เสือตัวที่ 6

จากข้อมูลข่าวกรองเชิงลึกของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ปลายด้ามขวานพบหลักฐานชัดเจนว่ามีสถานศึกษาศาสนาอิสลามเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสถานศึกษาปอเนาะบางแห่ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มขบวนการเหล่านั้น ใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะแนวความคิดแปลกแยกแตกต่างจากคนทั่วไปของรัฐ จนขยายความคิดความเชื่อออกไปเป็นความเครียดแค้นชิงชังสุดโต่งกับรัฐ เพื่อเข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบแห่งนี้โดยการปลูกฝังแนวความคิดความเชื่อที่ไม่ถูกต้องบิดเบือน ชี้นำความคิดความเชื่อด้านเดียวหรือเชิงเดี่ยวให้กับเยาวชน ในสถานศึกษาศาสนาอิสลามบางแห่งดังกล่าว อันจะนำมาซึ่งการไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในทุกรูปแบบทั้งแบบเปิดเผยและแบบซ่อนพรางเจตจำนงที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐอย่างแนบเนียนยิ่ง

ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงสามารถสร้างเยาวชนจัดตั้ง (เปอมูดอ) เพื่อสนับสนุนและสืบทอดแนวความคิดการต่อสู้กับรัฐด้วยการสร้างบรรยากาศในภาวะสงครามการต่อสู้เพื่อศาสนา ในการต่อสู้  ด้วยความรุนแรงภายใต้ความเชื่อและศรัทธาในสงครามญีฮาด ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงดำรงอยู่ต่อไปและสร้างความสูญเสียให้กับชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ ในพื้นที่แห่งนี้เรื่อยมาแม้ว่ารูปแบบและความถี่ในการก่อเหตุร้ายจะลดลงเชิงปริมาณก็ตาม หากแต่กระบวนการทั้งหลายของกลุ่มขบวนการร้ายแห่งนี้ ก็ยังคงสร้างสภาวะแห่งสงครามญีฮาดให้เกิดขึ้น ในจิตใจของคนในพื้นที่อยู่ต่อไปอย่างเข้มข้น ประกอบกับความเชื่อตามหลักการของคำสอนทางศาสนาประการหนึ่งก็คือ การทำตามคำสอนของศาสนานั้นจะได้บุญ ในทางตรงข้าม หากศาสนิกละเมิดคำสอน   ก็จะเป็นบาป ซึ่งบุญที่ทำเหล่านั้นจะลบล้างบาปทั้งหลายได้ตามสัดส่วน แต่การกระทำที่สามารถลบล้างบาปได้ทั้งหมดได้โดยสิ้นเชิง และนำชีวิตหลังความตายไปสู่ภพภูมิที่ดีตามต้องการได้ก็คือ การสละชีวิต จากการทำสงครามเพื่อดำรงไว้ซึ่งศาสนา และนั่นก็คือสงครามญีฮาดตามที่กลุ่มคนเหล่านี้ ใช้เป็นทางลัดเพื่อนำไปสู่ชีวิตใหม่หลังความตายอันพึงปรารถนา

ความรุนแรงจากเหตุร้ายในพื้นที่และบรรยากาศของความตึงเครียดในพื้นที่จึงคงความเข้มข้นในหัวใจของพี่น้องปลายด้ามขวานที่ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาจากนักจัดตั้งมวลชนของขบวนการนี้ เพื่อหล่อเลี้ยงภาวะสงครามให้เกิดขึ้นอยู่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะจะเป็นทางลัดสำคัญหากศาสนิกพลั้งเผลอทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เป็นบาป ก็จะสามารถลบล้างไปได้อย่างสิ้นเชิง ทำให้การบ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกแตกต่างจากรัฐยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในขบวนการต่อสู้กับรัฐอยู่ต่อไป ทั้งในสถานศึกษาหลายแห่ง หลายระดับและในชุมชน ซึ่งหากสามารถขัดขวางควบคุมการปลุกระดมบ่มเพาะแนวความคิดการก่อความไม่สงบ รวมทั้ง เสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องทางศาสนา ปรับทัศนคติ เยาวชนในสถานศึกษาศาสนาอิสลามและคนในชุมชนไปพร้อมกัน ให้มี ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้ ก็จะส่งผลให้ขบวนการร้ายแห่งนี้ ไม่สามารถสร้างเปอมูดอ (เยาวชนจัดตั้ง) เพื่อสนับสนุนและสืบทอดแนวความคิดในการต่อสู้ด้วยความรุนแรงภายใต้ความเชื่อและศรัทธาในสงครามญีฮาดได้

