เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
คำที่ควรรู้ ที่คู่มากับ democracy ประชาธิปไตย คือ demagogy การปลุกระดมการเมือง ที่พัฒนามาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณสองพันกว่าปีก่อน
สองคำนี้มีรากศัพท์เดียวกัน คือ demos แปลว่าประชาชน แต่โตขึ้นมากลายพันธุ์ ขณะที่ประชาธิปไตยหมายถึงประชาชนปกครองตนเอง การปลุกระดมทางการเมืองเป็นเรื่อง “การครอบงำประชาชน” หรือวิธีการแสวงหาอำนาจของผู้นำที่ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้องมากกว่าเพื่อประชาชน
นักปลุกระดมการเมือง หรือเดมาก็อก (demagogue) พูดเก่ง ใช้วาทศิลป์จูงใจคน บนอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล พูดความจริงครึ่งเดียว หรือโกหกไปเลย บางคนโกหกบ่อยจนนึกว่าสิ่งที่ตนโกหกเป็นความจริง เพราะเก่งในการจดจำคำพูด (โกหก) ของตน ไม่ใช่แบบคนโกหกไม่เก่งที่พูดเรื่องเดียวหลายครั้งไม่เหมือนเดิม
นักปลุกระดมการเมืองใช้จุดอ่อนของประชาชน คือ ความไม่รู้ ไม่เข้าใจเนื้อแท้ของเรื่องราวที่ตนพูด ตามไม่ทัน ไม่มีวิจารณญาณในการพิจารณา ไม่มีความรู้ การศึกษา และประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ ยิ่งวันนี้ที่สังคมมีความซับซ้อนมาก ข้อมูลท่วมท้นจนแยกแยะความจริงความเท็จยาก
นักปลุกระดมการเมืองมีมาตั้งแต่ยุคกรีก โรมัน มาจนถึงทุกวันนี้ สนามหลวงกรุงเอเธนส์ กรุงโรมเป็นที่สาธารณะที่นักการเมืองประชันกันทางวาทศิลป์ ที่เรียกกันว่าไฮค์ปาร์ก โน้มน้าวจูงใจผู้คน จนเกิดคำว่า “โซฟิสต์” ที่เป็นสำนักปรัชญาหนึ่งที่เน้นการใช้หลักตรรกะในการอธิบาย แต่นักปลุกระดมนำไปบิดเบือน จนคำนี้เปลี่ยนความหมายกลายเป็นการใช้เหตุผลหลอกคนอื่น ทำนอง “ศรีธนญชัย” ในประเทศสารขันฑ์
นักการเมืองยุคใหม่ที่กลายเป็นแบบอย่างของนักปลุกระดมการเมือง คือ ฮิตเลอร์และมุสโสลินี แต่วันนี้แทบจะแยกนักการเมืองทั่วไปจากนักปลุกระดมไม่ได้เลย บางคนแสดงได้แบบไม่อายดินฟ้า ชูบทบาทเดมาก็อกได้อย่างโดดเด่น เช่นนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมืองไทยคงไม่ต้องเอ่ยชื่อใคร ดูเหมือนจะมีลักษณะของเดมาก็อกกันทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย
นักการเมืองปลุกระดมดำเนินกิจกรรมแบบการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองแบบหนึ่ง ไม่ต่างจากการโฆษณาขายสินค้า ซึ่งดูมีกฎเกณฑ์ชัดเจนกว่าการเมือง ควบคุมไม่ให้ไปละเมิดสินค้าอื่น แต่การเมืองเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม เพราะมีวิธีการที่แนบเนียน ยิ่งวันนี้ที่มีโซเชียลมีเดีย ที่กลายเป็นเครื่องมือเสนอแนวคิดนโยบายเข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่าเดิม เรื่องเลยยุ่งยากกว่าอีก อาจสรุปจากประเด็นร่วมของนักปลุกระดมดังนี้
1. เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ใส่ร้ายป้ายสี หาแพะรับบาป ใช้ชาติพันธุ์ ศาสนา สถานะทางสังคมมาเป็นเครื่องมือ อย่างที่ฮิตเลอร์เอาเรื่องยิวมาปลุกระดมว่าเป็นตัวร้ายทำลายสังคมเศรษฐกิจเยอรมัน ตนเองเป็นสายพันธุ์อารยันบริสุทธิ์ ต้องกำจัด “สายเลือดชั่ว” อื่นที่ทำให้เลือดเยอรมันปนเปื้อน สร้างชาตินิยมสุดขั้วขึ้นมา
