เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

ตามประเพณีในตะวันตกและชุมชนชาวคริสต์ทั่วโลกที่นับถือศาสนาคริสต์ ไม่ว่าทั้งปีมีความทุกข์เพียงใด ขอละไว้สักหนึ่งเทศกาลเพื่อแบ่งปันความสุข เทศกาลคริสต์มาส

เด็กๆ ในครอบครัวเยอรมันจะตั้งตารอคอยวันคริสต์มาส ไม่ใช่รอซานตาคลอส ซึ่งในประเทศนี้เขาฉลองนักบุญนิโกเลาส์ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคมแล้ว ตำนานซานตาคลอสที่นั่งรถเลื่อนลากด้วยกวางเรนเดียร์เขายาวเก้าตัวจากขั้วโลก บรรทุกของขวัญมาแจก หย่อนลงทางปล่องควันไฟให้เด็กดีจึงไม่ค่อยพูดกันอีก

แม้ว่ายังมีคนแต่งตัวชุดแดงขาวหนวดเครายาว เดินไปตามถนนและศูนย์การค้า แต่ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดทุนนิยม ที่โปรโมตขายของมากกว่าอย่างอื่น

วันที่ 24 ธันวาคม เด็กในครอบครัวเยอรมันจะตื่นเต้นเห็นกล่องของขวัญมากมายเต็มพื้นห้องใต้ต้นสนในห้องนั่งเล่น ที่ประดับประดาด้วยดาวกระดาษดวงน้อย ระยิบระยับด้วยไฟสี มีเพลงคริสต์มาสเป็นแบ็กกราวนด์ บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความสุข พร้อมกับขนมเค้กคริสต์มาสแสนอร่อยที่หอมกรุ่นไปทั้งบ้าน

บางครอบครัว ลูกแต่ละคนจะได้ของขวัญกันคนละกว่าสิบกล่อง โดยระหว่างปีพ่อแม่จะดูว่า ลูกมีความต้องการอะไร จำเป็นอะไร ที่ไม่เร่งด่วนก็มักรอจนถึงวันคริสต์มาส ไว้ซื้อให้ทีเดียวจะเป็นความสุขอันยิ่งใหญ่

ค่ำคืนวันที่ 24 ธันวาคม บางครอบครัวไปร่วมพิธีที่โบสถ์ แล้วกลับมาฉลองต่อที่บ้าน บ้านมีลูกเล็กก็อาจฉลองที่บ้านแทนไปโบสถ์ โดยมีการอ่านพระคัมภีร์ไบเบิล ตอนการบังเกิดของพระเยซู แล้วพ่อแม่ก็อาจจะพูดให้ข้อคิดความหมายของวันฉลองนี้เล็กน้อย

จากนั้นก็ร้องเพลงคริสต์มาสด้วยกัน ซึ่งไม่ได้มีแต่ Silent Night ซึ่งดั้งเดิมเป็นภาษาเยอรมัน มีต้นกำเนิดที่ออสเตรียตั้งแต่ปี 1818 ที่หมู่บ้านเล็กๆ ใกล้เมืองซัลซ์บูร์ก บ้านเกิดของโมสาร์ท

ถึงตอนนี้ เด็กๆ รอไม่ไหว เมื่อพ่อแม่ให้สัญญาณว่า ถึงเวลาเปิดของขวัญกันได้แล้ว ซึ่งปกติทุกคนจะเตรียมไว้ให้กันและกัน ลูกก็มีให้พ่อแม่และพี่น้องด้วย ใต้ต้นคริสต์มาสจึงเต็มไปด้วยของขวัญ เปิดกันสนุกสนาน จนลืมทานเค้ก และดื่มไวน์ แชมเปญ น้ำผลไม้กัน ลูกๆ จะเข้าไปกอดหอมพ่อแม่ ขอบคุณและบอก “แมร์รี่คริสต์มาส”

เทศกาลคริสต์มาสมีการเตรียมตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ทั้งทางโลกทางธรรม ในยุโรปมีตลาดนัดคริสต์มาสตั้งแต่กลางหรือปลายเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงวันคริสต์มาส หรือปลายเดือนธันวาคม

ตลาดนัดที่มีชื่อเสียงน่าจะเป็นที่เยอรมัน ที่มีประเพณีมากว่า 600 ปี  ตลาดเริ่มตั้งแต่กลางหรือปลายเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงวันที่ 24 หรือปลายธันวาคม แล้วแต่เมืองและแคว้น เริ่มตั้งแต่ 11 โมงหรือเที่ยงไปจนถึงสามสี่ทุ่ม มีของกินของดื่มและของที่ใช้เป็นของขวัญกันเป็นส่วนใหญ่  ตบแต่งด้วยไฟหลากสี ดนตรีเพลงคริสต์มาสที่สร้างบรรยากาศความสุข ลืมความทุกข์ไว้ที่ไหนสักครั้ง

