รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านอาหารมาอย่างยาวนาน อาหารไทยแตกต่างจากอาหารชาติอื่น ๆ เพราะเคล็ดลับการปรุงอาหารและการคัดสรรวัตถุดิบที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว รวมถึงความประณีตบรรจง อาหารไทยมาพร้อมกับความโดดเด่นของรสชาติหลักทั้ง 5 อย่าง ได้แก่ เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม และเผ็ด ตัวอย่างเมนูอาหารไทยที่หลากหลายและโดดเด่น เช่น แกงเขียวหวานไก่ ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่น ผัดกะเพรา ผัดไทย ส้มตำ และอื่น ๆ อีกมากมาย

คนไทยมองว่าอาหารเป็นมากกว่าปัจจัยการดำรงชีวิต การกินอาหารมื้อกลางวันหรือมื้อค่ำด้วยกันเป็นวิถีสำคัญอย่างหนึ่งของการส่งเสริมและสร้างสัมพันธภาพที่เข้มแข็งระหว่างกัน อาหารไทยหลายรายการเสิร์ฟด้วยชามขนาดใหญ่ มีจานและช้อนส้อมแยกให้แต่ละคนที่โต๊ะ มื้ออาหารส่วนใหญ่จะมีปริมาณหรือสัดส่วนที่น้อยกว่าอาหารตะวันตก และอาหารไทยจะมีเครื่องเคียงหลากหลายอย่างและของหวานเบา ๆ ตบท้าย การกินอาหารไทยร่วมกันนับเป็นประสบการณ์การรับประทานอาหารที่ไม่ต้องรีบเร่ง และจะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูงมากขึ้น

ความดังและความเด่นของอาหารไทยเป็นที่ประจักษ์สายตาของผู้คนไปทั่วโลกทั้งโลกจริงและโลกออนไลน์ จนกลายเป็นหน้าเป็นตาของคนไทยทุกคน เพราะผลสำเร็จของการจัดงานประชุมเอเปคครั้งที่ 29 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป ‘อาหารไทย’ เป็นตัวชูโรงหลักและเป็นพลังซอฟต์เพาเวอร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกระแสไวรัลบนโลกออนไลน์จากผู้นำสิงคโปร์ “ลี เซียน ลุง” ด้วยการโพสต์ภาพถ่ายเมนูอาหารไทยที่เป็นเมนูเรียกน้ำย่อยได้อย่างสร้างสรรค์และสวยงามมาก

ล่าสุดผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง ‘อาหารไทย...เอกลักษณ์ไทย’ ของ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก็ตอกย้ำถึงความสำคัญของอาหารไทยในหลากหลายประเด็น โดยผลสำรวจออนไลน์จากตัวอย่างทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,044 คน ระหว่างวันที่ 19-24 พ.ย. 65 สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนไทยทั่วประเทศ ดังนี้

1) เอกลักษณ์ของอาหารไทย คือ ความพิถีพิถัน ประณีตสวยงาม (อันดับ 1 83.96%) อาหารไทยมีประโยชน์ เป็นยามีคุณค่าตามหลักโภชนาการ (อันดับ 2 81.17%) อาหารไทยมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็น Soft Power มีต้นทุนทางวัฒนธรรม (อันดับ 3 75.98%)

2) 5 อันดับเมนูอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์ไทย ได้แก่ ต้มยำกุ้ง (อันดับ 1 57.65%) ผัดไทย (อันดับ 2 33.17%) ส้มตำ (อันดับ 3 23.89%) แกงเขียวหวาน (อันดับ 4 22.11%) และแกงมัสมั่น (อันดับ 5 13.23%)

3) สิ่งที่เป็นห่วงหรือกังวลเกี่ยวกับอาหารไทย คือ การรักษาสูตรต้นตำรับ รสชาติดั้งเดิม (อันดับ 1 90.75%) การรักษาคุณภาพของอาหารไทย วัตถุดิบของไทย (อันดับ 2 74.95%) คนสนใจเรียนอาหารไทยลดลง ไม่มีผู้สืบทอด สานต่อ (อันดับ 3 68.02%)

4) วิธีการรักษาเอกลักษณ์ของอาหารไทยไว้ให้ได้ คือ ภาครัฐส่งเสริมอย่างจริงจัง ผลักดันเป็น Soft Power (อันดับ 1 88.85%) ปลูกฝังให้กับคนรุ่นหลังได้เห็นถึงคุณค่า ความสำคัญและสานต่อ (อันดับ 2 82.50%) ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยช่วยกันรักษารากเหง้า เอกลักษณ์ของอาหารไทย (อันดับ 3 77.31%)

5) บุคคลหรือหน่วยงานที่จะช่วยส่งเสริมอาหารไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของไทย คือ ประชาชนคนไทยทุกคน (อันดับ 1 70.00%) กระทรวงวัฒนธรรม (อันดับ 2 65.38%) และคนเก่าแก่ ปราชญ์ชาวบ้าน (อันดับ 3 63.37%)

ส่งท้ายขอหยิบยกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับศักยภาพอาหารไทยในต่างแดน “สหรัฐอเมริกา” ของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจ ภาครัฐควรสนับสนุน และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการอาหารไทย ดังนี้

“อาหารไทยเป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มผู้บริโภคมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นเมนูยอดนิยมอย่างผัดไทย ผัดซีอิ๊ว ผัดขี้เมา แกงมัสมั่น แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน และพะแนง นอกจากนี้ กลุ่มอาหารท้องถิ่นเหนือ/อีสาน/ใต้ รวมถึงอาหารแนวสตรีทฟู้ด เช่น ลาบ น้ำตก แกงอ่อม แกงส้ม แกงไตปลา และข้าวซอย ยังได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคที่เคยมีประสบการณ์เดินทางไปเยือนประเทศไทย อุตสาหกรรมบริการอาหารไทยยังมีศักยภาพและมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ดังนั้น นอกจากปัจจัยด้านคุณภาพและรสชาติอาหารที่กลุ่มผู้ประกอบการบริการอาหารไทยควรจะให้ความสำคัญแล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการบริการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญสูงเช่นเดียวกันเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมบริการอาหารไทยในตลาดให้ยั่งยืน”

เชื่อมั่นอย่างมั่นมาก ๆ ครับว่า ...อาหารไทยในสายตาคนทั่วโลก...จะเป็นที่ชื่นชอบและไม่มีวันตกเทรนด์อย่างแน่นอนด้วยทุกฝ่ายต้องช่วยกันรักษา สืบสาน และต่อยอดของดีที่มีอยู่ ‘อาหารไทย...เอกลักษณ์ไทย’ ให้อยู่คู่กับสังคมไทย และ สังคมโลกตลอดไป...!!!