ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
“ชายแดนใต้” ทั้งยะลา ปัตตานี นราธิวาส และรวมถึงสงขลา สตูล เป็นพื้นที่ที่ผู้เขียนมองเปรียบเทียบว่าแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “ห้องสมุดโลก” แห่งหนึ่ง เมื่อเทียบเคียงกับอีกหลายๆ พื้นที่ นั่นเพราะพื้นที่แถบนี้มีต้นทุนทั้งทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ศรัทธาความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ เชื่อมโยงจากยุคอดีต ผ่านผู้คนดั้งเดิมแห่งโลกมลายูที่เรียกกันว่า “โอรังอัสลี (ซาไก)” สู่การผสมผสานกับผู้คนอีกหลากหลายชนชาติ ทั้งตะวันออก จีน-อินเดีย-เปอร์เซีย-อาหรับ สู่ตะวันตก โปรตุเกส-ฮอลันดา-อังกฤษ ฯลฯ ตราบกระทั่งกลายเป็นสังคม “พหุวัฒนธรรม” ในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในเส้นทางสายไหมที่เป็นแอ่งอารยธรรมน่าสนใจเป็นยิ่ง
นับจากอดีต มีเอกสารหลักฐานจากชาวต่างชาติ บันทึกเรื่องราวของพื้นที่บริเวณนี้ ผ่านการเคลื่อนตัวของการทำธุรกิจการค้าระหว่างกันผ่านท่าเรือนานาชาติ ผ่านเส้นทางข้ามคาบสมุทร นำมาซึ่งการเคลื่อนตัวและหลอมรวมของอารยธรรมและศรัทธาความเชื่อ กระทั่งปัจจุบัน “ต้นทุน” เหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ในพื้นที่ สะท้อนผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และชีวิตผู้คน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนหนึ่ง สนใจเดินทางลงมาในพื้นที่เพื่อสัมผัสเก็บเกี่ยวข้อมูลประสบการณ์อันมากคุณค่า
อย่างไรก็ตาม ห้วงขณะภาพชายแดนใต้เชิงท่องเที่ยว ยังคงเป็นสถานที่ที่ถูกมองข้ามจากผู้คนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะการถูกกลบทับจากภาพความน่าหวั่นกลัว อันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งถูกนำเสนอตามสื่อเป็นระยะ แต่ดูเหมือนว่าช่วงหลังมานี้กระแสการท่องเที่ยวกลับเริ่มบูมเพราะถูกกระตุ้นอย่างจริงจัง ทั้งจากผู้คนในพื้นที่และหน่วยงานภาครัฐบางแห่งที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ หนึ่งในนั้นคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส
ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับ มัณฑนา ภูธรารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานนราธิวาส จึงทราบว่าหน่วยงานแห่งนี้ยังคงผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการในลักษณะแตกต่างกัน เช่น การกำหนดจัด “โครงการตามรอยวัฒนธรรมชายแดนใต้” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในเชิงศาสนา สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัยพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 400 คน และส่งเสริมภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โครงการตามรอยวัฒนธรรมชายแดนใต้ ททท. สำนักงานนราธิวาส ใช้วิธีการจัดกิจกรรมส่งเสริม/สนับสนุนการท่องเที่ยวร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัทนำเที่ยว เสนอขายแพ็คเกจทัวร์ในเส้นทางตามรอยวัฒนธรรมชายแดนใต้ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงศาสนา /เทศกาลงานประเพณีในพื้นที่ อาทิ งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี ประเพณีสรงน้ำหลวงปู่ทวดวัดช้างให้ งานสมโภชเจ้าแม่โต๊ะโมะ และงานประเพณีบุญบั้งไฟตำบลเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส งานประเพณีถือศีลกินผัก เป็นต้น โดยมีบริษัทนำเที่ยว และองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือจัดทริปลงมาในพื้นที่หลายกลุ่ม เช่น เค แอล ทัวร์ นำนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ เข้าร่วมงานมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานีอาเซียน 2559 “กตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี” ระหว่างวันที่ 21–23 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 200 คน นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาและเพิ่มวันพำนัก 2 คืน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความเชื่อความศรัทธาอย่างแรงกล้า เดินทางมาร่วมงานเป็นประจำทุกปี และได้เชิญชวนญาติมิตรเดินทางมาท่องเที่ยวทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี และจำนวนนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรมในพื้นที่ปีละ 2 ครั้ง บางรายเดินทางมาร่วมงานต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์สมาคมเครือข่ายท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สคท.) นำคณะนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ จำนวน 90 คน เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้(ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) เส้นทาง “เที่ยวเมืองในฝัน สวรรค์เบตง ปัตตานี สันติสุขแดนใต้ เมืองงามสามวัฒนธรรม” หรือ หจก.ท่องไทยทั่วทิศ นำนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ จ.นครปฐม จ.สตูล สงขลา จำนวน 80 คน เดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา โดยใช้เส้นทาง หาดใหญ่ – ด่านสะเดา – ด่านบูกิตกา-ยูอิตัม มาเลเซีย - เบตง –หาดใหญ่ และร่วมงานสมโภช เจ้าแม่โต๊ะโมะ ประจำปี 2559 จ.นราธิวาส แวะไหว้ขอพรองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และนมัสการหลวงปู่ทวดวัดช้างไห้ ณ จ.ปัตตานี
โดยสรุปแล้วมีตัวเลขว่า ห้วงเดือนกรกฎาคม–กันยายน 2559 กำหนดการเดินทางการท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจจะเดินทาง เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่โดยเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง จำนวน 40 คน/ทริป จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว จึงนับว่าเกิดผลสำเร็จเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่เกินเป้าหมาย ทำให้ภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีรายได้หมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น
อีกโครงการหนึ่ง คือ การการจัดประชุมสัมมนาในวันธรรมดาเมืองชายแดน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับพันธมิตรในห้วงวันธรรมดา ลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวช่วงวันหยุด โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายนำเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างการรับรู้และกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ผ่านนักท่องเที่ยวที่เดินทางร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวในโครงการในลักษณะ Word of Mouth ซึ่งได้มาสัมผัสสถานที่จริง จากประสบการณ์โดยตรง และท้ายที่สุดคือการนำไปสู่การกระจายรายได้สู่พื้นที่ โดยได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย ผ่านพันธมิตร ชมรมตระกูลลิ้มจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนไทยเชื้อสายจีนตระกูลลิ้ม จากทั่วประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย มาพบปะ แลกเปลี่ยนสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของพี่น้อง /เชิงธุรกิจการท่องเที่ยว จำนวน 500 คน ระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม 2559 ณ อ.เบตง จ.ยะลา
การลงมือช่วยกันคนละไม้ละมือ ยังคงเป็นจุดสำคัญในการช่วยคลี่คลายความรู้สึกในดินแดนแห่งความหวาดกลัวของผู้คน และเชื่อว่าการใช้ต้นทุนที่มีอยู่ย่อมเป็นหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ นั่นก็คือ การจุดกระแสท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับพื้นที่ การเรียนรู้และให้ความเคารพกับอัตลักษณ์ชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความหลากหลายเช่นชายแดนใต้ การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่ Word of Mouth ซึ่งท้ายที่สุดสิ่งดีๆ เหล่านี้จะย้อนกลับมาสร้างคุณประโยชน์ให้พื้นที่ในหลากหลายมิติ