สถาพร ศรีสัจจัง
หนังสือรวมเรื่องสั้นและบทกวีที่ได้รับ “รางวัลพานแว่นฟ้า” ประจำปี 2565 ที่ชื่อ “ผีถ้วยแก้ว” ตามชื่อชิ้นงานของ อร่าม อินพุ่ม ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ บทกวีเรื่องนี้มีรูปแบบการเขียน คล้ายกับบทกวีชิ้นอื่นๆส่วนใหญ่ที่ได้รับรางวัลร่วมกันในปีนี้ คือเขียนด้วยคำประพันธ์ประเภท “กลอน” ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นชนิด “กลอนแปด”
“กลอน 8” ที่ภายหลังท่านสุนทรภู่ได้พัฒนาจนกลายเป็นอัตลักษณ์กลอนของตนเอง ที่คนไทยชั้นหลังมักยึดเป็น “ต้นแบบ” ในการเขียนกันมาก
และบรรดาผู้รู้ในวงการกวีนิพนธ์ไทยมักเรียกกันจนติดปากเรื่อยมาว่า “กลอนสุภาพ” นั่นแหละ!
ฟังข่าวมาว่า ปีนี้มีสำนวนบทกวีส่งเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก หลังจากผ่านรอบคัดกรอง ด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง จนเหลือเข้ารอบสุดท้ายเพียง 13 บท เพื่อให้คณะกรรมรอบตัดสินคัดเลือก ในขั้นสุดท้าย ก็ได้เป็น 1 รางวัลชนะเลิศ 2 รางวัลรองชนะเลิศ และอีก 10 รางวัลชมเชย
จะยกชิ้นงานสำคัญที่ได้รับรางวัล “ใหญ่” คือรางวัลชนะเลิศ (เงินสด 6 หมื่นบาท พร้อมโล่และใบประกาศเกียรติคุณ) รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล (เงินรางวัล 4 หมื่นบาท พร้อมโล่และใบประกาศเกียรติคุณ) มาพูดถึงกันสักหน่อย เพื่อให้พอเห็นว่าวงการ “กวีการเ มืองไทย” วันนี้ไปถึงไหนหรือมีทิศทางอย่างไรกันบ้าง โดยจะพูดไปพร้อมกันในคราวเดียว
อ่านชิ้นงานรางวัลใหญ่(คือชนะเลิศกับรองชนะเลิศ) ทั้ง 3 ชิ้นแล้ว เห็นว่า คณะกรรมการตัดสินคงต้อง “วิวาทะ”(Debate) กันหนักหน่วงเป็นแน่แท้ เพราะทั้ง 3 ชิ้นงานมีลักษณะโดดเด่นที่อาจเรียกได้ว่า “สุดๆ” ทั้งสิ้น ทั้งในด้านรูปแบบการเขียน และเนื้อหาหรือ “เรื่อง” ที่กวีเลือกนำมาเล่า
2 ชิ้น มีลักษณะท่วงทำนองการเขียนและการเล่าเรื่องแบบ “กลอนสมัยใหม่” ที่คล้ายคลึงกัน คือ “ผีถ้วยแก้ว” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ กับอีกเรื่องที่ได้รางวัลรองชนะเลิศ คือเรื่อง “ชาดอกไม้-รหัสประเทศในสวนชีวิต” ของผู้เขียนคือ “คีตา บารัตดายา”
ส่วนอีกบทที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศเช่นกัน คือเรื่อง “เธอกับฉันนั้นคือเรา” ของ อภิชาติ ดำดี นั้นต่างออกไปอย่างชัดเจน คือมีวิธีการสร้างเรื่อง การเล่าเรื่อง และ “ชุดคำ” ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการเขียน “เชิงขนบ” ที่นักกลอนมีฝีมือในอดีตทำกัน ลีลากลอนจึงมีลักษณะเป็น “กลอนสุภาพ” แบบท่านสุนทรภู่ มากกว่า 2 ชิ้นแรกอยู่มากทีเดียว
