สถาพร ศรีสัจจัง
กฎเรื่อง “พื้นที่และเวลา” เป็นหนึ่งในกฎพื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญยิ่ง สำหรับอธิบายเจาะลึกเพื่อการรู้ชัด “เชิงวิทยาศาสตร์” ถึงเรื่องราว เกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์ และ การเคลื่อนเปลี่ยนของสิ่ง”
นอกเหนือไปจาก “กฎ” สำคัญๆอื่นอีก 3-4 ประการ อันได้แก่ “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนสัมพันธ์กัน”/ “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนขัดแย้งกัน” “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่ภายใต้กฎแห่งความเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่”/ และ “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเคลื่อนเปลี่ยนจากการสั่งสมเชิงปริมาณไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ”
ภายหลังมีนักวิเคราะห์สังคมซึ่งเป็นนักปฏิวัติคนสำคัญที่สุดของประเทศจีน(เพราะมีจีนเดียวจึงขอเรียกว่า “ประเทศจีน”) และของโลกคนหนึ่งชื่อ (ประธาน)เหมา เจ๋อ ตุง ผู้ได้นำพาพลพรรคคอมมิวนิสต์จีนฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆนานาจนกระทั่งสามารถปฏิวัติปลดปล่อยประเทศจีน(เก่า)สำเร็จ กระทั่งผู้นำคนสำคัญๆในชั้นหลังได้สืบสาน และ “ต่อยอด” เจตนารมณ์การปฏิวัติดังกล่าว จนสามารถนำพาประเทศชาติและประชาชนจีนก้าวสู่ความสำเร็จอย่างที่ประจักษ์ตาประจักษ์ใจกันอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันที่เป็น “จีน” ยุคภายใต้การนำของผู้นำที่ชาญฉลาดนาม สี เฉี้ยน ผิง ผู้กำลังจะสร้างปรากฏการณ์ให้บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตกภายใต้การนำของ “พี่เอื้อย” อเมริกา ที่ครองอำนาจทำตัวเป็นหัวโจก “ผู้บัญชาการโลก” มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้ง 2 โน่นแล้ว ให้แทบกระอักเลือดอยู่แบบเห็นๆ
“ประธานเหมา” คนนี้เอง ที่มาช่วย “เติมเต็ม” ทฤษฎีการวิเคราะห์สถานการณ์ (ใช้ได้ตั้งแต่กับเรื่องระดับหน่วยย่อยสุดจนถึงหน่วยระดับโลก) โดยได้เติมสิ่งที่เรียกว่า “4 คำของประธานเหมา” (ใครที่อยากรู้ว่า 4คำที่ว่าในภาษาจีนเขาว่าอย่างไรนั้นก็ลองไปค้นคว้าสืบเสาะเอาเองละนะ) ที่แปลความเป็นไทยๆได้ว่า “แสวงหาความจริง(สัจจะ)จากข้อเท็จจริง”!
สรุปให้เห็นความชัดๆก็คือ การจะหาความจริง(สัจจะ)ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นั้น จะต้องมี “ข้อมูล”(คือข้อเท็จและข้อจริง)ในเรื่องนั้นๆอย่างเพียงพอ(คือมีเป็นด้านหลัก ไม่ใช่ต้องครบร้อยเปอร์เซ็นต์)
เพราะสังคมมนุษย์ถ้าพิจารณาในแง่ที่เป็น “วิทยาศาสตร์สังคม” มีความเป็นมา ดำรงอยู่ และเคลื่อนเปลี่ยนไป “ตามกฎเกณ์ดังได้กล่าวมาแต่เบื้องต้น และสามารถวิเคราะห์ให้ประจักษ์ความจริงได้ก็ด้วยหลัก”แสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง ดังที่(ประธาน)เหมา เจ๋อ ตุง ได้ “ชี้นำ” ไว้ตั้งแต่ปีมะโว้โน่นแล้วนั่นแหละ!
ที่ให้คำสรุุปเป็น “คีย์เวิร์ด” คล้ายๆ กับ “วาทกรรม” ของ “ลุงตู่” แห่งพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ว่า “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” นั้น น่าจะเป็นความบังเอิญมากกว่า ไม่ใช่เจตนาจะลอกเลียนหรือจเชียร์ลุงตู่หรือพรรคอะไรนั่นแต่อย่างใด ขอให้เข้าใจตามนี้
เพราะถ้าคิดเช่นนั้น ก็คงต้อง “อ้างอิง” (แบบนักวิชาการ?) ว่าก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า “ลุงตู่” หรือ “กุนซือ” ของพรรครวมไทยสร้างชาติที่คิดวาทกรรมออกมาให้ลุงตู่ใช้โฆษณาหาเสียงอยู่ปาวๆทุกเวที (และทุกป้ายหาเสียงบนทุกสายถนนของประเทศ) นั้น เป็นเหตุบังเอิญคิดพ้องกัน หรือไป “ปล้น” (เพราะไม่อ้างอิงที่มา)ถ้อยความวรรคดังกล่าวจากวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของโลกเรื่องหนึ่งมาหรือเปล่า?
