สถาพร ศรีสัจจัง
ลังเหตุการณ์ “6 ตุลาฯหฤโหด” ในปี พศ.2519 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลนี้ดำเนินนโยบาย “ขวาพิฆาตซ้าย” อย่างดุเดือดจริงจัง มีการกดดันติดตามและจับกุมนักกิจกรรมสังคมทั้งที่้เป็นนักเรียนนักศึกษาและประชาชนอย่างกว้าง
ป่าเถื่อนจนถึงขนาดให้กองกำลังตำรวจออกเก็บ กวาดล้าง หนังสือที่เชื่อว่าเป็นการ “ปลุกระดมและโฆษณาความคิดอันเป็นภัยต่อสังคมไทย” อย่างกว้างขวาง มีการใช้รถทหารบรรทุกหนังสือดังกล่าว จำนวนนับเป็นแสนๆไป “เผา” กลางท้องสนามหลวง ทำนอง “เชือดคอไก่ให้ลิงดู” เพื่อให้ดูว่าประกาศดังกล่าวศักดิ์สิทธิ์หรืออะไรทำนองนั้น
มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง “รายชื่อหนังสือที่ห้ามบุคคลมีไว้ในครอบครอง” รวม 2 ฉบับ ฉบับแรกมีจำนวนรวม 100 รายชื่อ ฉบับที่ 2 รวมกว่า 200 รายชื่อ ลงนามโดย นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น
นับเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความป่าเถื่อนไร้อารยะ ซึ่งเคยมีเพียง “จิ๋นซีฮ่องเต้” เผด็จยุคแรกๆในยุค “รวมชาติจีน”เท่านั้นที่เคยปฏิบัติ!
นี่น่าจะนับเป็น “ปฐมเหตุ” หรือเหตุแรกๆที่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคมอย่างรุนแรงขึ้นในสังคมไทย นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบบทางการเมืองการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475
สถานการณ์บ้านเมืองดังกล่าว ส่งผลทำให้มีนักเรียนนักศึกษาประชาชน “หนีเข้าป่า” ไปร่วมขบวนกับ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” เป็นจำนวนมาก ก่อปัญหาความแตกแยกในชาติอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น
การรบกันด้วย “กองกำลังจัดตั้งติดอาวุธ” (ที่เรียกว่า “ทหาร”) ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นไปอย่างดุเดือดรุนแรงในขอบเขตทั่วประเทศ ที่มีเขตการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “พรรคปฏิวัติ”ดังกล่าว
ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 คณะทหารหนุ่ม(ยังเติร์ก)ที่มีส่วนร่วมในการรัฐประหารในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ (2519) ไม่พอใจสถานการณ์ที่เกิดจากการปกครองของรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดังกล่าว รวมตัวกันจะทำการรัฐประหาร แต่กลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่(หัวหน้ารสช.) และ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผบ.ทบ.ขณะนั้น รู้ข่าว จึงชิงประกาศการรัฐประหารทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์เสียก่อน
ฟังว่า ครั้งนั้น พลตรีเปรม ติณสูลานนท์(ยศในขณะนั้น)นายทหารม้าจากลพบุรีที่เริ่มเป็น “ดาวรุ่งพุ่งแรง” เป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่ช่วยประสานให้เกิดการเจรจากันขึ้นระหว่าง 2 ฝ่าย วงเจรจาได้ข้อสรุปโดยยกให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้รับการเสนอชื่อเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศสืบต่อจาก “รัฐบาลหอย”ของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร
“นายพลตาหวาน” เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เจ้าของตำนาน “แกงเขียวหวานใส่บรั่นดี” จึงได้ขึ้นแท่นบริหารประเทศตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. 2520 ในฐานะตัวแทนของคณะรัฐประหารในครั้งนั้น
พลตรีเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับการอวยรางวัลแห่งความดีความชอบในครั้งนี้ในตำแหน่ง “รมช.มหาดไทย”ของรัฐบาลชุดนี้ และได้เลื่อนชั้นเป็นพลโทในปีถัดมา
นี่นับเป็น “ปฐมฐาน” ที่สำคัญของการเข้าสู่วงการการเมืองของขุนทหารศิษย์เก่าคนสำคัญจากโรงเรียนมหาวชิราวุธเมืองสงขลาท่านนี้ ผู้ที่ภายหลังได้กลายเป็นบุคคลต้นแบบที่ใครก็เรียกกันว่า “ป๋าแห่งชาติ” และ “ปูชนียบุคคล” ในฐานะ “รัฐบุรุษ” และ “ประธานองค์มนตรี” ผู้ลือชา!
