ทองแถม นาถจำนง “คนเรานี้ชอบเห็นว่า ตัวเองและคนอื่นเป็นใหญ่เป็นโต เป็นวีรบุรุษบ้างละ เป็นอะไรก็ได้ ขอให้มันใหญ่ไว้ก่อน แต่เอาเข้าจริงก็เปล่า คนจริง ๆ มันไม่ใหญ่ที่ตรงไหนสักนิด เพราะคนจริงมันเป็นคนตัวเล็ก ๆ เป็นคนอ่อนแอ เห็นแก่ตัว เป็นคนขี้ขลาด แล้วก็ไม่เอาจริงกับใคร คบไม่ได้” (บทละคร “ราโชมอน” คึกฤทธิ์ ปราโมช) มนุษยชาติทุกรุ่นยังควรอ่าน...เพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจกับธรรมชาติของมนุษย์ ภาพยนตร์เรื่อง “ราโชมอน” (ค.ศ ๑๙๕๐) ของ "อากิระ คุโรซาว่า" นั้นดัดแปลงจากดัดแปลงจากเรื่องสั้นของริวโนสุเกะ อาคุตางาว่า สองเรื่อง ได้แก่ "ราโชมอน" ซึ่งเป็นที่มาของฉาก และ "ในป่าละเมาะ" ซึ่งเป็นที่มาของตัวละครและเรื่อง ของ "ริวโนะสุเกะ อะตุตางสวะ" (1892-1927) ผู้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดานักเขียนเรื่องสั้นของญี่ปุ่น ภาพยนตร์เรื่องนี้โด่งดังมาก จนฝรั่งนำไปทำเป็นละครเวที และต่อมา “คึกฤทธิ์ ปราโมช” แปลเรื่องนี้ตามชื่อของภาพยนตร์ เป็นหนังสือ “ราโชมอน” บางท่านให้ข้อมูลว่า “คึกฤทธิ์ ปราโมช” เกิดแรงบันดาลใจในการแปลเมื่อได้ชมละครเวทีเรื่องนี้ที่นิวยอร์ค “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ท่านเกิดแรงบันดาลใจในการแปล เมื่อครั้งไปชมละครเวทีเรื่อง ราโชมอน ที่นิวยอร์ค โดยท่านสังเกตเห็นว่า ทุกถ้อยคำของบทประพัทธ์นี้ ล้วนมีความหมายต่อการเรียนรู้ชีวิต การแปลจึงไม่ใช่เพื่อความสนุกของท่านเอง แต่ท่านเน้นที่วจีกรรม ภาษาที่แหลมคมและมีความหมายลึกซึ้ง” ( บทความเรื่อง “ปริศนาของคำโกหก ที่มนุษย์ควรรู้ ก่อนตัวตาย” พญ. พิยะดา หาชัยภูมิ จากhttp://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1126 ของกรมสุขภาพจิต) แล้วท่านก็จัดการแสดงละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” ขึ้นด้วย “สุดท้าย ราโชมอนฉบับภาษาไทย ก็ถูกนำมาแสดงเป็นละครเวทีครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2508 หน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นำแสดงเป็นสัปเหร่อ” (อ้างอิงข้างต้น) แต่ในบันทึกของคุณ Canไทเมือง ในโอเคเนชั่นบล็อก บอกว่า ม.ร.