พูดง่ายๆก็คือ ถ้ากรรมการส่วนใหญ่ยังติดยึดอยู่กับแบบแผนของ “กลอน 8 เชิงขนบ” อย่างไม่ยอมขยายขยับ “กระบวนทัศน์” บ้างแล้วละก็ กลอนบทนี้จะโดดเด่นมาก เพราะเป็นชิ้นงานที่มีความ “แจ่มชัด” ในการสร้าง “เนื้อหาขึ้นเป็น” เรื่องเล่า ด้วยท่วงทำนองที่ฝรั่งเรียกว่า Metaphor(อุปมาอุปไมย?) ที่อ่านแล้วเข้าใจความได้ง่าย (Crearity) และที่สำคัญคือเห็นได้ชัดถึงความมี “เอกภาพ” (Unity)ของเรื่อง
ลองมาดูตัวอย่างบางตอนจากทั้ง 3 ชิ้นงานกันดู ว่าจะเห็นถึง “แตกต่าง” ทั้งในเรื่องของ “ชุดคำ” วิธีเล่าเรื่อง “การตัดต่อเชื่อมร้อย” “มุมมอง” “จังหวะและน้ำหนักเสียง” โดยเฉพาะในเรื่องของ “น้ำเสียง” ในการแสดงทรรศนะทาง “การเมือง” ของกวีว่า “เหมือน” หรือแตกต่างกันอย่างไร
เอาชิ้น “ผีถ้วยแก้ว” ของ “อร่าม อินพุ่ม” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศก่อน :
“เห็นสิ่งใดในเงาและเสาบ้าน/ปรากฏการณ์ที่เสาเงาที่เห็น/แขวนป้ายลงอาคม “บ้านร่มเย็น”/ บ้านย่อมเป็นร่มเงาคุ้มเสาเรือน/เสาที่ค้ำหลังคาและฝาบ้าน/คือรากฐานตรึงไว้ไม่เขยื้อน/คำนวณฤกษ์นาทีวันปีเดือน/ไม่ลืมเลือนขอขมาแด่ฟ้าดิน/จึงฝังรากความรักไว้หนักแน่น/มีแก้วแหวนเงินทองกองทรัพย์สิน…บ้านอยู่อบ่างบ้านมานานเนิ่น/มีส่วนเกินส่วนขาดบทบาทใหม่/ความมีอยู่แต่แรกเริ่มแปลกไป/เริ่มแปลกใจในเงาใครเฝ้ามอง/นึกแปลกใจนึกฉงนในต้นเสา/คลับคล้ายว่ามีเงาใครเฝ้าจ้อง/บ้านที่รักมักจะเป็นลานประลอง/พลอยขัดข้องข้ามฝ่าเขตอารมณ์/พาลไปฟาดต้นเสาถูกกล่าวหา…สถานการณ์ย่ำแย่ต้องแก้ไข/ฮวงจุ้ยไม่ถูกแบบแทบทุกอย่าง/ตรงนั้นพลาดนี่ผิดกลับทิศทาง/ต้องรื้อสร้างบ้านใหม่ในตำรา…”
และแล้วก็สรุปจบลงที่ “…ยื่นข้อความถามทีผีถ้วยแก้ว/วางมือแล้วมือใครลากไปถึง/ผียืนมองมือทั้งนั้นต่างดันดึง/เห็นมือซึ่งดึงดันฟาดกันเอง”
บทที่ 2 เรื่อง “ชาดอกไม้รหัสประเทศในสวนชีวิต” ของ “คีตา บารัตดายา” :
“1.อีกเช้าหนึ่ง ชุ่มฉานบ้านหลักแหล่ง/เสียงของแสงร้อยทำนองสีของสวน/นุ่มเพลงนก หยดน้ำหยาดงามนวล/นามรูปมวลพุ่มพฤกษ์ลุ่มลึกนัย/ชีวิตย่ำสนธยา…ตาของหลาน/ท่องทะยานโลกลวงช่วงสมัย/…จนกระจ่างทางชี้ท้ายที่สุด/มุมและหมุดเป้ามุ่งฝันพุ่งดิ่ง/หมายกวาดหมอกฟอกฟ้าฆ่าฝูงปลิง/กลับถูกทิ้งลงเหวเท็จเช็ดน้ำตา/มา…นั่งใกล้ให้กอดหน่อยนะหลานรัก/เช้าที่เหลือน้อยนักกับวันหน้า/ควรเชื่อมชิดเหตุผลสนทนา/รินซิหลาน จิบชากาเดียวกัน/2.เห็นแววตา ตารู้เสียงกู่ร่ำ/เจ้าร้าวช้ำ ขมเครียดทั้งเดียดฉันท์/ชังสภาพอาบอุ้มมืดกลุ่มควัน/ของห้วงครรภ์ประเทศคลึ้มสะลึมสะลือ…/จิบชาสิ,จิบชาตาจะบอก/ชาเต็มจอกไอกระอายกำจายแผ่/กลิ่นมะลิ กุหลาบชา ดอกกาแฟ/คือรหัสกุญแจลบแผลใจ…บนพื้นดินหนึ่งเดียวร่วมเกี่ยวข้อง/ดอกไม้ท่องทางเวลามาร่วมอยู่/กิ่งมะลิจากธารโต รั้วประตู/กล้ากาแฟจากอณูแดดเชียงดาว/จากสังขละ กุหลาบสะพรั่งจากสังขละ/อีกลำดวนดอกระดะ ปีบช่อขาว/ต่างต้นธารทิศฤดูต่างครู่คราว/แต่ร่วมร้อยทุกเรื่องราวอีกยาวนาน…”
และแล้วกวีจึงสรุปจบลงที่ว่า … “เช้าอีกเช้า ชุ่มฉานบ้านแหล่งหลัก/เจ้าหลานรักการครุ่นหาฟ้ากรุ่นหวัง/ไม่ต้องปลีกหลีกล่วงทิ้งรวงรัง/แต่ต้องหยั่งรากรักรอเช้าต่อไป”
ส่วนเรื่องที่ 3 คือ “เธอกับฉันนั้นคือเรา” ของ “อภิชาติ ดำดี” บางตอนว่าไว้อย่างนี้ :
“1.ในรั้วบ้าน ร้านกาแฟ แคร่ไม้ไผ่/กลางเมืองใหญ่ ในเถียงนา กลางป่าเขา/ทั้งโลกจริง-โลกเสมือน ล้วนเพื่อนเรา/ในร่มเงาของประชาธิปไตย…พูดเถิด…พูดคุยกันฉันมนุษย์/แสวงจุดร่วมกันแก้ปัญหา/เพื่อเส้นทางอภิวัฒน์รัฐสภา/จะควรค่าถึงพร้อมให้น้อมนบ/เป็นเวทีเปิดไว้ให้ความเห็น/เพื่อเคืองเข็ญก้าวข้ามสู่ความสงบ/เธอกับฉัน…ถ้าเราต่างเคารพ/อาจมาพบกันในแดนพานแว่นฟ้า/อย่าให้เสียงอภิปรายต้องหายเงียบ/กลบด้วยเสียงย่ำเหยียบอย่างคลั่งบ้า/อย่าให้คำส่อเสียดเหยียดประชา/อยูเหนือกว่าถ้อยธรรมคำกวี…เหนือผืนดินสุสานผู้หาญกล้า/ดอกไม้ป่าประดุจพรม ส้ม-แดง-เหลือง/ล้วนชีวิตประชาชนพลเมือง/หมายประเทืองเทิดประชาธิปไตย…โลกเสมือน-เสมือนอย่างเมืองร้างมิตร/ต่างคิดระดมด่าปานฆ่าเข่น/จัดทัวร์ลงรุมล้อมไล่คอมเม้นท์/บล๊อก-อันเฟรนด์ สรุปจบเลิกคบกัน/มองข้ามความเป็นมนุษย์กันสุดขีด/เหมือนจิ้งหรีดจู่กระโจนเมื่อโดนปั่น/เพียงคิดต่างก็ประกาศเข้าฟาดฟัน/รอยร้าวเธอกับฉันใครบรรเทา…”
แล้วสรุปจบลงว่า :
“ถ้าทุกฝ่ายเฉลี่ยใจไม่สุดโต่ง/ย่อมจรรโลงโลกได้ทั้งใหม่-เก่า/ถ้าเธอ-ฉันไม่เห็น'ความเป็นเรา/แก่น-รากเหง้าสังคมคงล้มครืน…”
เห็นไหม ว่ายากเย็นแค่ไหนสำหรับท่านกรรมการทั้งหลายที่จะตัดสินชี้ขาดว่าบทไหนดีกว่าหรือ “ยอดเยี่ยม” กว่าบทไหน แต่ที่แน่ๆก็ คือ สิ่งที่คนชอบ “กลอน” หรือ “บทกวี” ในสังคมไทยน่าจะรู้เห็น และ “รู้สึก” ร่วมกันได้สักประการหนึ่งก็คือ หลังจากได้อ่านกลอนทั้ง 3 บทที่ได้รับ “รางวัลบทกวีพานแว่นฟ้า” ประจำปีพ.ศ. 2565 แล้วก็คือ น่าจะคล้ายได้เห็น “ร่องรอยแสงแห่งความหวังที่ปลายอุโมงค์” ของวงการกวีนิพนธ์ไทยในยุค “ทุนเป็นใหญ่ กำไรสูงสุด” ที่ทุกอย่างถูกทำให้กลายเป็น “สินค้า” ไปหมดแล้วอย่างวันนี้
บรรทัดสุดท้าย อยากถามท่าน “นายหัวชวน” ประธานรัฐสภาผู้คร่ำหวอดคนนั้นจังเลย ว่าบรรดาท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งรัฐสภาไทยทั้งหลายในวันนี้มีบ้างสักคนไหม? ที่จะเหลือบตาแลเห็นบทกวีอันทรงคุณค่าเหล่านี้ หรือ เหมือนที่ใครเขาว่ากัน คือเห็นแต่ “กล้วย”!!!