เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

คนไทยที่ต้องการอพยพไปอยู่ประเทศอื่นคงรู้ดีว่า ไม่ใช่เรื่องยากถ้าหากมีความรู้ ทักษะสูงที่ประเทศเป้าหมายนั้นต้องการ อย่างแคนาดาประกาศว่า ภายในปี 2025 จะรับผู้อพยพ 1.5 ล้านคน ปีละ 500,000 คน

ผู้อพยพที่เป็นข่าวมากที่สุดคงเป็นที่สหรัฐและยุโรป เป้าหมายของคนจากโลกที่สาม ในปี 2015 สหรัฐมีผู้อพยพ 47 ล้านคน คิดเป็น 14.4% ของประชากร  ออสเตรเลีย 30% แคนาดา 21.9% ซึ่งมีทั้งอพยพตามญาติ ผู้ลี้ภัย เป็นพนักงานองค์กร ส่วนหนึ่งเป็น “โรบินฮู้ด” ที่วันหนึ่งอาจรับอภัยโทษได้ “กรีนการ์ด”

ในยุโรป ประเทศเยอรมนีรับผู้อพยพมากที่สุดมาตั้งแต่ปี 2013 จนเกิดวิกฤติรัฐบาลนางอังเกลา แมร์เกิล  “แม่พระของผู้ลี้ภัย” ที่ใจกว้างรับผู้อพยพในปี 2015 กว่าล้านคน ประกาศว่า “เราทำได้”  ภายในปี 2019 เยอรมนีมีผู้อพยพ 13.7 ล้านคน นับเป็น 17% ของประชากร วันนี้อยู่เพียง 5 ปีก็ได้สัญาชาติเยอรมัน ง่ายกว่าเมื่อก่อน

เยอรมนีรับผู้อพยพสะสมมาตั้งแต่สงครามยูโกสลาเวียในช่วงทศวรรษ 1990 และต่อมาจากสงครามกลางเมืองซีเรีย และย้อนไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีฟื้นจากหายนะมาเป็นมหัศจรรย์เศรษฐกิจ ส่วนสำคัญเพราะ “แรงงานอพยพ” จากอิตาลี สเปน โปรตุเกส กรีซ ตุรกี

ต่อมา การเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ตลาดเดียว ทำให้ได้แรงงานจากประเทศต่างๆ อีก 27 ประเทศสมาชิก ที่ไปมาหาสู่ได้อย่างอิสระ หลั่งไหลเข้าไปแบบระยะสั้นระยะยาวหรือถาวรในเยอรมนี

ประเทศสมาชิกอียูถูกนำไปเปรียบเทียบสถานการณ์ของสหราชอาณาจักรวันนี้หลังจากที่ออกจากอียู ที่เติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอียู ประเทศอื่นๆ เติบโตหมด อังกฤษเป็นศูนย์ โดยมิอาจอ้างเรื่องโควิด เศรษฐกิจโลกถดถอย และสงครามรัสเซียยูเครน เพราะประเทศอื่นๆ ก็อยู่ในสภาพเดียวกัน แต่รับมือได้ดีกว่า

อังกฤษมีปัญหาเรื่องแรงงาน เพราะเมื่อไม่ได้เป็นสมาชิกอียู ไม่อยู่ในตลาดเดียว ต้องเริ่มประสานการค้ากับทุกประเทศในยุโรปใหม่ มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน แรงงานจากยุโรปที่ย้ายกลับไป รับมาใหม่มีปัญหายุ่งยาก จนขาดแรงงานก่อสร้าง งานบริการ งานเกษตร ที่ไม่สามารถไปมาอิสระได้อีก

คนอังกฤษส่วนใหญ่ให้ความเห็นวันนี้ว่า การออกจากอียูเป็นความคิดที่ผิด หลายคนบอกเหมือนถูกนักการเมืองหลอก สัญญามากมายไม่ได้เป็นจริง เศรษฐกิจไม่ได้โตขึ้น รายได้ไม่ได้มากขึ้น มีปัญหาสารพัด

แล้วรัฐบาลอังกฤษวันนี้ยังประกาศมาตรการเข้มงวดเรื่อง “ผู้อพยพ” โดยไม่ได้มองเห็นอีกด้านหนึ่งว่า อังกฤษต้องการแรงงานทั้งมีฝีมือและทั่วไป ซึ่งผู้อพยพจะช่วยได้มาก ดังที่เห็นในเยอรมนีและในอังกฤษเองก่อนออกจากอียู ที่ทำให้จีดีพีโต เพราะมีเงินหมุนเวียนจากรายรับรายจ่ายของผู้อพยพด้วย

เมื่อเยอรมนีรับผู้อพยพผู้ลี้ภัยไร้ทักษะ เด็ก เยาวชน รัฐบาลก็มีแผนงานพัฒนาคน ให้คนเยอรมันมีส่วนร่วมสนับสนุน ช่วยกันอุปถัมภ์การเรียนรู้ การพัฒนาทักษะเพื่อให้ผู้อพยพเหล่านั้นสามารถปรับตัวและอยู่ในสังคมเยอรมันได้ดี มีงานทำ และเป็นส่วนสำคัญให้เศรษฐกิจของประเทศ ในฝรั่งเศสและอีกหลายประเทศก็มีแผนการพัฒนาผู้อพยพคล้ายกัน แม้แต่สงครามขณะนี้ที่ชาวยูเครนอพยพออกจากประเทศหลายล้านคน ก็ล้วนเป็นคนมีความรู้ มีทักษะ มีฐานะเศรษฐกิจดี ที่ยังต้องการปรับตัวและเรียนรู้เพื่อทำงานใหม่

ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจึงไม่ใช่ภาระ แต่เป็นกำลังสำคัญให้ประเทศเยอรมนีสามารถรักษาสถานะผู้นำของอียู  พวกเขารู้ดีว่า ทุกคนมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ถ้าให้โอกาส ด้วยเหตุนี้ วันนี้จึงมีแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักธุรกิจ นักวิชาการ นักบริหาร ศิลปิน นักกีฬา ที่มาจาก “ผู้อพยพ” ทั้งเก่าและใหม่

ถ้าไม่นับเรื่องสงครามที่ทำให้เกิดการอพยพ การที่ประเทศพัฒนาประกาศรับ “ผู้อพยพ” ที่มีทักษะ คือพฤติกรรมของลัทธิอาณานิคมใหม่ (neo-colonialism) ที่มีรูปแบบใหม่ในการดูดเอาทรัพยากรคนจากประเทศกำลังพัฒนาไปหนุนนำเศรษฐกิจในประเทศของตน หลังจากที่ได้ดูดเอาทรัพยากรธรรมชาติไปจนหมด

ระหว่างและหลังสงครามเวียดนาม มีค่ายผู้อพยพผู้ลี้ภัยในไทยหลายแห่ง ชาวเวียดนาม กัมพูชา ลาว อยู่ในค่ายรอไปสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ประเทศเหล่านี้จะมาคัดเลือกเอาคนที่มีความรู้ มีทักษะไปหมด เอาแรงงานไร้ฝีมือไปด้วยส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็อยู่ในประเทศไทย เป็นชาวไร่ชาวนา กรรมกร เป็นส่วนใหญ่

การที่ยุโรปไม่รับเรือผู้อพยพจากแอฟริกา ปล่อยให้จมน้ำตายหลายหมื่นคน อเมริกาปฏิเสธกลุ่มผู้อพยพข้ามพรมแดน เพราะต้องการคัดเลือกคน และแยกระหว่าง “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” กับ “ผู้อพยพทางเศรษฐกิจ”

ลองนึกภาพนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลในสหรัฐฯที่ไปจากยุโรปเอเชีย บรรดา “หัวกะทิ” ในสาขาวิชาต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ดูซิลิคอนวัลเลย์ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงลงไปถึงพนักงานที่มีทักษะในงานดิจิทัลยุคใหม่ จะพบว่าเต็มไปด้วยคนเก่งจากประเทศกำลังพัฒนา

มองใกล้ๆ บ้านเรา สิงคโปร์ “ซื้อ” คนเก่ง ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกไปทำงาน ด้วยค่าจ้างสูงและแรงจูงใจหลายรูปแบบ คนเหล่านี้เป็น “ผู้อพยพ” ในหน้าที่การงาน  ในเวลาเดียวกัน สิงคโปร์รับแรงงานพื้นฐานเข้าไปทำงานเพื่อการพัฒนาบ้านเมือง การก่อสร้าง และงานที่คนสิงคโปร์ไม่ทำ

บ้านเราก็มีผู้อพยพทั้งถาวรและชั่วคราว โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านหลายล้านคน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ มาเรียนรู้จากการทำงาน

น่าเสียดายว่า เราไม่มีแผนพัฒนารองรับคนเหล่านี้  ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะแม้แต่คนไทยในวัยแรงงานกว่า 10 ล้านคนก็ไม่มีแผนพัฒนาฝีมืออย่างเป็นระบบ ให้พวกเขากลับมาเรียนรู้ให้ทันการเปลี่ยนแปลง

บ้านเรามีแผนดูดเงินคนต่างชาติให้มา “ซื้อที่ดิน” แต่ไม่มีแผนดึงดูดคนเก่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาทำงาน มาถ่ายทอดทักษะความรู้ให้คนไทย  แม้แต่คนไทยระดับหัวกะทิที่อยู่ต่างประเทศก็ไม่มีอะไรจูงใจให้กลับมาพัฒนาบ้านเมือง คนเก่งๆ หลายคนเรียนจบจึงเลือกทำงานในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่า

เราควรจะปรับการมอง “ผู้อพยพ” ในทุกรูปแบบ ทุกประเภทกันใหม่ รวมทั้งไม่ไล่คนไทยให้อพยพออกไป เพราะถ้าเป็นคนเก่ง ก็หาที่ไปได้ไม่ยาก