สยามรัฐผลัดใบ
ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
ธนาคารโลกประเมินความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศปีนี้กระโดดขึ้นมาถึง 3.10 % เพราะการลงทุนภาครัฐในการสร้าง infrastructure ด้านคมนาคม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ไปสู่ 4.0 ในหลายๆ มาตรการที่สะท้อนเป็นเป้าหมายการเป็นประเทศไทย 4.0 ในอีก 20 ปีข้างหน้า
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “Value – Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 – 13 – 14 -15 ติดต่อกันรองรับกับประเทศไทย 4.0 เพียงแค่แผนก็สร้างความมั่นใจในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้แล้วซึ่งรัฐบาลได้ขับเคลื่อนด้วยมาตรการเอาจริงเอาจังเช่นนี้ จึงสะท้อนให้เห็นอนาคต ซึ่งธนาคารโลกได้วิเคราะห์ด้วยข้อมูลและปัจจัยรอบด้าน จึงมั่นใจประกาศผลการประเมินเป็นข่าวไปทั่วโลก
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอวิสัยทัศน์ในการใช้เครื่องมือของ “เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจยุคใหม่” หรือ New Engines of Growth โดยใช้ความได้เปรียบใน “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” ที่เป็นรากเหง้าของทรัพยากรที่หลากหลายให้เกิด “นวัตกรรม” มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
วิสัยทัศน์ของ ดร.สุวิทย์ เป็นแนวทางที่ถูกทาง เพราะระบบเศรษฐกิจไทยหรือโครงสร้างเดิมๆ ยังใช้แค่ความได้เปรียบด้านแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านแต่ไม่ได้นำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็น Value Creation ยังคงเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีมากกว่าผู้สร้างเทคโนโลยีเหมือนกับสิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ที่พัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยรายได้ต่อหัวของประชากรเกินมาตรฐานโลกที่กำหนดให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว
อย่างไรก็ตามการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นทุนมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนประเทศคือปัจจัยที่สำคัญสูงสุดต้องพัฒนาให้ได้ก่อนเพื่อจะสร้างวิทยาการให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อการวิจัยและพัฒนาในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม
การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบตั้งแต่ ก่อนประถมศึกษาไปถึงอุดมศึกษาจึงต้องทำให้สำเร็จตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อไปสร้างปลายน้ำให้เป็นประเทศไทย 4.0 หากยังมาตั้งโจทย์ปรับโครงสร้างแยกเป็นกระทรวงอุดมศึกษา กระทรวงขั้นพื้นฐาน หรือกระทรวงอาชีวศึกษากันอยู่ก็จะเข้าระบบเดิมใน พรบ.ปฏิรูปการศึกษา 2542 ที่เห็นแค่โครงสร้าง แต่เนื้อหาคุณภาพคนไม่กระเตื้อง กลับจะตกต่ำลงถ้าผลสัมฤทธิ์ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เห็นๆ กันอยู่
ญี่ปุ่นเขาเตือนคนของเขาว่าอุตสาหกรรม 4.0 เกิดขึ้นจะกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชากรด้วย สังคมยุค 5.0 ที่สังคมจะเต็มไปด้วยหุ่นยนต์ นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์ สังคมต้องปรับตัวไปอยู่ในยุคสังคม 5.0 อย่างมีความสุขได้อย่างไร
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 กันทั้งระบบ จะส่งผลไปสู่การเจริญเติบโตที่ต้องเป็น inclusive growth กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คงต้องปรับยุทธศาสตร์ให้สังคมไทยรองรับกับสังคมยุค 5.0 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตควบคู่กันไปด้วย