วรรณกรรมเอกของโลกเรื่องนั้นชื่อ “ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน” ( EL INGENEOSO DON QUIXOTE DE LA MANCHA ) ของนักเขียนนามอุโฆษชาวสเปนที่ชื่อ มิเกล เด เซย์ บันเตส ซาเบดร้า ( Miguel de Cervantes Saavedra)
เพราะในบทที่ห้า : “ว่าด้วยเรื่องเคราะห์กรรมที่อัศวินของเรายังต้องเผชิญต่อไป” ตรงบรรทัดที่ 11 จนถึงบรรทัดที่ 13 ในหน้า 74 ของหนังสือฉบับแปลสำนวน “สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ บรรณาธิการต้นฉบับแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร/มกุฏ อรฤดี)มีข้อความที่ “ดอน กิโฆเต้ฯ” ตัวเอกของเรื่องได้แสดง “ปณิธาน” แห่งชีวิตของตนไว้ตอนหนึ่งว่า :
“…แลวีรกรรมที่ข้าได้กระทำแล้ว กำลังกระทำอยู่ แลจักกระทำต่อไปภายหน้า อันเป็นวีรกรรม
ลือลั่นเลอเลิศเท่าที่เคยปรากฏ แลกำลังประจักษ์แก่ตามนุษย์ทุกผู้ อีกทั้งจักมิมีผู้ใดได้พบเห็นวีรกรรมอันเสมอเหมือนของข้าสืบต่อไปในภายหน้า…” (เน้นตัวเอนและขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)
แต่จะเป็นไรไป เพราะฟังมาว่า แม้แต่อดีตประธานาธิบดีของพระเทศจักรพรรดินิยมที่ยิ่งใหญ่ประจำยุคนี้คือสหรัฐอเมริกา อย่างนายจอห์น เอฟ. เคนเนดี ผู้ลือนาม ก็เคย “ปล้น” คำของคนอื่น(ไม่บอกหรืออ้างอิงถึงที่มาของวาทกรรมนั้น)มาปราศรัยเพื่อ “หาเสียง” (ในวันปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ!) เและ “สร้างภาพ” ทางปัญญาให้ตัวเองช่นกัน !
ก็คือประโยคที่หลายใครมักชอบยกมาอ้าง แล้วบอกว่าเป็นวาทะของ “ประธานาธิบดีเคนเนดี้” (ผู้ถูกฆาตกรรมในภายหลัง)ที่ว่า :
“จงอย่าถามว่าประเทศชาติได้ให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามว่า ท่านได้ให้อะไรแก่ประเทศชาติของท่านบ้าง” นั่นเอง!
คนที่เป็น “คอวรรณกรรมโลก” ขนานแท้ โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่เป็น “Gibranist” ย่อมรู้ดีว่า ถ้อยคำนี้มาจากบางวรรคบางประโยคในบทกวีบางบทของ “คาลิล ยิบราน” ( Kahlil Gibran ) มหากวีร่วมสมัยผู้ยิ่งใหญของโลก (ชาวเลบานอนแต่อพยพไปอยูสหรัฐอเมริกาตามมารดาตอนโตแล้ว)
แม้อาจจะดูไม่ค่อยดีนักในแง่จริยธรรม (ยิ่งคนอาสาจะไปเป็นผู้นำประเทศด้วยแล้ว) แต่ก็หยวนๆละน่า ถือเสียว่าถ้อยคำเหล่านั้นไปตรงกันโดยบังเอิญก็แล้วกัน !
ถ้าจะดูเพื่อให้รู้ว่าเขาเป็นคนเช่นใดกันแน่ ก็น่าจะดู “ความเป็น” ของเขาแบบจริงๆที่ “เห็นๆกันอยู่”น่าจะดีกว่าว่าคนนั้นเป็นประเภท “ของจริง” หรือประเภท “สุกแดงดั่งแสงปัทมราช/ข้างในล้วนกิมิชาติเบียนบ่อน…”! แบบที่วรรณคดีไทยเรื่อง “กากีคำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ได้ชี้บอกไว้!
กลับมาเข้าเรื่องการพิจารณา “การเมืองไทย” ในแง่ของ “พื้นที่และเวลา” กันอีกที
ก็อย่างที่รู้ๆกันนั่นแหละ สิ่งที่น่าจะพอเรียกว่า “การเมืองไทยในเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่และเวลา” ได้ ก็น่าจะต้องเริ่มดูเริ่มนับมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย เพราะยุคนั้นต้องถือว่าพอจะมีหลักฐานให้เห็นในลักษณะ “ชุมชนนครรัฐ” ของคนกลุ่มชาติพันธุ์นี้แบบชัดเจนขึ้นบ้างแล้ว
ผ่านถึงยุคอยุธยา ก็มี “ข้อเท็จริง” หนักแน่นเป็นรูปธรรมมากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ยุคกรุงธนบุรีกับรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นอาจรวมเป็นยุคเดียวเสียก็ย่อมได้(เพราะยุคธนบุรีสั้นนิดเดียว และระบบการเมืองก็ไม่แตกต่างกับช่วงต้นรัตนโกสินทร์มากนัก)
กระทั่งเข้าสู่ช่วงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่จักรวรรดินิยมนักล่าอานิคมจากอัสดงคตประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษและ ฝรั่งเศส เริ่มเข้ามาใช้อำนาจ “เรือปืน” ข่มเหงรังแกชาติต่างๆในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มี “ประเทศสยาม” (ยามนั้น)รวมอยู่ด้วยแล้วนั่นแหละ
สิ่งที่เรียกว่า “การเมืองแบบรัฐชาติสมัยใหม่” จึงค่อยๆปรากฏรูปร่างขึ้น และยิ่งมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรง “ปฏิรูปการเมือง” ครั้งใหญ่ โดยการ “รวมศูนย์การปกครองเข้าสู่ส่วนกลาง” ในรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “ระบบมณฑลเทศาภิบาล” สืบเนื่องพัฒนามาจนถึงถึงยุคของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7
ไม่ต้องมีนิ้ว 3 นิ้วหรือกี่นิ้วหรอก ถ้าเป็น “คนสยาม” (หรือคนไทยในชั้นหลัง)ที่พอจะผ่านการศึกษาภาคบังคับมาบ้าง ย่อมพอจะรับรู้อยู่บ้างละว่า มีอะไรเกิดขึ้นใน “พื้นที่และเวลา” ของสยามประเทศเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475!ฯ