พร้อมกันนั้น นาซีก็กล่าวหาพวกคอมมิวนิสต์ พวกซ้ายทั้งหลายว่าทำลายชาติ ขัดขวางการออกกฎหมาย การทำหน้าที่ของรัฐบาล ต้องจัดการให้หมด เหลือแต่นาซี ที่รวบอำนาจพรรคเดียว กลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ
ไม่ต่างจากยุคหนึ่งที่มีการกล่าวหาคนไทยฝ่ายไม่เห็นด้วยกับ “อำนาจ” ว่าเป็นญวน เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพวกหนักแผ่นดิน แนวที่ห้า ทรยศต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต้องกำจัดให้หมดไป หรือไล่ไปจากประเทศนี้
2. นักปลุกระดมสร้างความกลัวให้ประชาชน สมัยก่อนให้กลัวคอมมิวนิสต์ดุจผีร้าย หลังๆ นี้ให้กลัวพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พันธมิตรกับตน “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” แปลว่าเขาจะมาโกงกิน มาทำความเสียหายให้บ้านเมือง เราเป็น “คนดี” เขาเป็น “คนเลว” “เราซื่อสัตย์ เขาโกง”
3. นักปลุกระดมจะทำตัว “ติดดิน” ไปตลาด ไปงานบวช งานศพ งานแต่งงาน ไปทุกแห่งที่มีคน ไหว้ทุกคนไม่สนสถานะ เพศ วัย ขอให้ได้คะแนนเสียงก็พอ ทำตัวเป็น “พวกเดียว” กับชาวบ้าน
4. นักปลุกระดมจะสัญญาสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย พูดไปเหมือนจะทำอะไรได้ง่ายๆ จนกลายเป็นเรื่องตลกก็มี อย่างที่เคยมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยุคหนึ่งที่บอกว่า แก้ปัญหาจราจรเมืองกรุงไม่ยาก เปิดไฟเขียวไปทั่วเมืองให้รถวิ่งได้ก็จะหายติด
วันนี้ได้ยินนโยบายมากมายที่ฟังแล้วอาจจะปลุกความอยากของประชาชนที่ลำบากยากแค้นในภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ไม่น้อย แต่ทำได้แค่ไหน ไม่ว่าค่าแรง หรือลดราคาน้ำมันโดยไม่บอกวิธีการ หรือตัวเลขตัวเงินที่จะให้ ถ้าทำตามนโยบายพวกนี้ทั้งหมด ต้องกู้หนี้อีกกี่ล้านล้าน ใช้หนี้ชั่วลูกชั่วหลานไปอีกนานเท่าไร
ที่น่ากลัววันนี้ คือการใช้นโยบายประชานิยมที่เน้นปัญหาปากท้องที่อาจเป็นบูมเมอแรงทำลายเศรษฐกิจเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาหลายแห่งทั่วโลก ได้ผลระยะสั้นแต่ให้ผลร้ายระยะยาว
นักปลุกระดมการเมืองสนใจการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สนใจการทำโครงการ มากกว่าการมองภาพรวม การสร้างระบบเพื่อการพัฒนาที่ช้ากว่าแต่ยั่งยืน การหาเสียงของนักการเมืองจึงเน้นแต่ตัวเลข เพราะรู้ว่าปัญหาเร่งด่วนของประชาชนวันนี้ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สิน ปัญหารายได้ที่ไม่พอรายจ่าย พึ่งตนเองไม่ได้ พึ่งรัฐก็ไม่ได้ ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่เดมาก็อกอ้างว่าจะมาแก้
แต่ก็แทบไม่เคยเห็นนักการเมือง หรือพรรคการเมืองไหนแตะระบบโครงสร้างสังคมอย่างจริงจัง ขณะที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงที่จีรังยั่งยืนกว่าแค่ “เงินทอง” ที่เดมาก๊อกสัญญาจะให้ในโครงการสวัสดิการ
แม้แต่พรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ที่ดูจะกล้าหาญกว่าใครๆ ก็ยังไม่เสนออะไรที่ตอบโจทย์ปัญหาระบบโครงสร้างอย่างถึงรากถึงโคน ด้วยยุทธวิธีที่อาจต้องรื้อล้างสร้างใหม่ แม้ต้องใช้เวลานาน
คงต้องเกิดขบวนการประชาสังคมที่เข้มแข็งเป็นฐานการเมืองใหม่ เป็นแรงหนุนให้นักการเมืองคนรุ่นใหม่สร้างระบบสังคมและการเมืองใหม่ ที่ไม่ควรมี “ศรีธนญชัย” หรือ “เดมาก็อก” มากมายเหมือนทุกวันนี้