ว คึกฤทธิ์ แสดงเป็นคนขายช้อง คุณ Canไทเมือง เล่าไว้ว่า “ละคร "ราโชมอน" บทแปลของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงโดยนิสิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 4 และรุ่น 5 มี จันทรา ชัยนาม แสดงเป็น "เมียซามูไร" ในนั้นมีผมร่วมเวทีอยู่ด้วย หาดูดีๆ ละกัน เปิดฉากแรก ที่ประตูผี "ราโชมอน" ฝนตกจั๊ก ๆ ไปไหนไม่ได้ ต้องมานั่งผิงไฟเล่าเรื่องราวที่ต่างพบพานมา ไม่เข้าใจพฤติกรรมขอมนุษย์ทั้งชายหญิง ที่มีฐานะต่างๆทางสังคมแตกต่างกันไป อะไรเป็นตัวกำหนดบทบาท หน้าที่ คุณธรรม จิตใต้สำนึก ฯลฯ ฝนตก ใครๆ ก็ต้องมาหลบฝนบริเวณนี้ การเล่าเรื่องและวิพากษ์วิจารณ์ตัดสลับไปมา กับเหตุการณ์ในศาล จากการให้การของจำเลย พยาน และวิญญาณคนตาย เมื่อซามูไร พาภรรยาเดินทางผ่านไปในป่า พบกับโจรเข้า มีการต่อสู้กัน และเรื่องราวทั้งหมดก็เกิดขึ้นผ่านการให้การคนละแบบ เมื่อฝนซา ฟ้าสว่าง ทุกชีวิตก็ต่างมีทางเดินของตัวเอง” (ขอบคุณข้อมูลและภาพ “แคน ไทเมือง” จาก http://www.oknation.net/blog/canthai/2010/12/02/entry-2)
__description__
__description__
   ภาพละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” แสดงโดยนิสิตคณะนิเทศศาสตร์  รุ่น ๔-๕ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
__description__
ภาพละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” แสดงโดยนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ รุ่น ๔-๕ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย บทละครราโชมอนไทยนั้นมีอะไรมากกว่าในภาพยนตร์ บทความเรื่อง “ราโชมอน ผีกับคนใครหลอกเก่งกว่ากัน” จาก http://nonlaw.7forum.net/t473-topic เล่าไว้ว่า “....ในละครไทย เมื่อแยกย้ายกันไปแล้ว ก็มีการวิเคราะห์ต่อค่ะ ต้องบอกว่า เคาะ จนได้เรื่องจริงๆ ความจริงมันก็เลยออกมา ด้วยฝีมือ ของคนที่เป็น คนไม่ซื่อสักเท่าไหร่ คนที่ไม่ดีในสายตาสังคม นั่นคือ คนที่หากินจากศพ คนทำช้อง  ตอนแรกสงสัยอยู่นานค่ะว่า ทำช้องคือทำอะไรหนอ ไปเปิดพจนานุกรม ก็เลยเข้าใจว่า  ช้อง คือ มุ่นผมในสมัยก่อนค่ะ เหมือนกับ วิกผมนี่แหละ หากินจากศพก็คือ ดึงผมศพออกไปทำเป็น ช้อง ที่ว่านี่แหละค่ะ  เมื่อแยกย้ายจากการให้การแล้ว ราโชมอนฉบับไทย ก็ ตัดตอนมาที่ พระ คนตัดฟืน และ คนทำช้อง  พระ กับ คนตัดฟืน ไปคุยกันต่อในศาลร้างค่ะ ในประเด็นที่ไปให้การด้วยความสับสน จนกระทั่งคนทำช้อง ที่นอนอยู่บนชั้นบนของศาลร้าง ทนไม่ได้ ต้องตื่นลงมาแจมค่ะ พระคุยกับคนตัดฟืนด้วยความท้อใจว่า จะสึกจากสมณะเพศ เพราะทนรันทดใจกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นไม่ไหว  การปล้น ฆ่า ข่มขืน เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันในช่วงนั้น จนท่านถอดใจว่า มิอาจสั่งสอนคนให้เขาคิดดี ทำดีได้ จึงคิดจะสึกกลับไปอยู่บ้าน ตามคำพูดของ โยมพ่อ ที่เคยบอกว่า ท่านไม่เหมาะที่จะบวชพระ  คนตัดฟืนก็พยายามทัดทาน จนคนทำช้องหนวกหูต้องตื่นขึ้นมา นั่นแหละค่ะ  คนทำช้องบอกขอฟังเรื่องที่เป็นคดีปริศนา ....  