รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเรียกว่า LGBTQIA+ ประกอบด้วย Lesbian (เลสเบี้ยน) คือหญิงชอบหญิง Gay (เกย์) คือชายชอบชาย Bisexual คือคนที่ชอบได้ทั้งชายและหญิง Trangender คือหญิงหรือชายข้ามเพศที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว Queer คือคนที่ยังไม่แน่ใจในเพศ ไม่มีเพศตามที่สังคมกำหนด Intersex คือคนที่เกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ และยังไม่สามารถระบุเพศของตนเอง และ Asexual คือคนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ
เมื่อสังคมปัจจุบันประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้ทุกคนต้องตระหนัก เรียนรู้ และยอมรับว่า “เพศ” นั้นมีความหลากหลายมากกว่าแค่ที่สังคมกำหนดเฉพาะเพศหญิงหรือเพศชายเท่านั้น และที่สำคัญจะต้องไม่มีคนใด ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเพศสภาพ (Gender) ที่แตกต่างกัน เนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) หรือการรับรู้ของบุคคลต่อตนเองว่าเป็นเพศอะไรและต้องการให้เรียกว่าอย่างไร ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดด้วยเพศกำเนิด (Sex) เสมอไป
จากจำนวนประชากร LGBTQIA+ ทั่วโลกที่เปิดเผยแล้วมีอยู่ 483 ล้านคน หรือเท่ากับ 6.53% ของประชากรโลก โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย 288 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีประชากรกลุ่มคนหลากหลายทางเพศราว 4 ล้านคน ครองอันดับที่ 4 ของโลก รองจากชาติจีน 85 ล้านคน อินเดีย 80 ล้านคน และญี่ปุ่น 8 ล้านคน (อ่านเพิ่มเติมhttps://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid...)
ทุกวันนี้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศทั่วโลกได้รับการยอมรับมากขึ้นกว่าในอดีต โดยกว่า 20 ปีมานี้มีประเทศที่ผ่านร่างกฎหมายให้คู่รักทุกเพศสามารถแต่งงานกันได้อย่างเสมอภาคแล้วรวม 30 ประเทศ โดยประเทศล่าสุดที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อปีที่ผ่านมา คือ สวิตเซอร์แลนด์ ส่วนในเอเชียมีไต้หวันเป็นประเทศแรกที่คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี 2562 และเนเธอร์แลนด์เป็นชาติแรกของโลกที่ผ่านร่างกฎหมายให้คู่สมรสเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ในปี 2543 และปีถัดมามีคู่รักเพศเดียวกัน 4 คู่ กลายเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มแรกของโลกที่แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (อ่านเพิ่มเติม https://thevisual.thaipbs.or.th/gender-on-screen/same-sex-marrige/)
เมื่อหันมาโฟกัสที่ประเทศไทยก็ต้องบอกว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ให้การยอมรับในความหลากหลายทางเพศสูงมากจนมีคำกล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับเพศที่สาม” ดังภาพสะท้อนที่เห็นได้จากพลังสังคมที่เรียกร้องให้มี การสมรสเท่าเทียม ให้สิทธิต่อคู่ชีวิตเพศเดียวกัน และให้รับรองสิทธิการก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียมในทุกเพศสภาวะ แม้ว่าการผ่านกฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการสมรสของเพศเดียวกันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่แนวโน้มพฤติกรรมของ LGBTQIA+ ในการอยู่ร่วมกันเป็น “ครอบครัว” กลับมีมากขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งมีการสร้างครอบครัวกับคนต่างชาติและร่วมกันตั้งถิ่นฐานในไทย
อย่างไรก็ตาม “LGBTQIA+ Rights Movement” หรือความเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศยังคงเป็น 1 ในประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ฮิตติดเทรนด์ที่จะยังคงอยู่อีกนาน นอกเหนือไปจากประเด็นความเคลื่อนไหวอื่น เช่น การคุกคามทางเพศ (Me Too : Sexual Harassment Movement) เฟมินิสต์หรือการเรียกร้องสิทธิสตรี (Women’s Rights Movement) การแบ่งขั้วทางการเมืองซ้ายเสรีนิยม-ขวาอนุรักษนิยม (Right Wing Movement) การต่อสู้สิทธิและความเท่าเทียมของคนผิวสี (Black Lives Matter) ภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change : The ‘Defend Science’ Movement) คนมุสลิมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย (Anti-Islamophobia Movement) (อ่านเพิ่มเติม https://thematter.co/social/7-global-social-movement/40196)
สาเหตุที่การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะยังมีต่อไปอีกนาน เพราะสังคมส่วนใหญ่ยังยึดติดกับอคติและบรรทัดฐานเดิมที่ฝังรากมายาวนาน ดังจะเห็นว่ามีข่าวกราดยิงแหล่งท่องเที่ยวที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศชอบไป มีการใช้ความรุนแรงกับบุคคลที่มีรสนิยมหรือเพศวิถี (Sexual Orientation) ต่างจากกรอบคิดเก่าที่ครอบงำสังคมอยู่ ทำให้ระดับการต่อสู้เรียกร้องมีทั้งระดับความคิดว่าการรักเพศเดียวกันไม่ใช่โรคและไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม การจัดเดินพาเหรดตามเมืองใหญ่ (Gay Pride/Pride Month) และการรณรงค์ที่เป็นรูปธรรม เช่น รณรงค์การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน และเรียกร้องสิทธิการแต่งงาน ซึ่งการเรียกร้องให้ยอมรับในความหลากหลายทางเพศนั้นเกิดขึ้นมาเกินครึ่งศตวรรษแล้ว แต่การเรียกร้องทางกฎหมายเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้
ความหลากหลายทางเพศเกี่ยวข้องกับระบบความคิด มิติทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมาย ในการเปิดใจยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้มีโอกาสแสดงศักยภาพและตัวตนนั้น ภาครัฐต้องเข้ามาบทบาทและส่งเสริมให้มีนโยบายการเปิดรับที่ชัดเจน โดยไม่เบียดหรือผลักกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้ตกอยู่ในกลุ่มคนชายขอบ อีกต่อไป ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาต้องเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังค่านิยมใหม่ ความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ และระบบความรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะกลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็คือส่วนหนึ่งของสังคมที่มีความสำคัญต่อประเทศเช่นกัน