รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
#itaewon 1.07 พันทวีต เกิดเหตุโศกนาฏกรรมช็อกโลกฉลองเทศกาลฮัลโลวีน 2022 แบบไม่สวมหน้ากากอนามัยกลางแจ้งครั้งแรกในกลางดึกของวันเสาร์ที่ 29 ต.ค. 2565 ย่านอิแทวอน ใจกลางกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้
ย่านอิแทวอนเป็นแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่โด่งดังแห่งหนึ่งของกรุงโซล เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในหมู่ชาวเกาหลีและชาวต่างชาติ โดยช่วงสุดสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยวนิยมไปฉลองปาร์ตี้หรือแฮงก์เอาต์กัน (Hang out) จำนวนมาก และจะยิ่งคึกคักมากสุดสุดเป็นพิเศษในงานเทศกาลฮาโลวีน
ล่าสุดมีรายงานยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการแล้ว 154 คน และตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากจำนวนตัวเลขผู้บาดเจ็บที่มีอาการสาหัสยังไม่แน่ชัด สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน อายุ 20-35 ปี เป็นชาวต่างชาติ 26 ราย รวมถึงคนไทยด้วย 1 ราย ‘ครูแบมแบม’ ส่วนจำนวนผู้บาดเจ็บ 83 คน และสูญหายอีกราว 2.6 พันคน
สาเหตุการเสียชีวิตที่อิแทวอนหลายฝ่ายระบุตรงกันว่าไม่ใช่เรื่อง ‘เหยียบกันตาย’ (Stampede) แต่เป็นเพราะ ‘ขาดอากาศหายใจ’ หรือ Compression Asphyxia คือการถูกกดทับจากภายนอกจนทำให้ขาดอากาศหายใจ หน้าอกขยายไม่ได้ทำให้หายใจเข้าไม่ได้และหมดสติ เมื่อคนขาดอากาศหายใจนานเกิน 3-5 นาที อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ การทำซีพีอาร์
(CPR - Cardiopulmonary resuscitation) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุที่กำลังจะหยุดหายใจหรือหัวใจกำลังจะหยุดเต้นให้กลับมาหายใจอีกครั้ง
นอกจากเหนือจากเหตุการณ์สะเทือนใจที่อิแทวอนแล้ว ยังมีเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ชาวโลกในทำนองเดียวกันอื่น ๆ เช่น
#อินโดนีเซีย ช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 1 ต.ค. 65 เกิดเหตุการณ์ ‘เหยียบกันตาย’ ของแฟนฟุตบอลในประเทศอินโดนีเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 125 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 180 คน ณ สนามกันจูรูฮัน เมืองมาลัง ในเกมฟุตบอลลีกของประเทศอินโดนีเซีย
คู่ระหว่าง อารีมา เอฟซี กับเปอร์เซบายา สุราบายา โดยเป็นเหตุความวุ่นวายหลังจากจบการแข่งขันที่เปอร์เซบายาเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะ 3-2
#อินเดีย 31 ต.ค. 65 สะพานแขวนเก่าแก่ที่รัฐคุชราต (Gujarat) ทางตะวันตกของอินเดีย ขาดถล่ม มีคนตกลงในแม่น้ำ 500 คน ยอดผู้เสียชีวิตกว่า 141 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก หรือผู้สูงอายุ โดยช่วงเวลาที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมมีประชาชนแออัดอยู่บนสะพานเป็นจำนวนมาก เพราะผู้คนกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลีหรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง
ระยะหลัง ๆ ไม่กี่ปีมานี้ จะได้ยินข่าวถี่ ๆ เกี่ยวกับการสูญเสียชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกันและสร้างความสลด
หดหู่ใจให้กับชาวโลกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเหตุกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู (7 ต.ค. 65) ไฟไหม้ผับเมาท์เทน บี
อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี (4 ส.ค. 65) เทศกาลดนตรีที่ฮูสตัน รัฐเทกซัส (6 พ.ย. 64) หรือแม้กระทั่งการไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียก็เคยเกิดเหตุเหยียบกันตายเป็นจำนวนมากถึง 3 ครั้ง/ปี คือปี 2537 (ตาย 270 คน) ปี 2540 (ตาย 340 คน) และ
ปี 2549 (ตาย 364 คน)
เพื่อเป็นการเซฟตนเองเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ ‘Crowd Crush’ ที่มีฝูงชนจำนวนมาก ๆ มารวมตัวกันบนพื้นที่แคบ ๆ และจำกัด
ให้เกิดความปลอดภัยทั้งทรัพย์สินและชีวิต มีข้อแนะนำ ดังนี้ (ดูเพิ่มเติมที่ The Common Thread - https://www.youtube.com/
watch?v=F3o5l6WERnM)
1. มองหาทางออกฉุกเฉินทุกครั้ง เมื่อต้องเข้าร่วมงานอีเวนต์ต่าง ๆ เพราะหากเกิดเหตุไม่พึ่งประสงค์ทุกคนจะกรูกันไปยังทางเข้า
2. พาตัวเองออกมาจากจุดที่แออัด บีบอัดและแน่น พยายามตั้งสติและหาทางออกมาให้เร็วที่สุด
3. หากออกมาจากสถานการณ์นั้นไม่ได้ พยายามรักษาสมดุลการทรงตัวไม่ให้ล้ม เพราะหากล้มโอกาสลุกแทบไม่มีเลย
4. พยายามยืดตัว ทำให้ร่างกายขยายตัวเต็มที่ และควบคุมการหายใจให้เป็นปกติมากที่สุด
5. ยกแขนสองข้างตั้งการ์ดที่หน้าอก เพื่อป้องกันอวัยวะภายใน การตั้งการ์ดควรทิ้งระยะระหว่างแขนกับหน้าอกเล็กน้อยเพื่อให้ปอดขยายตัวได้เต็มที่
6. อย่าฝืนร่างกายไปในทิศทางอื่นเพราะอาจทำให้ล้ม ให้ปล่อยตัวให้ไหลไปตามกระแสผู้คน พร้อมรักษาการทรงตัวไม่ให้ล้ม
7. ระมัดระวังตัวเองไม่ให้ถูกเบียดจนไหลไปติดกับกำแพง รั้ว เสา เพราะเป็นจุดที่ทำให้เคลื่อนที่ไม่ได้ และจะทำให้ถูกแรงบีบอัดมหาศาลจากฝูงชน
โศกนาฏกรรมอิแทวอนและอีกหลาย ๆ จุด นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานอีเวนต์ใหญ่ ๆ มีฝูงคนจำนวนมากมายมารวมตัวกันเพื่อกิจของศาสนาหรือกิจบันเทิงก็ตามแต่ ต้องตระหนักทุกครั้งถึงความเสี่ยงหรือภัยร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้น จนนำไปสู่ความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตผู้คนอันประเมินค่ามิได้
ท้ายนี้ ขอบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกาหลีจงเป็นบทเรียนที่จะสร้างความเตรียมพร้อมให้กับฝั่งไทยในการจัดงานต่าง ๆ ให้ได้เรียนรู้ วางแผน และป้องกันล่วงหน้า “No Tricks just Treats” ครับ...