คนตัดฟืนเริ่มเล่า ซึ่งกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ตรงกับสามคนที่เล่ากันมา  เรื่องมันเริ่มต้น เมื่อ ซามูไร และ ภรรยา เดินเข้าไปในป่า แล้วก็ เจอตาโจมารุ โดนหลอกให้เข้าไปให้เข้าไปในป่า ซามูไรโดนมัด ตรงนี้ คล้าย ๆ กัน  เริ่มต่างตรงที่ เมื่อมีการข่มขืน แรกๆ ภริยาซามูไร ก็ขัดขืน จากนั้น ก็ไม่ดิ้นรน  ซามูไร มองด้วยสายตาที่ขมขื่น แทบจะทนไม่ได้  เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ภริยาซามูไรก็นั่งหวีผม ขณะที่ ตาโจมารุ พยายามขอร้องให้ นางไปอยู่กับเขา เพราะเขาบอกว่า เคยมีรักแรกพบ หลงรักสตรีสูงศักดิ์ ที่แค่เห็นหน้า แล้วก็เป็นรักฝังใจ ไม่ได้รักในบุคคล แต่รักในบุคลิกนั้น ว่าจะได้มีหญิงแบบนั้นข้างกายสักคนหนึ่ง  ภริยาซามูไรบอกว่า นางต้องการอยู่กับชายที่ยอมทำอะไรเพื่อนางบ้าง ไม่ใช่ใช้แต่กำลัง อยากได้นางเป็นคู่ชีวิต ต้องลงทุน และ จ่ายแพงสักหน่อย ไม่ได้เป็นเงินทอง แต่ต้องชิงจากสามีนาง  ว่าแล้ว หญิงสาวก็ ใช้มีดไปตัดเชือก สามีตนเองออกมา แล้วก็ยั่วยุให้สองคนลงมือ สู้เพื่อชิงนาง เมื่อซามูไรได้รับอิสระ เขาก็ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด ซามูไรไม่ยอมสู้กับตาโจมารุ แต่กลับประณามภริยาว่า ส่งที่นางควรทำคือฆ่าตัวตายเสีย เพื่อรักษาเกียรติ ของตัวเอง และสามี  ภริยาโกรธจัด บอกว่า นางต่อสู้เพื่อรักษาเกียรติแล้ว แต่ทนแรงโจรไม่ได้ จึงเสียท่า  ซามูไรอาศัยอะไรในการออกคำสั่ง เพราะเกียรติที่ต้องการรักษาไว้นั้น ไม่เคยมี  นางอยู่กับซามูไร จึงรู้ดีว่า กว่าจะไปออกรบแต่ละคราวนั้น ซามูไรทั้งหวาด ทั้งกลัว เครียดจนอาเจียนก็หลายคราว  ซามูไรก็บอกว่า นางเองก็เป็นหญิงชั้นต่ำ คือแค่ลูกคนครัว เขาอุตส่าห์รักจริงแล้วแต่งเข้ามา แทนที่จะทำตัวแบบกุลสตรี กลับไม่รักเกียรติของตัว ชอบมีพฤติกรรมลับๆ ล่อ ออกไปพูดคุยกับชายอื่นนอกบ้าน ก็หลายหนแล้ว...  