รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
การเลือกตั้ง ส.ส. 2566 “ทฤษฎี” กับ “สถานการณ์จริง” ... ในประเทศไทย ...
ณ วันนี้ กล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ประเทศไทยเลือกใช้ประชาธิปไตยแบบผ่านตัวแทนประชาชน (Representative democracy) ในการปกครองบ้านเมือง โดยมีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นกระบวนการสำคัญตามระบอบประชาธิปไตย และ ผลการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลต่อการกำหนดผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งคณะรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำนโยบายไปปฏิบัติและการบริหารงานของรัฐบาลในอนาคต นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ยังมีหน้าที่และอำนาจลงมติเกี่ยวกับกฎหมายและการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตประชาชน
การเลือกตั้ง ส.ส. ถือเป็นช่องทางสำคัญในการแสดงความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองและนโยบายรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศระยะยาว และหากมองเชิงการต่างประเทศ การเลือกตั้งถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ต่างชาติยินดีและเต็มใจที่จะคบหาด้วย เนื่องจากโดยหลักการและความเชื่อ ‘การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด’ (อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอังกฤษ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ผู้กล่าว)
ในอีกด้านหนึ่ง การเลือกตั้ง ส.ส. ยังเป็นเรื่องของการคืนอำนาจสูงสุดในการปกครองสู่มือประชาชน เพราะประชาชนเป็น ผู้ตัดสินใจเลือกตัวแทน แล้วผู้แทนนั้นเข้าไปทำหน้าที่บริหารแทนตน และระหว่างการบริหารงานของรัฐบาลอาจมีความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผู้คุมเกมอำนาจขณะนั้นก็สามารถ “ล้มเกม” หรือ “ปรับหน้ากระดาน” สร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างสันติ
ทั้งนี้ตามทรรศนะนักวิชาการไทยมองว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องเป็นระบอบที่ให้ทุกคนเท่าเทียมกันในอำนาจทางการเมืองภายใต้กฎหมาย และการจัดสรรผลประโยชน์ต้องเป็นอย่างเท่าเทียมกัน’
อย่างไรก็ดีภายใต้สถานการณ์จริงการเมืองไทยกลับพบว่าการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 คือเกมแห่งอำนาจของผู้มีอำนาจกำหนดและวางกติกาทางการเมือง กฎเกณฑ์ และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไล่เลียงตั้งแต่รัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นต้น ที่ล้วนส่งผลต่อสถานการณ์การเลือกตั้งและฉากทัศน์การเมืองไทยภาคต่อไปซึ่งส่อเค้า ‘วุ่นวายหนัก’ แน่นอน
ความอ่อนไหวสำคัญ ๆ หลายประการอันเป็นผลพวงจากการกำหนดและวางกติกา กฎเกณฑ์ และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีอยู่หลายประการจนนำไปสู่เกมการแก่งแย่งที่เอาเป็นเอาตาย แพ้ไม่ได้ ถอยไม่ได้ ทุกพรรคต่างหวังช่วงชิงจังหวะและโอกาสเพื่อครองกระแส “เสียงประชาชน” เอาไว้ให้ได้มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งใดจะดุเดือดมากไปกว่าการเลือกตั้ง 2566 หนนี้อีกแล้วนับจากปี 2544 เป็นต้นมา เช่น
การปรับเปลี่ยนพื้นที่หรือจำนวนเขตเลือกตั้งใหม่จาก 350 เขต เป็น 400 เขต ส่งผลต่อการลงพื้นที่หาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้ง และกำหนดให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ทำให้เกิดโอกาสคะแนนเสียงตกน้ำสูง การจัดตั้งรัฐบาลต้องใช้คะแนนเสียง 375 เสียงขึ้นไป ทำให้ ส.ว. กลายเป็นผู้ชี้ชะตาการจัดตั้งคณะรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เพราะยากมากที่ผลการเลือกตั้ง ส.ส. จะแลนด์สไลด์ ประเภทบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต่างเขต ต่างเบอร์ ก็เป็นตัวก่อปัญหาตอนเข้าคูหากาบัตรเพราะยากต่อการจดจำของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
นอกจากพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. ต้องเล่นเกมภายใต้กรอบกฎหมายและกฎกติกาที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรม ยังมีปัจจัยอื่นที่สร้างแรงกระเพื่อมหนักให้กับเกมต่อสู้การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะพ่ายแพ้ไม่ได้ ก็คือบริบทของพรรคการเมืองทั้งตามจริงและ ‘จัดฉาก’ เพื่อปั่นกระแส ซึ่งบางวาทกรรมก็จุดติด บางวาทกรรมก็วางกับดัก เช่น ‘มีลุง ไม่มีเรา’ ‘ขอทำต่อ’ ‘ทำไมทำแล้ว ต้องทำต่อ’ ‘แล้วทำไม 8 ปี ไม่ทำให้เสร็จสักที’ ‘…ขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน..พบกันเร็ว ๆ นี้ครับ ขออนุญาตนะครับ’
การเลือกตั้ง ส.ส. 2566 พรรคการเมืองต่างใช้กลยุทธ์การหาเสียงหลากหลายทั้ง ‘บนดิน’ และ ‘บนอากาศ’ ผสมปนเปกัน เกิดหัวคะแนนธรรมชาติออนไลน์ก็มาก แต่ปรากฏการณ์ที่น่าตกใจคือ มีประชาชนเกิดอาการ ‘ใจรวน’ ตัดสินใจไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่น้อย ก็คงต้องมาลุ้นกันจริงอีกทีในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 นี้ว่าประชาชนเค้าเอาแบบไหน เอาพรรคพร้อมเอาคน เอาพรรคไม่เอาคน เอาคนไม่เอาพรรค หรือไม่เอาทั้งพรรคและคน
เลือกตั้งหนนี้งานเข้ามากได้ลุ้นกันสนุกแน่ ๆ ครับ...