สถาพร ศรีสัจจัง

และแล้วเหตุการณ์ทางการเมืองที่ก่อเกิดการบาดเจ็บล้มตายอีกครั้งหนึ่งของสังคมไทยที่เรียกกันต่อมาว่าเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ “35” ก็ผ่านไป  ผ่านไปพร้อมกับการเปลี่ยน “ชุด” ของชนชั้นผู้กุมอำนาจรัฐ หรือ “ชนชั้นปกครอง” (หรือที่เรียกกันว่า “รัฐบาล”) อีกครั้งหนึ่ง

จากปีพ.ศ.2535-2544 นับเป็นช่วงของ “รัฐบาลผสม” โดยตลอด เพราะในการเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่เคยมีพรรคการเมืองใดได้รับเลือกเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯเลย การเมืองไทยจึงอยู่ในลักษณะ “อำนาจรัฐผลัดกันชม” มาโดยตลอด 

เริ่มต้นจากรัฐบาลคั่นเวลาของท่านอานันท์  ปันยารชุน(อีกครั้ง)ที่ขึ้นมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและจัดเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ในช่วงเดือนกันยายน 2535  ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงมากที่สุดคือ 79 เสียง จึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายชวน หลีกภัย “ลูกแม่ค้าขายเคยจากเมืองตรัง” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี(สมัยที่1) กระทั่งเกิดปัญหา “วิกฤติ ส.ป.ก.4-01” ที่ สุเทพ  เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีเกษตรฯ(ยุคนั้น)ถูกกล่าวหาว่า “เอาที่ดินของรัฐไปแจกคนรวย”

จนฝ่ายค้านถือเป็นเหตุเอาไปเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล และครั้งนั้นพรรคร่วมคือพรรคพลังธรรมภายใต้การนำของ พลตรีจำลอง  ศรีเมือง งดออกเสียงและลาออกจากการร่วมรัฐบาล นายชวนฯจึงยุบสภาฯหลังจากเหตุการณ์นั้น

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่เกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2538 พรรคชาติไทยของนายบรรหาร  ศิลปอาชา "สิงห์สุพรรณฯ"ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล นายบรรหาร  ศิลปอาชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่มาได้ปีกว่าๆก็ต้องยุบสภาฯในเดือนกันยายน 2539 เพราะปัญหาการขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯของตัวนายบรรหารฯเอง

การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2539  พรรคความหวังใหม่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล อดีตผบ.ทบ.ฉายา “ขงเบ้งแห่งกองทัพไทย” คือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเกิดวิกฤติ “ฟองสบู่แตก” รัฐบาลพลเอกชวลิต ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท(ฟังว่ามีนักการเมือง “ดาวรุ่งพุ่งแรง” ยามนั้นคนหนึ่งรวยเละเพราะรู้ข้อมูลล่วงหน้า!!) เกิดวิกฤติสถาบันการเงินในประเทศล้มเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไทยต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแก้ปัญหาถึง 17,000 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลพลเอกชวลิต จึงต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540

มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เสธ. สนั่น ขจรประศาสน์ ผู้มากบารมีจากพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น สามารถดึงเสียงจากพรรคประชากรไทย(ฝ่ายตรงข้าม)มาได้ถึง 12 เสียง ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ นายชวน  หลีกภัย หัวหน้าพรรคได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนานกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

เหตุการณ์การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ที่ “เสธ.หนั่น” สามารถดึงเสียงจากฝ่ายค้านมาได้ 12 เสียงนี้เองคือที่มาของคำ “กลุ่มงูเห่า” และใช้คำว่า “งูเห่า” ที่หมายถึง “ผู้แปรพักตร์” จากพรรคการเมืองตัวเองไปร่วมมือกับอีกพรรคหนึ่งในสถานการณ์ทางการเมืองที่พรรคอีกฝ่ายต้องการเสียงสนับสนุนในรัฐสภาเพิ่ม กันมาโดยตลอดจนปัจจุบัน

วัฒนธรรม “งูเห่า” นี้ คงต้องถือเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครอีกประการหนึ่งของวงการการเมืองไทย!

รัฐบาล “ยุคชวน 2” อยู่ได้จนครบวาระ และมีการเลือกตั้งครั้งใหม่สืบต่อมาในวันที่ 6 มกราคม 2544

เที่ยวนี้เองที่ “เสี่ยแม้ว” จากสันกำแพง เมืองเจียงใหม่ เจ้าของฉายา “ตาดูดาว เท้าติดดิน” (และอีกหลายฉายา)นาม “ทักษิณ  ชินวัตร” ได้ผงาดขึ้นสู่คคนานต์แห่งฟ้าการเมืองไทยอย่างผงาดเต็มรูป!

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค “ไทยรักไทย” ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่(ในช่วงยามนั้น)เพื่อเข้าร่วมการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม 2544 ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างงดงามในฐานะ “พรรคที่มีนโยบายชัดเจนเป็นรูปธรรมและทันสมัย” และเป็นนโยบายแบบ “ประชาธิปไตยที่กินได้” โดยได้เสียงเกือบกึ่งหนึ่งของสภาฯ

เมื่อขึ้นครองอำนาจ ทักษิณ เดินหน้าปฏิบัตินโยบายประชานิยมที่ประกาศไว้แบบ “เข้าตาประชาชน” ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่

ทีมงาน “กลุ่มหัวก้าวหน้า” ในพรรค (ที่ออกจากป่ามาร่วม “พัฒนาชาติไทย” เช่น “พี่อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย/ “หมอเลี้ยบ” และ “หมอมิ้ง” เป็นต้น)ที่ปรับจากต้นร่างของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มานำเสนอ ฯลฯ

ในห้วงเวลา 4 ปีของการเป็นรัฐบาล(ฟังว่าเป็นรัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งแล้วอยู่จนครบวาระ)มีสื่อมวลชนและนักวิจารณ์การเมืองจำนวนมาก วิพากษ์ว่า ทักษิณ ชินวัตร ใช้รูปแบบของ “ซีอีโอ.” บริษัท(ธุรกิจ)มาบริหารพรรคของตัวเองและบริหารประเทศ ด้านเศรษฐกิจนั้นเกิดคำ “ทักษิโณมิกส์” หรือ “ระบบเศรษฐกิจแบบทักษิณ” ขึ้นจนเป็นรู้จักกันอย่างแพร่หลาย 

ฟังว่าในห้วง 4 ปี ของการครองอำนาจรัฐ โครงการประชานิยมหลายโครงการของพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร นั้น “เข้าตา” และ “เข้าถึงใจ” ของประชาชนไม่น้อย โดยเฉพาะราษฎรในเขตชนบททางภาคเหนือ และ ภาคอีสาน (ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนที่นั่งของผู้แทนฯในสภาฯมากกว่าภาคอื่น)ที่ดูเหมือนจะ “ฝังความรู้สึก” จนกลายเป็น “ความเชื่อ” ต่อยี่ห้อ “ทักษิณ ชินวัตร” ยิ่งนัก และ ดูเหมือน ทักษิณ ชินวัตร เองก็จะเชื่อว่าตัวเองก็เป็นเช่นนั้นจริง!

ในท่ามกลางภาพลักษณ์สวยหรูแห่งความนิยมชมชอบของผู้คนบางด้าน ภาพปรากฏอีกด้านที่แสดงถึงความน่ากลัวของระบบ “เผด็จการรัฐสภา” (ที่เป็นอำนาจนิยมรูปแบบหนึ่ง!)ของ “ระบบทักษิณ” ก็ค่อยๆสำแดงตัวให้เห็นมากขึ้นเช่นกัน…

ที่โดดเด่นเป็นรูปธรรมและคนไทยบางส่วนยังจำกันได้อยู่(แม้ใครจะบอกนักบอกหนาว่า “คนไทยลืมเร็ว” ก็ตาม!) ก็คือนโยบายการปราบปรามยาเสพติด ที่ฟังว่า เพื่อสนองนโยบายดังกล่าวนี้ เจ้าหน้าที่บ้านเมือง(โดยเฉพาะตำรวจอีกแล้ว!)ต้อง “วิสามัญฆาตกรรม” ประชาชน(แบบศาลเตี้ย)ไปไม่น้อยกว่า 2,000ราย!

และโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกเล่า ภาพการล้อมยิงที่มัสยิดกรือเซะเมืองปัตตานี และ “ความตายที่ตากใบ” อันน่าอเน็จอนาถ ตามแผนปราบ “โจรกระจอก” ก็ยังคงตราตรึงอยู่ในดวงตาและหัวใจของชาวจังหวัดชายแดนและคนทั้งประเทศอย่างมิรู้คลายละกระมัง?

“และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ…!” (วรรคหนึ่งจากบทกวีเกี่ยวกับเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ”ของ “เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์” กวีรัตนโกสินทร์)