ตาโจมารุ เห็นสองคน ผลัดกันเปิดโปง ก็ตาค้าง ว่า เฮ้อ ผู้ดี เขาเป็นกันแบบนี้เองหรือเนี่ย จะจากไปดื้อๆ  ภริยาซามูไรก็บอกว่า ไปง่ายๆ ไม่ได้ แล้วก็ปั่นจนสองคนต้องจับดาบมาสู้กันทั้งสองคน คนหนึ่งบอกว่าเป็นมหาโจร ที่ดุดัน ไม่กลัวใคร มีแต่คนกลัว  คนหนึ่งเป็นท่านซามูไรผู้ทรงเกียรติ (แม้จะไม่ย้ายพรรคบ่อย กับไม่ได้อุบาทว์ขนาดกำหนดตัวย่อ ทุเรศ ก็ตาม ) ฟังแล้วดูห้าวหาญไม่น้อย  เมื่อต้องมาประจันหน้ากัน ต่างแข่งกันไหว้ครูค่ะ หมายความว่า เงื้อง่า แต่ไม่ยอมฟัน เกี่ยงกันฟันก่อน  แต่ในที่สุดซามูไร ทนไม่ได้ ลงมือก่อน ตาโจมารุ เสียที ดาบไปติดกอไผ่ แล้วล้มลงไป แล้วก็เลยหยิบทรายปาใส่ตาซามูไร ซามูไรเสียหลัก เข้าไปในดงไผ่บ้าง พอลุกขึ้นมาได้ ก็จะเข้าไปฟันโจรรอบสอง โจรก็เอาอีก ใช้ดินปาใส่ตา  คราวนี้ ซามูไร เข้าไปในดงไผ่ (ซีนเดิมๆ แฮะ) แต่เป็นเรื่องเพราะดาบตัวเองปักอก จากนั้นล้มลง  ภริยาที่ดูเหตุการณ์ ตกใจ วิ่งเข้ามาดูสามี ส่วนโจร เห็น ซามูไรตาย ก็ทิ้งดาบแล้ววิ่งมาหาภริยาสาวของซามูไร ซึ่งชักสับสนว่าต้องได้โจรเป็นสามีใหม่แล้วหรือนี่ จึงวิ่งไปตั้งหลักในป่า แล้วโจรก็ตามเจ้าหล่อนไป  ...คนตัดฟืนเล่า โดยบอกว่า เขาหลบอยู่แบบเงียบเชียบ เพราะกลัวว่าหากตาโจมารุ รู้ว่ามีคนแอบดูอยู่ ต้องโดนปิดปากแน่เลย  คนทำช้องก็บอกว่า ดูแล้วเรื่องนี้น่าเชื่อที่สุด แม้จะไม่ได้มีความจริงทั้งหมดก็ตาม  ....คนตัดฟืน ก็โกรธ บอกว่า เจ้าคนชั่วเอ๊ย เอ็งมันก็แค่คนหากินกับศพ  เพราะว่าดึงผมคนตายมาทำผมปลอม แล้วจะมาว่าคนอื่นเป็นคนโกหกได้  คนทำช้อง แย้งว่า .... เรื่องนี้มีช่องว่าง เอ็งอยากรู้ไหมล่ะ …. คนทำช้อง บอกว่า ... “ข้ามันคนไม่ดีในสายตาคนในสังคม เป็นโจรลักขโมยเล็กๆน้อยๆ เลยเป็นคนไม่ดี หากินแถวราโชมอน ประตูผีนี่แหละ  เห็นศพมีเสื้อผ้าที่ยังไม่ขาด ก็เอาเสื้อผ้าไปใช้ ก็คนตายแล้วใช้ได้ที่ไหนกันล่ะ  ส่วนวิกผมผู้หญิงล่าสุดที่ข้าได้มานี่แหละ ตอนเป็นคนอยู่นางผู้นี้เคยนำเนื้องูไปหลอกขายในตลาดว่าเป็นเนื้อปลาไหล” คนทำช้องจะว่าต่อ ก็มีเสียงเด็กร้อง คนทำช้องเห็นเด็กเข้าก็ดึงผ้าห่มจากตัวเด็กไป บอกว่าจะขายได้หลายตังค์  คนตัดฟืนโกรธมาก บอกว่าจะเรียกตำรวจมาตัดสินใจ ถ้าไม่ยอมคืนผ้าห่อตัวเด็ก  แล้วคนทำช้องก็พูดต่อในสิ่งที่ เหมือนทำให้โลกของคนตัดฟืน หยุดนิ่งลงว่า  “แกกล้าเรียกก็เรียกมาเลย ข้าจะได้พูดต่อเรื่องการให้การในศาล ของดดีปริศนา ใครฆ่าซามูไร ที่ว่า .....ข้าจะบอกให้นะว่า คนทุกคน เห็นสิ่งที่ตัวเองอยากเห็น พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน  แล้วแกจะเรียกตำรวจมา เพื่อตัดสินให้ข้าคืนผ้าห่อเด็ก ... ไม่กลัวเรื่องดาบซามูไรก็ตามใจนะ  ข้าจะได้ถามตำรวจว่า ดาบซามูไร น่ะหายไปไหน ในฐานะที่แกเป็นพยานปากเอก แกก็คงจะเห็นซีนะว่ามันไปไหน ดาบเล่มนั้นเป็นดาบดี มีราคา ด้ามทอง หรือ เพชร