รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

โฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 16.50 น. ของวันที่ 22 พ.ค. 2566 นับว่าเป็นฉากการเมืองสำคัญที่สุดฉากหนึ่งของประเทศ เพราะการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ของพรรคการเมืองเป็นของใหม่ในการเดินเครื่องจัดตั้งรัฐบาลผสมในประเทศไทยที่ถือว่า ‘พรรคก้าวไกล’ สอบผ่านยกแรกในฐานะ ‘Change Maker’ ที่สามารถสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเมืองไทยช่วงของการเปลี่ยนผ่านอำนาจเก่าสู่อำนาจใหม่

การเลือกวันลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ร่วมกัน ในวันดังกล่าว ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 9 ปี ของการทำรัฐประหารโดย คสช. ยังมีนัยตอกย้ำว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองบ้านเมืองจากทหารสู่พลเรือนเป็นจริงและมีลำดับขั้นตอนอันเป็นสากลเฉกเช่นเดียวกันกับนานาประเทศที่มิอาจจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว อาทิ สหราชอาณาจักร เยอรมนี นิวซีแลนด์ เคนยา มาเลเซีย เป็นต้น

จากจำนวนพรรคการเมืองและ ส.ส. ที่เข้าร่วมฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ประกอบด้วย ส.ส. จากพรรคก้าวไกล 152 เสียง  พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง รวมทั้งหมด 8 พรรค และ ส.ส. 313 เสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 62.60 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด ถือว่าเป็นตัวเลขที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพมากพอ

ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวย้ำเพียงไม่กี่วันก่อนที่จะถึงวันลงนาม MOU ว่า “เชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยจะเกิดจริงแน่นอนและเป็นไปด้วยความราบรื่น” นอกจากนี้ในวันลงนาม MOU จริงก็กล่าวอีกว่า “จุดประสงค์ในการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นการรวบรวมวาระร่วมที่เราเห็นตรงกัน และพร้อมจะผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาลและรัฐสภา ขณะเดียวกันเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ นี่เป็นจุดประสงค์ เมื่อรวมวาระ ความตั้งใจ การผลักดัน ความรับผิดชอบที่เสนอประชาชนคนไทยทั้งประเทศ”

จากคำพูดของหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถ้ามองอย่างผิวเผินก็เป็นการบอกว่าที่ต้องมีการร่วมลงนาม MOU ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ก็เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล แสดงแนวทางการทำงานร่วมกันและแชร์วาระร่วมของทุกพรรค ซึ่งพรรคร่วมมีหมุดหมายสำคัญที่การแก้ไขวิกฤติชาติทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

แต่หากมองให้ลึกลงไป จะเห็นว่าการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ที่เกิดขึ้นระหว่างพรรคการเมืองข้างต้น ก็คือ ‘เกมการเมือง’ เข้าข่ายสัจจะไม่มีในหมู่โจร การลงนาม MOU ฉบับการเมืองไทยอีกด้านหนึ่งจึงกลายเป็นเครื่องมือป้องกันการบิดพลิ้วของนักการเมืองที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมการเมือง และเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางการเมืองที่แปรเปลี่ยนได้ทุกวินาที หากการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลและการแต่งตั้งรัฐบาลยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ

 เมื่อฉาก “ละครการเมืองไทย” ยังมีอีกหลายฉากกว่าจะถึงตอนจบ การนำ MOU มาใช้ และมีการออกแถลงการณ์ร่วมกันอย่างเป็นทางการให้ประชาชนและสื่อทุกแขนงรับทราบ ก็จะช่วยป้องปรามการหักหลังกันทางการเมืองที่เกิดขึ้นง่ายและสำเร็จไม่ยากจากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาหลายครั้ง กลายเป็นการกระทำที่หวังผลสำเร็จยากมากขึ้นในวันนี้ ด้วยมีประจักษ์พยานรู้เห็น การลงนาม MOU อย่างเปิดเผยเป็นจำนวนมาก และ MOU จริง ๆ นั้น เป็นข้อตกลงที่ผูกพันยกเลิกไม่ได้ (จริงหรือ???)

ดังจะเห็นได้ว่า ก่อนวันลงนาม MOU มีข่าวบั่นทอนความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลหลายข่าว เช่น การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี 8 พรรค เรียบร้อยแล้ว อดีตนายกรัฐมนตรี นายใหญ่ของพรรคเพื่อไทย นัดรับประทานอาหารกับคีย์แมนขั้วรัฐบาลเดิม ที่บินไปตกลงกันในต่างประเทศ และการวางเกมยุบพรรคตัวเองของพรรคพลังประชารัฐเพื่อให้ ส.ส. หันซบพรรคเพื่อไทย …และ อีกหลาย ๆ เกมที่ดูสุดจะยอกย้อน

หากทุกอย่างเดินไปตามหมากเกมการเมืองที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลดำเนินการแล้ว ในอีกด้านหนึ่งของการลงนาม MOU ก็คือเครื่องมือที่ประชาชนสามารถนำมาใช้ตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐบาลชุดที่ 63 หรือตัวชี้วัดความสำเร็จการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลเช่นกันว่า สามารถลงมือทำตามในสิ่งที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรได้มากน้อยเพียงใด เพราะ MOU นี้ก็คือ “สัญญาที่รัฐบาลให้ไว้กับประชาชน”

หากภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้คณะรัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้นจริง และเมื่อเวลาผ่านไปรัฐบาลสามารถดำเนินการตาม MOU ได้จริง และที่สำคัญคุณภาพนักการเมือง ‘อัปเวล’ ขึ้น ย่อมสะท้อนว่าการเมืองไทยที่ผ่านการเดินทางมาอย่างยาวนานกว่า 90 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยได้ยกระดับการพัฒนาและเติบโตขึ้นอีกหลายขั้นนัก

ท่านผู้อ่านคิดอย่างไร? กับ “MOU” ครับ