ดังนั้นหน่วยงานของรัฐทั้งหลายจึงต้องเร่งบูรณาการการต่อสู้กับขบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อเร่งยุติการหล่อหลอมกล่อมเกลา บ่มเพาะแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐอย่างไร้เหตุผล นำไปสู่การใช้ความรุนแรงด้วยเห็นถึงการต่อสู้กับผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้กดขี่ข่มเหงด้วยภาวะสงครามญีฮาด และให้แนวคิด ที่กว้างขวางเชิงพหุวัฒนธรรมนำไปสู้การต่อสู้ด้วยสันติวิธีให้จงได้ หากสามารถทำได้เป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว พลังในการขับเคลื่อนการต่อสู้ของขบวนการที่มีต่อรัฐ ก็จะอ่อนกำลังลง ด้วยขาดพลังจากมวลชนในพื้นที่ทั้งหน้าเก่าและมวลชนหน้าใหม่ที่จะมาหนุนเสริมเพิ่มกำลัง สานต่อการต่อสู้ให้ลดน้อยถอยลงอย่างเห็นหน้าเห็นหลัง หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่มีแนวคิดสุดโต่งนิยมความรุนแรงทั้งหลายแม้จะไม่สามารถเปลี่ยนความคิดความเชื่อคนกลุ่มสุดโต่งเหลานี้ได้ แต่เขาเหล่านั้นก็จะไม่มีโอกาสที่จะแสวงหาการต่อสู้ด้วยวิธีการอันรุนแรงได้อีกต่อไป

จึงเห็นได้ชัดว่ากลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานได้พยายามขับเคลื่อนการต่อสู้ ให้ได้มาซึ่งอิสระในการปกครองกันเอง โดยใช้หลักการ แนวคิด ทฤษฎีเป็นฐานในการประยุกต์ใช้การต่อสู้ทั้งหลายที่สอดรับกันอย่างชาญฉลาดยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นหลักการทำสงครามปฏิวัติ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง โดยใช้ความรุนแรงและใช้มวลชนเป็นฐาน  ในการดำเนินการแย่งชิงอำนาจรัฐ โดยปลุกระดมมวลชน ให้ลุกขึ้นต่อสู้โดยเงื่อนไขต่างๆ ที่สร้างขึ้นและสอดคล้องกับสภาวะนั้นๆ โดยรวมกำลังผู้รักชาติขับไล่ผู้กดขี่ รุกราน ให้หมดไปจากแผ่นดิน ร่วมกับการสร้างอุดมการณ์ลัทธิชาตินิยมให้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น นั่นคือจินตนากรรมถึงความเป็นชาติเดียวกันของบรรดาผู้คนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของการแบ่งแยกดินแดนให้เกิดขึ้นอย่างทรงพลัง ผ่านกระบวนการหล่อหลอมกล่อมเกลาในสถานศึกษาและในชุมชนอย่างต่อเนื่องและลุ่มลึก การต่อสู้ในพื้นที่แห่งนี้จึงรวมศูนย์ในประวัติศาสตร์ที่ว่ากบฏหะยีสุหลงกับกบฏดุซงญอ ในปี พ.ศ. 2491 กล่าวได้ว่าความขัดแย้งจนเป็นความรุนแรงนั้น มีทรรศนะที่แตกต่าง ที่พี่น้องมุสลิมมองว่า การต่อสู้ต่างๆ นั้นคือการเรียกร้องความเป็นธรรม และสิทธิของพลเมืองในรัฐที่เคารพวัฒนธรรมความเชื่อของคนกลุ่มน้อย ไปจนถึงการทำสงคราม เพื่อทางลัดไปสู่ชีวิตหลังความตายอันพึงปรารถนา พื้นที่แห่งนี้จึงอยู่ในภาวะสงครามอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก