รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การเป็นผู้นำอาจดูเหมือนเป็นเป้าหมายสุดท้ายของใครหลายคน แต่ผู้นำบางคนก็หลงคิดว่ามันเป็นเป้าหมายท้ายสุด แต่ในความเป็นจริงแล้วบทบาทความเป็นผู้นำไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานกี่ปี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจซ้ำเดิมแต่บริบทไม่มีทางที่จะเหมือนเดิม และยิ่งมีความท้าทายใหม่ที่ไม่คาดไม่ถึงเข้ามาทับถมอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้นำกลายเป็นบทบาทความเป็นผู้นำ (Leadership role) ในอีกด้านหนึ่งก็คือ “โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ก็คือห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ผู้นำต้องทุ่มเทให้กับจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง”

การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous learning) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ และ การมีกรอบคิดในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (Growth mindset) เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำ

การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous learning) เป็นหนทางในการปรับปรุงและฝึกฝนความสามารถในการเป็นผู้นำ ซึ่งวิธีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของผู้นำมีได้หลายรูปแบบ เช่น การขอคำปรึกษาหรือการฝึกสอนจากผู้นำที่มีประสบการณ์ การอ่านหนังสือและบทความเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการเป็นผู้นำและแนวโน้มใหม่ ๆ การเข้าร่วมการประชุมหรือการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ การสะท้อนประสบการณ์ที่ผ่านมาและการรับฟังความคิดเห็นเพื่อระบุประเด็นสำคัญที่ต้องปรับปรุงยังสามารถช่วยให้ผู้นำเติบโตและพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้วิธีการ “การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง” จะทำให้ผู้นำคงความเป็นผู้นำได้ยาวนาน เนื่องจากทำให้ผู้นำสามารถก้าวทันฉากทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและสามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน

ความเป็นผู้นำไม่ใช่กระบวนการที่หยุดนิ่งแต่มีพลวัต (Dynamic) เกี่ยวข้องกับการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในการเป็นผู้นำ (Continuous learning leadership) เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ได้รับความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ผู้นำสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของการเป็นผู้นำเป็นการยอมรับเอากรอบความคิดที่แสวงหาโอกาสในการเติบโตและ การพัฒนา (Growth & development) มาใช้ มากกว่าที่จะพอใจกับสภาพเดิมที่เป็นอยู่ ขณะที่การจัดลำดับความสำคัญของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Prioritizing continuous learning) จะทำให้ผู้นำมีความสามารถในการวางบริบทตนเองและองค์กรให้อยู่เหนือเส้นโค้ง (Stay ahead of the curve) ซึ่งหมายถึงการออกแบบการคิดได้นอกเหนือจากที่เป็นอยู่หรือคิดได้ไกลกว่ากระแสที่สังคมต้องการ และมีความพร้อมรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

ความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความทุ่มเทที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการเติบโต และสร้างความก้าวหน้าในสายงานหรืออาชีพ ผู้นำต้องสามารถแสวงหาความรู้และทักษะใหม่ ๆ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ทั้งทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการตัดสินใจ เป็นต้น หากผู้นำให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะทำให้ผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดี (Role Model) ให้กับสมาชิกภายในทีม ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงยังเป็นการช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตและพัฒนาของทีมงานให้ดียิ่งขึ้น  

การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมีความสำคัญต่อความสำเร็จของการเป็นผู้นำและมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้นำสามารถปรับปรุงทักษะการแก้ปัญหาและการตัดสินใจให้ดีขึ้น การลงทุนในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องยังสามารถช่วยให้ผู้นำปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง นำพาทีมงานให้ประสบความสำเร็จ และสร้างความสำเร็จในระยะยาวให้กับผู้นำ

การเดินทางของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในการเป็นผู้นำนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความทุ่มเท กล้าที่จะทำในสิ่งที่ท้าทาย ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของทีมงานด้วย ดังนั้นในเชิงปฏิบัติ ผู้นำต้องมีการสร้างแผนการเรียนรู้ส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับเป้าหมายและความสนใจ รวมถึงการมีระบบพี่เลี้ยง โค้ช หรือเพื่อนที่สามารถให้คำแนะนำและสนับสนุนการทำงานร่วม ก็จะส่งผลให้ผู้นำสามารถนำทีมงานให้ไปข้างหน้าได้อย่างสม่ำเสมอพร้อมกับเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างเติบโตและยั่งยืน

ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันหรือที่เรียกว่ายุคดิจิทัลนี้ การหาเวลาในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของผู้นำนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก ผู้นำจึงต้องก้าวข้ามตารางงานอันวุ่นวายของตนเองให้ได้ เพื่อหาแรงจูงใจในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดวัฒนกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในการเป็นผู้นำ (Continuous learning leadership) และส่งต่อไปยังบุคคลอื่น ๆ ในทีมงานและองค์กรต่อไป