23 กรกฎาคม พ.ศ.2523 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีลาออก(ไม่มีการยุบสภาฯ)เพราะรัฐบาลแพ้โหวตกฎหมายบางฉบับ ต่อมารัฐสภาได้ลงมติเลือกพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นนายกฯคนที่ 16 ของไทย และถือเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกของพลเอกเปรม
หลังขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรมได้ประกาศนโยบายสำคัญยิ่งนโยบายหนึ่งในการแก้ปัญหาความแตกแยกของชนในขาติขณะนั้น นั่นคือนโบาย “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งก็คือที่มาของ “นโยบาย 66/23” อันลือลั่นนั่นเอง!
โดยนโยบาย 66/23 ที่ออกมาในปี 2523 ประกอบกับการเกิด “ภาวะวิกฤติสังคมนิยมโลก” จนทำให้มีความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับ “แนวทางการปฏิวัติ” อย่างรุนแรงขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้บรรดา “นักปฏิวัติ” ของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวนักเรียนนักศึกษาที่ “หนีตาย” จากเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ”(2519) เข้าไปร่วมรบ “ออกตัว” มาร่วมเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” กับรัฐบาลยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงแรกๆเป็นจำนวนไม่น้อย และค่อยๆทยอยออกตามกันมาแบบที่เรียกได้ว่า “เกือบจะทั้งหมด” ในเวลาต่อมา (เมื่อทราบและเห็นว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติต่อผู้ที่ออกมามอบตัวตามที่ประกาศไว้จริง
จะลองขอเอ่ยชื่อ “คนดัง” ที่เคยเป็น “คนออกจากป่า” เพื่อมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ในครั้งนั้นไว้พอเป็น “ตัวอย่าง” ให้คนรุ่นยุค “ก้าวไกล” (ปี 2566)ได้พอเห็นภาพกันไว้บ้างก็น่าจะดี (เขียนจากความจำได้และที่พอจะนึกชื่อออกในตอนนี้/ไม่ได้เรียงลำดับตามเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น) ได้แก่ชื่อเหล่านี้ :
@ ศ.ธียุทธ บุญมี/ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล/จิรนันท์ พิตรปรีชา/ชำนิ ศักดิเศรษฐ์/ภูมิธรรม เวชชชัย/จาตุรนต์ ฉายแสง/นายแพทย์พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช/ “ไอ้ก้านยาว” ดร.ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์/ดร.อดิศร เพียงเกษ/วิสา คัญทัพ/วัฒน์ วรรลยางกูร/นายแพทย์เหวง โตจิราการ/เทิดภูมิ ใจดี/ประยงค์ มูลสาร/อุดร ทองน้อย/สุรชัย จันทิมาธร/มงคล อุทก/วีระศักดิ์ สุนทรศรี/ทองกราน ทานา(4 สหายแห่งวงดนตรีเพื่อชีวิต “คาราวาน”)/เสถียร จันทิมาธร/อนุช อาภาภิรมย์/พิรุณ ฉัตรวนิชกุล/คำสิงห์ ศรีนอก/ดร.ชลธิรา กลัดอยู่/ธัญญา ชุญชฎาธาร/มาลีรัตน์ แก้วก่า/ดร.บุญส่ง ชเลธร/พระสุเทพ ลักขณาวิเชียร/วินัย บุญช่วย(ศิลา โคมฉาย)/ศ.ดร.นายแพทย์วีรศักดิ์ จงสู่วิวัฒ์วงศ์/นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ/ชาญชัย สงวนวงศ์/ผดุงศักดิ์ พื้นแสน/ศ.ดร.ธเนศน์ อาภรณ์สุวรรณ/ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ/แสง ธรรมดา/ทวีศักดิ์ หาราชัย/ปรีดา ข้าวบ่อ/เสถียร เศรษฐสิทธิ์/เกรียงกมล เลาหไพโรจน์/สมาน เลือดวงษ์หัด/สมคิด สิงสง/ประเสริฐ จันดำ/ตี้ กรรมาชน/จิ้น กรรมาชน และ…ฯลฯ
เล่าเรื่อง เล่าเหตุการณ์ รวมถึงออกชื่อคนสำคัญๆของสังคมไทยไปแล้วก็ไม่น้อย พอจะเห็นกันขึ้นมาบ้างแล้วยังว่า “การเมืองไทย” นั้น มี “อนิจลักษณ์” ในแง่ไหนและอย่างไรบ้าง?!