รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต           

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ‘ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อได้ แม้โลกจะเสี่ยงเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเป็นผลจากมาตรการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีจุดเริ่มต้น จากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นระยะ ๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (Fed – Federal Reserve System)

สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดของไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ท่านชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงมากขึ้น โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 จีดีพีจะโตขึ้น 3.3% และปี 2566 จะโตขึ้น 3.8% โดยปัจจัยหลักที่ ผลักให้จีดีพีไทยเติบโตคือ การบริโภคของภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยว!!!

การประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 เท่ากับ 9.5 ล้านคน และปี 2566 เท่ากับ 21 ล้านคน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงสูงต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% กล่าวคือ ในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อจะแตะอยู่ที่ 2.6% และระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่บางกลุ่มจะมีความเปราะบางทางการเงิน (ฟังเพิ่มเติมที่ - https://www.youtube.com/watch?v=pGg5hXvIEJg)  

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็ให้ข้อมูลสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 เป็นไปในทิศทางบวกโดยคาดว่าการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาสดใสเหมือนก่อนการะบาดของโควิด-19 ดังสะท้อนได้จากตัวเลข 7 เดือนแรกของ ปี 2565 ที่ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางของไทยฟื้นตัวอย่างเด่นชัด มีผู้ประกอบการขอจดทะเบียนธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 169%  และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 226% ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยสะสมกว่า 4.3 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน (ม.ค.-ก.ค. 65)

แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบโดยตรงและหนักมากเป็นประวัติการณ์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวลดลงอย่างมากและแปรผันตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการของรัฐทั้ง ฝั่งไทยและต่างประเทศ และแม้ว่าสถานการณ์โดยรวมขณะนี้จะดีขึ้นแล้ว แต่ภาคท่องเที่ยวไทยต้องมีการปรับตัวใหม่หลังโควิด-19 เนื่องจากยังมีสิ่งที่ต้องจับตาหรือเฝ้าระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ 1) โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) รวมถึงการกลายพันธุ์ของโควิด-19 2) ภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลกที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ตกต่ำ 3) ภาวะโลกรวน (Climate Change) และ 4) สถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อ ด้วยปัจจัยทั้ง 4 ประการนี้มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยว รวมถึง ความไม่พร้อมหรือความไม่ปลอดภัยของสถานที่ท่องเที่ยว (อ่านเพิ่มเติมที่https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/25650392TheKnowledge_Travel...)

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวก็ต้องไม่พลาดที่จะปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นการปรับโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ด้วยการหาโอกาสใหม่รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการแบบใหม่ ๆ เช่น ต้องการทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กัน “กลุ่ม Staycation” หรือ “กลุ่ม Workation” การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวพร้อมปฏิบัติธรรม รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มใหม่ เช่น อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ รวมถึงการบริหารจัดการ ‘บุคลากร’ และ ‘ต้นทุน’ อย่างยืดหยุ่น เพราะช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง แรงงานด้านการท่องเที่ยวต้องตกงานและหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายธุรกิจท่องเที่ยว ดีดตัวดีขึ้นกลับขาดแคลนคนทำงานภาคท่องเที่ยวอย่างหนัก ธุรกิจท่องเที่ยวจึงต้องมีแผนสำรองเพื่อรองมือกับสถานการณ์ที่ เดายากเพื่อป้องกันการพลาดโอกาสงาม ๆ

เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 สัปดาห์นี้สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจึงดำเนินการสำรวจความคิดเห็นด้านการท่องเที่ยวหัวข้อ “คำตอบท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19” ในหลากหลายประเด็น ได้แก่ 1) หลังจากประกาศยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ท่านคิดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยหลังในช่วงสิ้นปีนี้  (ต.ค. - ธ.ค .65) จะเป็นอย่างไร? 2) จากการที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ท่านมีการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้หรือไม่ 3) ท่านสนใจท่องเที่ยวในรูปแบบใด 4) ท่านคิดว่าจังหวัดใดน่าท่องเที่ยวมากที่สุดใน ช่วงสิ้นปี (ต.ค. - ธ.ค.65) 5) ปัจจัยใดที่จะทำให้ท่านเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น และ 6) หลังจากสถานการณ์ โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลควรเร่งดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไร 

ท่านที่สนใจขอเชิญติดตามอ่านผลโพลที่จะเผยแพร่ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ในทุกช่องทางบนสื่อเก่าและสื่อใหม่ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจภาคท่องเที่ยวไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง!!! สำหรับการนำข้อมูลผลโพลไปใช้ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการบริหารจัดการโดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน เพื่อให้การกลับคืนฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และแข็งแกร่งกว่าเก่า พร้อมฉุดเศรษฐกิจไทยให้สดใสตามไปด้วยครับ...