เสือตัวที่ 6
กระบวนการแก้ปัญหาความเห็นต่างของคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานกับคนส่วนใหญ่ของรัฐ จนนำไปสู่ความขัดแย้ง ยังคงขับเคลื่อนไปอย่างเข้มข้นโดยรัฐเป็นฝ่ายแสดงความเจตจำนงในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวก็มีฉันทามติร่วมกันระหว่างรัฐกับตัวแทนกลุ่มเห็นต่างกับรัฐว่าควรจะต้องเดินทางไปสู่การแก้ปัญหาบนเส้นทางสันติวิธีด้วยการพูดคุยสันติสุขหรือการเจรจาสันติภาพระหว่างตัวแทนของรัฐกับตัวแทนกลุ่มขัดแย้งหลักนั่นคือกลุ่ม BRN และบนเส้นทางการแก้ปัญหาดังกล่าวก็เดินทางก้าวหน้ามาถึงจุดสำคัญครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 และ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่กระบวนการพูดคุยสันติสุขได้เกิดข้อตกลงครั้งสำคัญร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐ นำโดย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ กับคณะผู้แทน BRN นำโดย อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ได้พบหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมี พลเอก ตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ผลการพูดคุยฯ มีความคืบหน้าที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน และกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันเพื่อนำสันติสุขกลับคืนมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง โดยมีสาระสำคัญคือ 1. คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐและคณะผู้แทนกลุ่ม BRN เห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดทำ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace :JCPP) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุย ให้มีความคืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม อีกทั้งมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว โดย JCPP จะมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง หากแต่แท้ที่จริงแล้วทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ให้นิยามของคำว่าทางออกทางการเมืองที่เข้าใจตรงกัน อันเป็นสาระสำคัญที่จะต้องถกเถียงกันต่อไป ด้วยชุดความคิดที่แตกต่างระหว่างกันจนอาจจะนำไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธอีกครั้งหนึ่ง 2. ตัวแทนคณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายได้มอบหมายให้คณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่าย นัดหมายจัดการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้นและนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อเริ่มต้นขั้นการปฏิบัติต่อไป หากแต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่าปัญหาของคณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่ายก็จะต้องถกเถียงกันในประเด็นความต้องการและการตอบสนองของแต่ละฝ่ายภายใต้การแสวงหาทางออกทางการเมืองที่ยังให้ความหมายที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันตั้งแต่ต้น และผลสุดท้ายของการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการในห้วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2566 ตามข้อตกลงนั้น ก็จะไม่บรรลุผลตามเจตจำนงของแต่ละฝ่ายได้
เพราะที่มาของเป้าหมายการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะกลุ่ม BRN หนนี้ มีความชัดเจนตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันแล้วว่า คนกลุ่มนี้ ต้องการอิสระในวิถีชีวิตตามอัตลักษณ์ที่กลุ่มตนต้องการ โดยกลุ่ม BRN ได้เตรียมความพร้อมในชุดความคิดที่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ ในการปกครองกันเองอย่างอิสระตามที่กลุ่มตนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้าราชการในพื้นที่เป็นคนที่มีความเชื่อตามหลักศาสนาที่กลุ่ม BRN ต้องการ การใช้ภาษาถิ่นตามที่ชาติพันธุ์สืบทอดมาเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการสื่อสารทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การให้อิสระในการใช้ชีวิตตามวิถีที่กลุ่มพื้นถิ่นสืบทอดมาตามต้องการ รวมทั้งแม้กระทั่งการใช้หลักศาสนาเป็นกฎหมายหลักที่ใช้กำหนดกฎเกณฑ์การดำเนินชีวิตผู้คนในพื้นที่แทนกฎหมายบ้านเมืองที่ใช้โดยพื้นที่ทั่วไปของรัฐ และอาจลุกลามไปถึงขั้นการให้รัฐถอนกำลังทหารหรือเจ้าหน้าที่ติดอาวุธของรัฐออกไปจากพื้นที่แห่งนี้โดยพวกเขาจะดูแลความสงบเรียบร้อยกันเองด้วยคนในพื้นที่เอง หากแต่ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น รัฐจะต้องคงให้การสนับสนุนการดำเนินไปของกลุ่มตน ทั้งด้านงบประมาณ การสนับสนุนจากรัฐที่กลุ่มคนในพื้นที่ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะทำเองได้ ตลอดจนการพัฒนาด้านต่างๆ ตามวิถีที่กลุ่มตนต้องการ
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เป็นการได้มาซึ่งเป้าหมายสุดท้ายทางการเมืองที่กลุ่ม BRN แสดงเจตจำนงมาอย่างชัดเจนตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ที่กลุ่ม BRN มีการสั่งสมบ่มเพาะความคิด เตรียมความพลั่งพร้อมในชุดความคิดโดยเฉพาะด้านเนื้อหาสาระเพื่อใช้ในการถกเถียงหรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ต้องต่อสู้ทางความคิดความเห็นกับกลุ่มคนตัวแทนของรัฐอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมาอย่างยาวนานผ่านกระบวนการหล่อหลอมชุดความคิดทั้งในระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับ และนอกระบบโรงเรียน หรือในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนออกมาหลากหลายโอกาส ทั้งในการเดินขบวนการแสดงออกของกลุ่มเยาวชนที่บ่งบอกถึงการต่อต้านรัฐในทุกรูปแบบ บ่งบอกถึงความต้องการความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มคนในพื้นที่ท้องถิ่น รวมทั้งการแสดงออกของคนในชุมชนที่แสดงออกถึงการเชิดชูกลุ่มติดอาวุธที่เสียชีวิตจากการวิสามัญของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างออกนอกหน้าหรือเรียกว่าเปิดหน้าสู้เต็มรูปแบบ
ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาจวบจนถึงวันนี้ จึงสะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของรัฐเหล่านี้ ได้มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบเชิงยุทธศาสตร์ เมื่อใดที่กระบวนการต่อสู้กับรัฐเริ่มไม่เป็นผลตามเป้าหมาย กลุ่มแกนนำขบวนการแห่งนี้ ก็จะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ทันทีเพื่อคงไว้ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการโดยการเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ที่รัฐต้องวิเคราะห์แยกแยะให้ออกว่า กลุ่มคนเหล่านี้กำลังคิดอะไร บนเส้นทางที่ฝ่ายรัฐอาจจะกำลังดีใจว่ามาถูกทาง หากแต่ว่าบนเส้นทางนั้นกำลังเข้าทางกลุ่มแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ กระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ได้ผลสรุปล่าสุดเมื่อ 21 และ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าจะลดความรุนแรงในพื้นที่และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง จึงต้องถามตัวเองว่า ได้ให้ความหมายของคำว่า ทางออกทางการเมืองที่สอดคล้องกันเพียงใด ในขณะที่ชุดความคิดของทางออกทางการเมืองของกลุ่ม BRN คือการบรรลุเป้าหมายของความมีอิสระในการดูแลกันเองของคนในพื้นที่ตามที่คนในพื้นที่ต้องการ ที่คนระดับนำของขบวนการแห่งนี้ ได้สั่งสมตระเตรียมความพร้อมในเนื้อหาสาระของชุดความคิดที่จะใช้ต่อกรกับคนของรัฐอย่างเข้มแข็งพร้อมมูล หากแต่คนของรัฐเองยังหลงดีใจในผลงานที่จะได้ลดความรุนแรง แต่อาจพ่ายแพ้ชุดความคิดที่อ่อนด้อยกว่าฝ่ายขบวนการ จนนำไปสู่การสูญเสียดินแดนโดยไม่ทันรู้ตัว