สถาพร ศรีสัจจัง

“ผีถ้วยแก้ว” เป็นชื่อ “ปกหนังสือ” ส่วนที่เป็น รวมบทกวีที่ได้รับรางวัลวรรณกรรม “พานแว่นฟ้า” ประจำปี พ.ศ.2565  

รางวัล “วรรณกรรมพานแว่นฟ้า” เป็นรางวัลทางวรรณกรรม(Literature)ของรัฐสภาไทย เกิดขึ้นเนื่องจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้องการส่งเสริม “ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”และตระหนักว่า “วรรณกรรม” เป็นสื่อ(Media)หรือ “เครื่องมือ” (Tool)ในการส่งเสริมเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจแก่มหาชนในเรื่องดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง ลุ่มลึก และยั่งยืน

รางวัลนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2545 โดยสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นชุดหนึ่งเพื่อการดังกล่าว ในปีแรกมีการจัดประกวดวรรณกรรมประเภท “เรื่องสั้น” (Shot story) เพียงประเภทเดียว รุ่งขึ้นอีกปีคือใน พ.ศ. 2546 ได้เพิ่มการประกวด “กวีนิพนธ์” ขึ้นอีกประเภทหนึ่ง ทำให้บรรยากาศในการส่งงานเข้าร่วมประกวดเกี่ยวกับรางวัลนี้คึกคักกว้างขวางและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงวรรณศิลป์ไทย

วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลพานแว่นฟ้าทุกเรื่อง ทั้งประเภทกวีนิพนธ์และเรื่องสั้นของทุกปี จะได้รับการประมวลรวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นเป็นรูปเล่มเพื่อการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง จนถึงปีที่เพิ่งพ้นผ่าน คือพ.ศ 2565 ซึ่งนับเป็นปีที่ 20 ของการยืนหยัดจัดประกวดรางวัลนี้ ก็มีหนังสือ “รางวัลวรรณกรรมพานแว่นฟ้า ประจำปีพ.ศ.2565” ออกมาประดับวงการ “ศิลปวรรณกรรม” อีกเล่มหนึ่ง เป็นหนังประเภท “สองปก” ปกด้านหนึ่งเป็นวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลประเภทกวีนิพนธ์ชื่อ “ผีถ้วยแก้ว” (เป็นชื่อจากชิ้นงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ) ส่วนอีกด้าน เป็นปกประเภทเรื่องสั้น ชื่อ “ความกระจ่างที่ระยะทาง 41,057กิโลเมตร” (ชื่อเรื่องที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเช่นกัน)

แล้วทำไมจึงตั้งชื่อบทความนี้ว่า “ผีถ้วยแก้ว” ละ?

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะวันนี้ต้องการจะเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “กวีนิพนธ์ไทย” โดยเฉพาะ  ส่วนเรื่องสั้น(Shot story)ซึ่งเป็นรูปแบบงานเขียนที่อายุสั้น(สำหรับสังคมไทย)กว่ามากนั้น ถ้ามีเวลามากพอก็เอาไว้ค่อยคุยถึงในตอนหลัง

คำ “กวีนิพนธ์” เป็นคำที่แปลมาจากภาษา “อังกฤษ” คือคำ “Poetry” หรือ “Poem” แต่งานเขียนประเภทที่ชาวตะวันตกเรียกว่า “กวีนิพนธ์” นี้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี ที่พอยืนยันได้ของไทย ตอบคำถามว่า คนไทย “สร้างสรรค์” กันมานานมากแล้ว 

อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคสุโขทัย พัฒนาต่อเนื่องผ่านยุคอยุธยา เข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ กระทั่งเข้าสู่ยุคร่วมสมัย(Contemporary) ซึ่งถ้าจะพูดเป็นเชิงปริมาณเวลาก็น่าจะสักประมาณช่วงปลายรัชสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน หรืออะไรประมาณนั้น

เพียงสมัยก่อนที่จะมีคำว่า “กวีนิพนธ์” นั้น การเล่าเรื่อง การบันทึกภาพสังคม การสะท้อนภาพอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ(ความรู้สึกที่คนแสดงต่อคนด้วยกัน ต่อสิ่งธรรมชาติ และต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่รวมเรียกว่า “โลกทัศน์”)ของคนไทยนั้นอยู่ในรูปแบบที่มักเรียกกันว่า “ลำนำ” หรือ “บทกานท์” หรือ “กานท์” หรือ “บทกลอน” เท่านั้น

อย่าลืมนะ ว่าเรามี “ภาษาไทย” และ “อักขรวิธีไทย” มาตั้งแต่ยุคสุโขทัยเมื่อกว่าเจ็ดร้อยปีโนนแล้ว และลักษณะพิเศษของภาษาไทยที่เป็น “มรดกทางอัตลักษณ์เชิงภูมิปัญญา” ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งก็คือ ภาษาของเราเป็นภาษาที่มี “เสียงดนตรี”(วรรณยุกต์)

ซึ่งเป็นปฐมฐานข้อมูลที่สำคัญยิ่งในการนำมาใช้เพื่อการสร้างงานศิลปะที่เรียกว่า “วรรณกรรม” ทั้งเพื่อเป็นงานศิลป์ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Literature” โดยตรง หรือเป็นเนื้อหาและรูปแบบส่วนที่สำคัญของศิลปะประเภทที่เรียกว่า “Performance” (ศิลปะการแสดง)!

