รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ของแพงดูจากอะไร? …อัตราเงินเฟ้อ สิครับ...
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นถึง 7.86% ถือเป็นสถิติอัตราเงินเฟ้อไทยสูงที่สุดในรอบ 14 ปีนับจากเดือนกรกฎาคมปี 2551 ที่อัตราเงินเฟ้อเคยสูงมากถึง 9.20 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการฟื้นตัวจากวิกฤตซับไพรม์หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์จากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกาและส่งผลกระทบลามไปทั่วโลก
เงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่บอกให้รู้ว่าราคาสินค้า (เช่น อาหาร เสื้อผ้า แก๊สหุงต้ม) และบริการ (เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล) เพิ่มขึ้นเท่าไรแล้วเมื่อเวลาผ่านไปขณะหนึ่ง ๆ การวัดเงินเฟ้อดูจากราคาของสินค้าและบริการ ณ ปัจจุบัน แล้วนำไปเปรียบเทียบกับราคาของสินค้าและบริการในช่วงเดียวกันของหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ”
หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 8% ก็จะหมายความว่าราคาของสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยในปัจจุบันสูงกว่าราคาเมื่อปีที่แล้วอยู่ 8% ตัวอย่างเช่น ถ้าแก๊สหุงต้ม 1 ถัง 15 กก. ราคา 400 บาทในปีที่แล้ว แต่ปีนี้ราคาเพิ่มเป็น 432 บาท หมายความว่าแก๊สหุงต้มราคาเพิ่มขึ้น 8%
สำหรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2565 ที่กำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อช่วงปลายปี 2564 คือ 1-3% แต่ ณ วันนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อไทยช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีได้ทะลุออกนอกกรอบตัวเลขขอบบนสุดที่
ประมาณการไปแล้ว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลผ่านจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาลและประชาชน โดยระบุถึง
สาเหตุหลักที่เงินฟ้อไทยสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นผลพวงจากราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ แก๊สหุงต้ม และค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงหลังของปี 2565 และจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566
ขณะเดียวกัน นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ก็ประเมินสถานการณ์แนวโน้ม
เงินเฟ้อไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทยคือ “คาดว่าเงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือน ส.ค. 2565 ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 7.86% และจากนี้ไปอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ทำให้เงินเฟ้อช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ไม่น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้จะเพิ่มไม่เกิน 6.5%...”
เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูง ของแพง ส่งผลกระทบกับใครมากที่สุด? ...ไม่พ้น...คนจน สิครับ...
เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงหรือผันผวน จะสร้างความลำบากให้กับธุรกิจในการตั้งราคาสินค้าและบริการ และเช่นเดียวกันจะสร้าง
ความลำบากให้กับคนทั่วไปในการวางแผนจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนจนหรือผู้ที่มีรายได้น้อยจำนวนไม่ต่ำกว่า 18.45 ล้านราย ตามตัวเลขโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ของจริงมากกว่านี้แน่ ๆ ครับ!!!)
เมื่อภาวะตลาดแรงงานไทยในปัจจุบันยังมีความเปราะบาง มีแรงงานกว่า 6 แสนคนที่ยังตกงาน รายได้เฉลี่ยลดลง และมีแรงงานจำนวนมากต้องออกจากงานประจำและหันมาทำอาชีพอิสระที่รายได้ต่ำกว่า ไม่แน่นอน และขาดความมั่นคงทางรายได้ เมื่อรายได้จาก
การจ้างงานยังคงอ่อนไหวมากมายเช่นนี้ ประกอบกับตัวเลขเงินเฟ้อก็เพิ่มสูงขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคือรายได้ที่แท้จริงหรือกำลังซื้อของแรงงานและครัวเรือนหดตัวลง
ดังจะเห็นได้จากตัวเลขรายได้ที่แท้จริงหักผลเงินเฟ้อของแรงงานเฉพาะในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2564 หดตัวถึง -10.3%
ส่วนภาวะเงินเฟ้อปี 2565 ที่สูงกว่าปีที่แล้วก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะรายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะล่าช้าออกไปอีก
เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนคนไทยในยุคข้าวของและบริการที่แพงทั่วแผ่นดิน สวนดุสิตโพลจึงตั้งประเด็นคำถามที่หลากหลายสำรวจความความคิดเห็นของประชาชนคนไทย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการปัญหาข้าวของแพง หาทางเพิ่มรายได้ และลดจำนวนคนจน เช่น ณ วันนี้ รายได้ของท่านเพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่ สินค้าประเภทใดที่ท่านคิดว่า “แพง” เกินกว่าที่จะรับได้ ท่านอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือกรณีของแพง ท่านคิดอย่างไรกับกรณี “คนจน” ในประเทศไทยเพิ่มเป็น “20 ล้านคน” หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ท่านอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือกรณี “คนจน” ท่านคิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหา “คนจน” ได้หรือไม่ และท่านคิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหา “ของแพง” ได้หรือไม่...
โปรดติดตาม...ผลโพลของสวนดุสิตโพลในสุดสัปดาห์นี้ ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งครับ...