นอกจากไส้กรอกที่ทานกับกะหล่ำปลีดองและมัสตาร์ด อาจมีปิซซ่า ขาหมูรมควันและอื่นๆ มีไวน์แดงร้อนที่ดื่มแก้หนาวดีแท้ เพราะไม่ได้มีแต่ไวน์ต้มอย่างเดียว แต่เติมเครื่องเทศสมุนไพร อย่างอบเชย กระวาน กานพลู ชะเอม วนิลา เปลือกส้ม น้ำตาลทรายแดง กลายเป็นเครื่องดื่มสุขภาพบำรุงกำลังไปเลย

นอกจากขนมปังกรอบรสเค็มไขว้เป็นเชือก (bretzel) ที่ทานกับเบียร์ กับไส้กรอก ก็มีขนมเยอรมันที่มีชื่อว่า Lebkuchen ที่ไม่นุ่มเท่าเค้ก แต่ไม่แข็งเท่าคุกกี้ จึงอยากเรียกว่าเค้กคริสต์มาสเยอรมัน เพราะมีลักษณะพิเศษที่กลายเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของเยอรมันไปนานแล้ว

ขนมนี้นอกจากแป้ง เนย ไข่ แล้ว ยังประกอบด้วยถั่วอย่างอัลมอนด์ วอลนัท ฮาเซลนัท และผลไม้อบแห้ง  น้ำผึ้ง และเครื่องเทศ ขิง กระวาน กานพลู จันทน์เทศ อบเชบ ชะเอม โกโก้ เปลือกส้ม 

ทำออกมาเป็นรูปต่างๆ ทรงกลม รูปหัวใจ รูปคน สัตว์ ดอกไม้ และอื่นๆ มีทั้งใส่แอลกอฮอล์และไม่ใส่ เป็นเหล้ารัม เหล้าลิเกอร์ที่ผสมเครื่องเทศและและผลไม้ อาบช็อกโกแลต ได้ลิ้มรสแล้วอาจหมดกล่องเอาง่ายๆ (เคยฝากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง บ่นมาว่า ได้ทานเพียงชิ้นเดียว ไปข้างนอกกลับมา ภรรยาทานหมด)

นอกจากรสชาติอร่อยแล้ว กล่องยังสวย หลากสีมีรูปภาพสวยงาม คนชอบสะสม คนทำขนมนี้ที่บ้านก็ยังมี โดยเฉพาะบ้านที่มีคุณย่าคุณยาย แต่ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่มีเสน่ห์ของประเทศไปนานแล้ว

เยอรมันผลิตขนมนี้ปีหนึ่ง 85,000 ตัน ส่วนใหญ่บริโภคในประเทศ ส่งออกประมาณ 20,000 ตัน นำเงินเข้าประเทศกว่าสองพันล้าน ใครไปเที่ยวเทศกาลเบียร์ (Oktoberfest) ที่มิวนิกปลายเดือนกันยายนต้นตุลาคม เขามีขายเป็นของที่ระลึกด้วย  ขนมนี้ของรัฐบาวาเรีย โดยเฉพาะที่เนิร์นแบร์ก มีชื่อเสียงมากที่สุดของเยอรมัน

เทศกาลคริสต์มาสเป็นโอกาสขายของดีที่สุดเทศกาลหนึ่งทั่วโลก เป็นยุคทุนนิยมและสังคมบริโภคที่  “ไม่มีศาสนา” แต่หาทางยัดเยียดสินค้าให้ผู้คนด้วยเหตุผลทางศาสนา ที่ได้ค่อยๆ ลดเลือนความหมายลงไป ไปที่ไหน ไม่ว่านับถือศาสนาอะไร ก็ได้ยินเพลงคริสต์มาส เห็นซานตาคลอส คงมีน้อยคนที่คิดถึงความหมายดั้งเดิมของการฉลองคริสต์มาส

ปี 2022 ปีที่เห็นแต่ความทุกข์ทรมานของประชาชน โรคระบาดโควิดที่ไม่จบ สงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ  ความขัดแย้ง ความรุนแรงในหลายประเทศที่คุกรุ่น  ขอร่วมกันส่งแรงใจไปให้คนที่ทุกข์ยากลำบาก ทนหนาว ทนหิว นอนกลางดินกินกลางทราย บ้างก็เป็นผู้อพยพเร่ร่อนตามชายแดน บ้างก็ลอยคออยู่ในทะเล รอความหวังว่าจะผ่านพ้นวิกฤติชีวิต

ขอให้พลังความดีงามทั่วโลก ดลใจให้บรรดาผู้นำประเทศลดอหังการและบ้าอำนาจ เห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมือง และประชาชนผู้เป็นเหยื่อของสงครามและความขัดแย้ง คืนความสุขให้ประชาชนด้วยเถิด

ขอส่งความปรารถนาดีแก่ผู้อ่านทุกท่าน ขอให้มีความสุข  มีทุกข์ก็หมดทุกข์ มีหนี้ก็หมดหนี้ มีปัญหาก็หาทางออกได้ แผ่เมตตาและอภัยให้ทุกคน