รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ความหมายของคำว่า “พรรคการเมือง” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (มาตรา 4) หมายความว่า ‘คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกันมารวมกัน เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง (2563) อธิบายว่าพรรคการเมืองมีลักษณะพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1) เป็นกลุ่มบุคคลที่เข้ามารวมตัวกัน ร่วมมือกัน จัดตั้งเป็นสมาคมองค์กร โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้ต้องมีการจัดตั้งและกำหนดกฎเกณฑ์ในการเข้ามารวมตัวกัน 2) มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน โดยสมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นของตนเองในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในแนวทางกว้าง ๆ คล้าย ๆ กัน และ 3) มีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ หรือการเข้าบริหารประเทศ
วิวัฒน์ เอี่ยมไพรวัน (2544) กล่าวว่าพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีความสำคัญ 4 ประการ คือ 1) เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอุดมการณ์และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง 2) เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับประชาชน 3) ช่วยสนับสนุนกกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และ 4) เป็นแหล่งสร้างผู้นำทางการเมือง (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/drive_politic/download/art...)
การย้ายพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกพรรคการเมือง แต่ประเทศตะวันตกจะไม่ค่อยพบมากนัก โดยสาเหตุหลัก ๆ ของการย้ายพรรคการเมืองก็เป็นเพราะอุดมการณ์และนโยบายแตกต่างกันเกินไป ซึ่งตรงข้ามกับปรากฏการณ์ การย้ายพรรคการเมืองของประเทศไทยที่เกิดขึ้นบ่อยมากโดยเฉพาะก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการพาดหัวข่าวของสื่อ ต่าง ๆ อาทิ
‘ก่อนถึงเลือกตั้งใหญ่ การเมืองมี “ฝุ่นตลบ” ย้ายพรรค-เปลี่ยนขั้ว มากมาย’ (WorkpointTODAY)
‘ข่าวสะพัด ผึ้งแตกรัง ส.ส.จ่อย้ายพรรค’ (มติชน)
‘จ่อซบเพื่อไทยแน่ “ธรรมนัส” ทิ้งพรรค เพื่อไทยเปิดศูนย์เลือกตั้ง’ (ไทยรัฐ)
‘บิ๊กป้อม” ยันพปชร.เหนียวแน่นไม่มีส.ส.ย้ายพรรค บอกแค่ข่าวลือ ไปพูดกันเอง’ (mgronline.com)
‘100 เมตรสุดท้าย ย้ายพรรค’ (ThaiPBS)
‘เปิดบัญชีรายชื่อนักเลือกตั้งถูก “ดูด” ถูก “ดัน” ไปอยู่พรรคไหนบ้าง’ (BBC)
‘"สามารถ" ชี้ถ้าส.ส.พปชร.รู้จัก "บิ๊กป้อม" ดีจะไม่ทิ้งพรรค มั่นใจลต.ครั้งหน้ากวาดมากกว่า 8 ล้านเสียง’ (สยามรัฐ)
เหตุผลสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ของการย้ายพรรคการเมืองก็เพื่อหวังผลให้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือได้เข้าร่วมเป็นฝ่ายรัฐบาลเพื่อปูทางเข้าสู่ตำแหน่งบริหารหรือเข้าร่วมครม.ไม่ว่าจะเป็นรมต.หรือรมช.กระทรวงต่าง ๆ นอกจากนี้การย้ายพรรคการเมืองของสังคมตะวันตกส่วนใหญ่แล้วสามารถกระทำได้อย่างอิสระ แต่สังคมไทยแม้ว่าจะกระทำได้อย่างอิสระก็จริงอยู่ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่เขียนไว้ตามตัวบทกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ
“นักการเมืองสามารถย้ายพรรคได้โดยอิสระ แต่จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว และสังกัดพรรคการเมืองใหม่อย่างน้อย 90 วัน (นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง) จึงจะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การย้ายพรรค นอกจากจะทำให้สูญเสียสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรทันทีที่ลาออกจากพรรคเดิมแล้ว ยังจะต้องเป็นสมาชิกพรรคใหม่ก่อนการสิ้นสุดอายุสภาไม่ต่ำกว่า 45 วัน หรือก่อนการยุบสภาไม่น้อยกว่า 30 วัน มิฉะนั้นก็จะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยเหตุที่สังกัดพรรคใหม่ไม่ถึง 90 วัน ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุให้การเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นภายใน 45 วัน หลังจากอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือภายใน 60 วันหลังจากการยุบสภาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงย้ายพรรคได้ยากขึ้นในยุคปัจจุบัน”
เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายใกล้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ นักการเมือง/ส.ส.ต่างวิ่งวุ่น ไขว่คว้าหาบ้านหลังใหม่ซบ หวังฝากอนาคตที่สวย สดใส และดีกว่า เพื่อกรุยทางสู่บิ๊กเนมทางการเมือง ระยะนี้จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นข่าวจริง ข่าวลือ ข่าวปลอมกันเป็นรายวันของบรรดานักการเมือง/ส.ส.ตาม “ตลาดนัดนักการเมือง” จนเกิดสภาวะ ‘ฝุ่นตลบ’ ทางการเมืองไปโหม้ด แล้วพี่น้องประชาชนชาวไทยจะตัดสินใจเลือกใครบน ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ กันล่ะครับ...