หากไปขายก็คงได้หลายเงิน กระมัง  แกได้ไปเท่าไหร่ล่ะ”  คนตัดฟืน หยุดอาการยื้อผ้า นิ่งเงียบ ได้แต่ส่ายหน้า พูดเบาๆ ว่า ข้าไม่รู้เรื่อง  ส่วนพระก็บอกว่า อาตมาไม่เข้าใจที่ท่านพูดเลย  คนทำช้องก็เลยพูดต่อว่า เอาเถอะ ขโมยมันต้องช่วยคนอาชีพเดียวกัน ข้าจะบอกให้สบายใจนะว่า คนเรามันก็ต้องชั่วบ้าง ดีบ้าง แต่มันไม่สำคัญอะไรนักหรอก ข้าเคยเห็นรูปเขียนรูปหนึ่ง เป็นรูปคนกำลังโหนเชือกอยู่ที่หน้าผาสูง บนยอดผานั้นมีสัตว์ร้ายคอยอยู่ ด้านล่างก็มีจระเข้าคอยงับเหยื่อ  แล้วเชือกที่ห้อยอยู่ ก็มีหนูสองตัว มันกำลังผลัดกันกัดเชือก ตัวหนึ่งสีขาว คือ กลางวัน อีกตัวสีดำ คือยามค่ำคืน มันกัดเชือกอยู่ตลอดเวลา  ชีวิตคนเรามันก็แค่นั้นแหละเพื่อน อย่ามัวมานั่งถกเถียงกันอยู่เลย เวลาที่เราจะโหนเชือกอยู่นั้นมันไม่มากมายอะไร  แต่อย่างไรผมก็ต้องขอบคุณท่านนะ( หันมามองพระ) ที่วันนี้ได้ฟังเรื่องสนุก แล้วยังได้ผ้าไปขายอีกผืนหนึ่งด้วย  คนทำช้องเดินจากไปแบบสบายใจ  ทิ้ง คนตัดฟืน เด็กทารก และ พระไว้ด้วยกัน  คนตัดฟืน ขอเด็กที่พระอุ้มอยู่ว่า จะนำไปเลี้ยง เพราะที่บ้านก็มีลูกเล็กหลายคน แล้วพระจะนำเด็กไปด้วย คงไม่สะดวก ตอนแรกพระไม่ยอมให้ แต่พอฟังเหตุผลของคนตัดฟืน ว่า  " ผมรู้ดีว่า ท่านคงไม่เชื่อถือผม ที่ขโมยแม้แต่ดาบในศพคนตายไปขายกิน  แต่ท่านทราบไหม ที่บ้านผมมีลูกเล็กๆ หกคนที่นั่น บางทีมันหิว บางทีมันหนาว มันกลัว มันร้องไห้กันบ่อยๆ ดาบด้ามเงินเล่มนั้น ขายได้เงินมาเช็ดน้ำตาให้ลูกผมได้มาก  ส่วนเจ้าตัวเล็กนี่ มันตัวนิดเดียว จะไปเปลืองอะไรสักเท่าไหร่กัน  ผมทราบดีว่า ไม่อยู่ในฐานะที่จะขออะไรจากท่านได้อีก ก็สุดแต่ท่านจะพิจารณาก็แล้วกัน "  พระมองเห็นความกรุณาในสายตาของคนตัดฟืนอย่างจับใจ แล้วก็ส่งเด็กให้โดยดุษฎี “ประสกรับไว้เถอะ "  คนตัดฟืน กลับแย้งว่า  “แต่ท่านก็ได้ยินกับหูว่า ผมเองก็ไม่ได้ดีอะไรนัก เป็นขโมย เป็นคนขลาด ไม่พูดความจริง " “ประสกเป็นหลายอย่าง แต่ก็เป็นคนเหมือนกับคนอื่นๆ” “ท่านอภัยให้ผมหรือครับ”  “อาตมาไม่มีเรื่องที่จะต้องให้อภัยประสก ประสกเสียอีกที่จะต้องให้อภัยอาตมา เพราะอาตมามุ่งแต่จะสอนธรรมแก่คนอื่น วันนี้ประสกได้สอนธรรมให้อาตมาได้มาก” แล้ว หนึ่งพระ หนึ่งคนสามัญ ก็แยกทางกัน  คนตัดฟืน กลับบ้าน  ส่วนพระ ก็ย้อนทาง กลับไปสู่วัดที่ท่านจากมา” ในยุคอิสรเสรีของโซเชียลมีเดียอันมั่วซั่วนี้ ผู้ใช้ปัญญาควรอ่านใหม่ และย้ำพินิจพิจารณาเนื้อหาหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง