รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

บุคคลนี้ทำอาชีพอะไร? ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ บนพื้นที่สาธารณะหรือตามงานอีเวนต์ที่จัดขึ้นไม่ว่าเจ้าภาพหรือ
ผู้จัดจะเป็นใครก็ตามให้เต็มไปด้วยความราบรื่น สามารถดึงผู้ฟังหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดเวลา ผ่านการใช้ภาษาพูดเป็นหลักและภาษากายเป็นรอง สามารถผูกโยงประเด็นสำคัญ ๆ เข้าด้วยกัน พร้อม ๆ ไปกับสร้างแรงบันดาลใจ ส่งมอบความรู้ด้วยรอยยิ้มเสียงหัวเราะ และความสนุกให้กับผู้ฟังหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรม … คำตอบก็คือ วิทยากร! นั่นเองครับ

วิทยากรเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลหรือความรู้ด้วยการพูด การนำเสนอ หรือเทคนิคอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และทักษะต่าง ๆ รวมถึงการทำให้ผู้ฟังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

อยากเป็นวิทยากรมืออาชีพในยุคดิจิทัล...ต้องมีคุณสมบัติ “Lit Lit” หรือ “เจ๋ง เจ๋ง” อะไรบ้าง? นอกเหนือไปจากสกิลหลักของการพูดในที่สาธารณะที่ไม่ว่าคนจะมีมากหรือมีน้อยก็ไม่ใช่ปัญหา ก็คือ...ความช่างสังเกตสามารถจับอารมณ์หรือเซ้นส์คนฟังออกว่ายังอินหรือมีส่วนร่วมไปกับการพูดหรือบรรยายหรือเปล่า ความสามารถด้านการเป็นโค้ชหรือพี่เลี้ยงให้กับผู้ฟัง การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การผลิตและใช้สื่อหรือเอกสารที่ใช้ฝึกอบรมได้อย่างสบาย ๆ แต่มีคุณภาพ การมีหัวคิดสร้างสรรค์เกมและกิจกรรมที่ตรึงใจผู้ฟัง การสื่อสารด้วยความเข้าใจกับผู้จัดงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ความพร้อมรับคอมเมนต์ และข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการเป็นวิทยากรคราวต่อ ๆ ไป

รายได้ของวิทยากรมืออาชีพในสหราชอาณาจักรคิดเป็นเงินไทยก็ตกปีละประมาณ 1.14 ล้านบาท ส่วนวิทยากรมือใหม่สามารถทำเงินได้ราว ๆ ปีละ 8.47 แสนบาท

“วิทยากร” กับ “ครู” ต่างก็เป็นอาชีพที่ใช้ ‘Voice’ หรือเสียงในการสร้างรายได้ แต่สองอาชีพนี้มีจุดเหมือนและจุดต่างกันที่สำคัญคือ ครูทำหน้าที่สอนหรือให้ความรู้ภายใต้บริบทของสถานศึกษาอาจเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย มีกลุ่มผู้ฟังเป็น เด็กนักเรียนหรือนักศึกษา ส่วนผู้ที่เป็นวิทยากรจะทำหน้าที่เหมือนครูแต่ก้าวพ้นบริบทสถานศึกษา พบเห็นได้ทุกที่แม้แต่บนโลกออนไลน์ และกลุ่มผู้ฟังมีความแตกต่างและหลากหลายกว่า เช่น กลุ่มนักศึกษาผู้ใหญ่ กลุ่มมนุษย์เงินเดือน กลุ่มนักขายอิสระ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปที่ขึ้นกับหัวข้อ

กล่าวได้ว่า วิทยากรยุคดิจิทัลเป็นผู้นำก้าวหน้าสู่ผู้อื่น ช่วยแนะนำระบบและขั้นตอนการทำงานใหม่ พัฒนาทักษะใหม่ ช่วยเติมความรู้ใหม่ และพัฒนาบุคลากรเป็นรายบุคคล ภายใต้เงื่อนไขของเวลาและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แตกต่างจากคนที่เป็นครู วิทยากรมืออาชีพต้องมีความกระตือรือร้นในการช่วยเหลือผู้คน มีความรู้ในสาขาพูดหรือบรรยาย และต้องมีความมั่นใจสูงพอที่จะพูดในที่สาธารณะ

ทักษะและคุณลักษณะอื่น ๆ “ของที่ต้องมี” สำหรับที่วิทยากรในยุคดิจิทัล เช่น การเป็นตัวแทนที่ดี การวิเคราะห์ขั้นสูง การบริหารภาระงานตนเอง การจัดการเวลา การวิพากษ์/วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ความอดทนต่อความคิดเห็นเชิงลบหรือคำตำหนิ ความสามารถในการปรับตัวในทุกสถานการณ์ ความสามารถในการรับมือกับความกดดันด้วยความสงบและเยือกเย็น ความไม่ยอมแพ้หรือล้มเลิกกลางคัน เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่วิทยากรมืออาชีพยุคดิจิทัลควรตระหนักคือ คนฟังจะมีประสบการณ์มาบ้างแล้ว แต่ต้องการมา “ปัดฝุ่น” หรือมาเติมสิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมที่เคยรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลองค์ความรู้ทุกแขนงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังมีการเกิดขึ้นของความรู้ใหม่ ๆ อีกนับไม่ถ้วน

ดังนั้น วิทยากรต้องเข้าใจหลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ประกอบด้วยความอยากรู้ อยากดู แต่ต้องเข้าใจได้ง่าย มีเนื้อหาสาระ ฟังสนุกและมีอารมณ์ขัน ชวนให้คิด ท้าทายให้พิชิตปัญหา ชอบกิจกรรมกลุ่ม ไม่ต้องมาจ้ำจี้จ้ำไช เสนอข้อคิด/มุมมองใหม่ มอบความรู้ทั้งเชิงลึก & เชิงกว้างไปด้วยกัน และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเอาไปทำและใช้ได้จริง !!!

ณ วันนี้ มหาวิทยาลัยเก่าแก่และมีชื่อเสียงโดดเด่นด้านอาหาร ปฐมวัย ท่องเที่ยว และพยาบาล มหาวิทยาลัยที่ไม่เคยหยุด พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ “มหาวิทยาลัยสวนดุสิต” ตระหนักดีว่าเมื่อโลกขยับ มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับ จึงเปิดโอกาสให้ บุคลากรทุกคนทุกสายงานที่สนใจต้องการก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง แสวงหาศักยภาพใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน และเพิ่มขีดความสามารถตนเอง รวมถึงการสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงที่ดี ๆ ให้กับตนเองและองค์กร

นั่นคือ การเปิดหลักสูตรอบรม “วิทยากรมืออาชีพในยุคดิจิทัล” เพื่อพัฒนาและสร้าง “คนสวนดุสิต” ให้ก้าวข้ามพรมแดนการให้ความรู้ที่ไม่จำกัดเพียงในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยซึ่งจะเป็นอีกมิติหนึ่งของการส่งมอบคุณค่าคืนสู่สังคม...