่ยั่งยืนต่อไป