การต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐ ยังคงมีการขับเคลื่อนการต่อสู้อย่างเข้มข้นต่อไป โดยแกนนำขบวนการแห่งนี้รู้ดีว่าสถานการณ์สู้รบด้วยอาวุธอย่างกว้างขวางดังที่ผ่านมานั้น ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นผลตามเป้าหมายที่คาดหวัง ที่เป็นดังนี้อาจเป็นเพราะบรรดาขบวนการร้ายแห่งนี้มีสายป่านในการต่อสู้ที่ไม่ยืดยาวดังที่คิด การสนับสนุนอาวุธให้กองกำลังติดอาวุธเหล่านั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายนอกประเทศตามที่ตั้งใจ รวมทั้งการขับเคลื่อนการต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของขบวนการโดยฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ก็มีการเรียนรู้จนเท่าทันการป้องกันและปราบปรามการต่อสู้ด้วยอาวุธของขบวนการให้ไม่มีศักยภาพมากพอเหมือนที่ผ่านมาได้ ประกอบกับสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศและในพื้นที่เองที่เปลี่ยนแปลงไปจนไม่อยู่ในสภาวะที่เกื้อกูลต่อการใช้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้งด้วยอาวุธให้รุนแรงเฉกเช่นครั้งก่อนได้
ดังนั้น บรรดาแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนจึงจำต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้คงเดินหน้าบรรลุเป้าหมายได้อยู่ต่อไปอย่างเข้มแข็งด้วยการใช้การต่อสู้ในสงครามทางความคิดอย่างเห็นได้ชัด และนั่นคือการสร้างเงื่อนไขทุกรูปแบบที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนในพื้นถิ่นให้มีอิสรภาพในการอยู่กันเองในรูปแบบที่กลุ่มตนต้องการ ซึ่งนั่นคือการทำสงครามที่มุ่งเอาชนะทางความคิดกับฝ่ายรัฐให้ฝ่ายรัฐต้องยอมจำนนหรือดำเนินการตอบสนองข้อเรียกร้องต่ออัตลักษณ์เหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว สภาพการเป็นอิสระในการปกครองตนเองในรูปแบบที่เป็นอัตลักษณ์ของขบวนการก็จะบังเกิดขึ้น และหากอัตลักษณ์ที่เรียกร้องหลายประเด็นผ่านสื่อทุกรูปแบบเหล่านั้นสำเร็จได้ ก็หมายถึงว่าคนกลุ่มนี้บรรลุเป้าหมายปลายทางของการต่อสู้กับรัฐในอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่าการได้ชัยชนะได้โดยไม่ต้องรบด้วยอาวุธ โดยการต่อสู้ทางความคิดอย่างทรงพลังที่กลุ่มนักต่อสู้ของขบวนการแห่งนี้มีการคิดและทำอย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพยิ่ง
ปรากฏการณ์การต่อสู้ทางความคิดของขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานมีความชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ การเปิดหน้าท้าชนทางความคิดผ่านทุกช่องทางต่อสาธารณะ ถูกรับรู้โดยทั่วกันทั้งในพื้นที่ท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ ที่ส่อให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าแกนนำของขบวนการแห่งนี้กำลังคิดอะไรอยู่ คนกลุ่มนี้กำลังเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำสงครามจากการต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นหลัก ไปเป็นการทำสงครามต่อสู้ทางความคิดเป็นสำคัญ ควบคู่กับการอาศัยจังหวะเวลาในการก่อเหตุร้ายใหญ่ๆ เพื่อกระตุกเตือนทุกฝ่ายให้รับรู้ว่าขบวนการของพวกเขายังคงศักยภาพในการต่อสู้ทำสงครามด้วยอาวุธอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย โดยขยายแนวร่วมทางความคิด สร้างเสริมพลังการต่อสู้ด้วยปัญญาให้กับกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง และหากสถานการณ์อำนวย คนกลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะใช้แนวร่วมมวลชนที่ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลามาอย่างเป็นระบบและยาวนาน มาใช้เป็นพลังในการบีบบังคับให้ภาครัฐจำต้องปรับนโยบายที่สร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการเป็นประโยชน์ในการบรรลุเป้าหมายปลายทางสุดท้าย
ล่าสุด นักปลุกระดมระดับนำของขบวนการแห่งนี้ที่ชื่อ นายฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายา เพื่อการศึกษาปาตานี(BRG) กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ The Reporters ในประเด็นสำคัญที่สื่อไปถึงเงื่อนไขให้เข้าทางการเป็นอิสระในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่ที่มีหลายประเด็นเกี่ยวข้องกับข้อเสนอในเวทีสหประชาชาติ (UN) อาทิ ต้องการให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการที่เป็นหลักแม้จะต้องใช้ควบคู่กับภาษาไทย ต้องใช้ภาษามลายูเป็นหลักอีกภาษาหนึ่งในการใช้เป็นภาษาในการเรียนการสอนในโรงเรียนของรัฐแม้ว่าจะต้องใช้ควบคู่กับภาษาไทย และต้องให้ข้าราชการในพื้นที่สามารถพูดภาษามลายูกับประชาชนที่มาติดต่อราชการ รวมทั้งต้องเป็นคนในพื้นที่ 80% ของข้าราชการทั้งหมดในพื้นที่ นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้ใช้กฎหมายอิสลามเป็นกติกาหรือกฎหมายหลักในการบังคับใช้กับพี่น้องในพื้นที่อย่างจริงจัง กระบวนการหล่อหลอมกล่อมเกลาทางความคิด เพื่อติดอาวุธในสงครามทางความคิดเมื่อโอกาสนั้นมาถึงอีกประการหนึ่งของ นายฮาซัน ยามาดีบุ ก็คือการจัดทัวร์ประวัติศาสตร์ เปิดทัวร์ ปัตตานี - กาลันตัน โดยนำประวัติศาสตร์ปาตานี ปลูกฝังความเป็นชาติพันธุ์ ชูอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ให้เกิดความแปลกแยกแตกต่างจากคนไทยทั่วไปของแผ่นดินไทยที่แอบแฝงการบ่มเพาะความเห็นต่างจนเป็นคนละพวกกับคนต่างความเชื่อทางศาสนาในลักษณะนี้ จึงเป็นการบ่มเพาะ ปลูกระดมเรื่องของชาติพันธุ์ สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น แทรกเรื่องราวที่สร้างความร้าวฉานระหว่างคนไทยด้วยกันอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนี่เป็นเพียงกรณีตัวอย่างที่แกนนำ นักจัดตั้งมวลชนของขบวนการร้ายแห่งนี้ มีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปี
เหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายฝ่ายรัฐในขณะนี้ คือขบวนการแห่งนี้ได้มุ่งสร้างแนวร่วมมวลชนขยายผลความคิดแปลกแยกแตกต่างจากคนต่างความเชื่อออกไปเรื่อยๆ อย่างเป็นระบบ อันเป็นการขยายมวลชนเพื่อรองรับการต่อสู้กับรัฐในสงครามทางความคิดที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าอย่างจริงจัง ในเมื่อขบวนการเปิดหน้าสู้เต็มรูปแบบโดยไม่หวาดหวั่นใดๆ มันคือการสร้างพลัง Soft Power ที่ทรงพลังยิ่งกว่า Hard Power หลายเท่านัก ซึ่งหากรัฐยังมองโจทย์นี้ไม่ออก ผลสุดท้ายของสงครามทางความคิดในสมรภูมินี้ก็คงจะคาดเดาได้ไม่ยาก