ไปเสียไกล กลับมาที่หนังสือ “รวมบทกวีรางวัลพานแว่นฟ้า” ที่ชื่อ ผีถ้วยแก้วกันอีกที เพื่อจะได้เข้าเรื่องที่น่าชื่นชมและชื่นใจกันเร็วๆ

คณะกรรมการตัดสินรางวัลกวีนิพนธ์พานแว่นแก้วประจำปีพุทธศักราช 2565 ตัดสินให้บทกวี จำนวนรวม 13 ชื่อเรื่องได้รับรางวัล แบ่งเป็นรางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล ได้แก่บทกวีชื่อ “ผีถ้วยแก้ว” ประพันธ์โดย อร่าม  อินพุ่ม  รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล คือเรื่อง “ชาดอกไม้ รหัสประเทศในสวนชีวิต” ของ คีตาบารัตดายา กับ “เธอกับฉันนั้นคือเรา” ของ อภิชาติ ดำดี 

ส่วนรางวัลชมเชยมีทั้งสิ้น 10 รางวัล ได้แก่ “ความเงียบไม่ใช่สันติสุข” ของ ปริญญ์  สระปัญญา/ “จิ๊กซอว์ประชาธิปไตย” ของ วิสวัน/ “จุดและเส้น” ของ ปณิธิ ภูศรีเทศ/ “โต๊ะอาหารที่ใหญ่กว่าบ้านทั้งหลังของเรา” ของ เฟืองเขียว เกี้ยวบุหลัน/ “ทัวร์ลงริซึม” ของ รังสิมันต์ จุลหริก/ “พานไหว้ครูห้องป.5” ของ กิติศักดิ์ ศรีแก้วบวร/ “เพลงของพ่อ บทกวีของแม่” ของ นรเศรษฐ์ ทับทิมทอง/ “เพื่อนเอ๋ย…เรายังอยู่ร่วมหมู่บ้าน” ของ พรชัย แสนยะมูล/ “เลือดในเลือด(แว่วเสียงลมไร้ชื่อจากกูตูปาลิง”ของ องอาจ สิงห์สุวรรณ/และ “วันคลื่นโถมเททะเลคลั่ง” ของ เมษา ภมรทรัพย์ 

ที่ต้องลงชื่องานกวีนิพนธ์และชื่อผู้ประพันธ์ไว้ทุกคนทุกรางวัลก็เพราะต้องการตราไว้เพื่อให้เกียรติทั้งต่อผู้ได้รับรางวัล และต่อกรรมการทั้ง 3 ชุด ที่ได้ร่วมกันลงแรงลงปัญา “เฟ้นเลือก” ชิ้นงาน น่าจะด้วยการถกเถียงเคี่ยวกรำกันอย่างหน่วงหนักยิ่ง เพื่อร่อนหา “เพชรหัวแหวน” มาประดับวงการกวีนิพนธ์ร่วมสมัยของไทย  

เพื่อร่วม “ส่งเสริม สืบสาน และต่อยอด” มรดกทางศิลปวัฒนธรรม(เชิงสุนทรียปัญญาอารยะ))ที่สำคัญยิ่งดังกล่าว ฟังมาว่า คณะกรรมรางวัลพานแว่นฟ้านั้นทำงานกันหนักหนานัก ตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบตัดสินชี้ขาด เพราะจำนวนบทกวีที่ส่งเข้าร่วมประกวดรวมแล้วนับหลายร้อยสำนวน!

ก่อนที่จะได้ลองหยิบยกบางตอนของบางชิ้นงานที่ได้รับรางวัล “กวีนิพนธ์พานแว่นฟ้า” ในครั้งนี้ มาจัดแสดงแจ้งชี้ เพื่อความ “ปีติใจ” และเพื่อร่วมเสนอทรรศนะบางด้านบางประการด้วยบ้างแล้ว คงลืมไม่ได้ที่จะต้องชื่นชมและยกย่องหน่วยงานเจ้าของรางวัล คือ “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” : ที่ตระหนัก มีสำนึก และร่วมผลักดันกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมการสร้างสรรค์งานศิลปะประเภท “กวีนิพนธ์” ซึ่งเป็นรากฐานมรดกทางภูมปัญญาเชิงอารยะ(ชาติที่เจริญแล้วเขายกย่องนับถือเป็นสิ่งแสดงความมี “อารยะ” ของคนในชาติ ถึงจะไม่เป็น “สินค้า” ของระบบเงินเป็นใหญ่อย่างสังคมยุคปัจจุบันก็เถอะ!)ที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในความเป็น “อัตลักษณ์ไทย” ประเภทหนึ่ง 

ในขณะที่ยังไม่ค่อยได้เห็นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องเข่นนี้ ที่ตั้งอกตั้งใจหรือ “เจียดงบประมาณอย่างให้เกียรติ” มาเพื่อ “ส่งเสริม สืบสาน และต่อยอด” อย่างเอาจริงเอาจัง อย่างตั้งใจอย่างมีคุณภาพ และอย่างยืนหยัดเช่นที่รัฐสภาได้ยืนหยัดจัดทำมา ที่เห็นจะมีอยู่บ้างส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นภาคเอกชน เช่น รางวัลเซเว่นบุ๊ค อะวอร์ด รางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี หรือ รางวัล “ยัง อาร์ทิสต์ อะวอร์ด” หรืออะไรประมาณนั้น!

หรือเพราะเรื่องพวกนี้ ไม่ “ประชานิยม” และ “ไม่ค่อยมีเงินทอน” รึไง?