เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

คงไม่แปลกใจที่ว่ากันว่า สิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในศตวรรษแรกๆ ของยุโรปผ่านยุคกลางมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและยุคใหม่ คือ เครื่องเทศ ที่เปรียบได้กับน้ำมันในโลกวันนี้ตั้งแต่ร้อยปีเศษที่ผ่านมา

เครื่องเทศได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและหน้าตาในหมู่คนชั้นสูง ที่ตายไปยังเอาเครื่องเทศเครื่องหอมลงโลงไปด้วย  เครื่องเทศทำให้พ่อค้าวาณิชยุโรปร่ำรวยในยุคกลางและต่อมา เป็นฐานเศรษฐกิจให้นครรัฐใหญ่อย่างเวนิส เจนัว และปีซ่า

เมื่อจักรวรรดิออตโตมันของอิสลามมีชัยเหนือจักรวรรดิโรมันตะวันออกในปี 1453 โดยยึดครองนครคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบูลในปัจจุบัน) และควบคุมเส้นทางสายไหมที่เชื่อมเอเชียกับยุโรป ขึ้นภาษีสินค้าผ่านแดนโดยเฉพาะเครื่องเทศสูงมาก ทำให้สเปนกับโปรตุเกสต้องหาเส้นทางใหม่เพื่อไปอินเดียและเอเชีย

นั่นคือส่วนหนึ่งของเบื้องหลังการเดินเรือสำรวจโลกของคริสโตเฟอร์ โคลอมบัส ที่ไปพบอเมริกา วาสโก ดากามา เดินเรืออ้อมแหลมกู้ดโฮป และเฟอร์ดินันด์ แมกกัลลัน ที่อ้อมอเมริกาใต้ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปเอเชีย บุคคลทั้งสามเดินเรือด้วยความเชื่อว่าจะไปถึงอินเดียและเอเชียได้โดยไม่ต้องผ่านอาณาจักรออตโตมัน ถึงไปเรียกคนพื้นเมืองอเมริกาว่า “อินเดียนแดง” นึกว่าไปถึงอินเดียแล้ว

เครื่องเทศก็เหตุผลหนึ่ง แต่คงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และศาสนารวมกัน อย่างการไปพบขุมทรัพย์ที่คาดไม่ถึงเช่นทองคำ เงิน ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะในอเมริกาใต้ ที่สเปน โปร์ตุเกส เข้าไปทำลายชีวิตคนพื้นเมืองและอารยธรรมอันเก่าแก่ของพวกเขา ขนเอาทองคำ เงิน และทรัพย์สินมีค่าต่างๆ กลับไปยุโรป

ทางเอเชียนั้นมุ่งไปหาเครื่องเทศที่หมู่เกาะโมลุกกะ ส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย ที่ขึ้นชื่อว่ามีเครื่องเทศมากมายที่ตะวันตกต้องการอย่างพริกไทยดำ ขมิ้น ขิง กระวาน กานพลู จันทน์เทศ อบเชย หญ้าฝรั่น เป็นต้น

ชาวดัตช์ก่อตั้งบริษัทอิสท์อินดิส ค้าขายเครื่องเทศและสินค้าอื่นๆ จากอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา โดยเฉพาะเครื่องเทศนั้นทำกำไรมหาศาล เพราะราคาขายที่ยุโรปสูงกว่าที่ซื้อจากเอเชียมาก การที่เครื่องเทศมีค่าสูงเช่นนี้เพราะไม่ได้เป็นเพียงเครื่องปรุงอาหารให้มีรสชาติอร่อย และเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและหน้าตาทางสังคม แต่เป็นยาสมุนไพร ป้องกันและรักษาอาการเจ็บป่วย

 ในอารยธรรมเก่าแก่ของจีน เครื่องสังคโลก ผ้าไหม และชา เป็นผลิตภัณฑ์ฟุ่มเฟือยราคาแพงที่คนยุโรปแสวงหา และมาซื้อไปขายตั้งแต่ยุคกลาง ดังการเดินทางของมาร์โก โปโล และพ่อค้าตามทางสายไหม

อังกฤษติดใจชา และใช้ “เงิน” (silver) มากเพื่อซื้อชาและสินค้าจากเมืองจีนและตะวันออก เมื่อเงินที่เป็นทุนสำรองร่อยหรอก็พยายามหามาเพิ่ม วิธีหนึ่งคือนำฝิ่นเข้าไปขายในเมืองจีน ซึ่งก็มีโปรตุเกสที่นำเข้าไปอยู่แล้วเพื่อเป็นยา แต่ไม่มาก อังกฤษถือโอกาสนำเข้าไปมากกว่าเป็นหลายสิบเท่า ด้านหนึ่งก็เพื่อบ่อนทำลายสังคมของจีน “หาเรื่อง” ทะเลาะและทำสงครามเพื่อครอบครองจีน ซึ่งก็ได้ผล

ฝิ่นทำให้จีนอ่อนแอลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม คนจีนติดฝิ่น สุขภาพย่ำแย่ไม่เป็นอันทำงาน อังกฤษส่งเสริมการปลูกฝิ่นในอินเดีย และนำเข้าจีนมากจนจีนทนไม่ได้ ห้ามการค้าฝิ่น ซึ่งอังกฤษยืนยัน “การค้าเสรี” จึงกลายเป็นข้อพิพาท เป็น “สงครามฝิ่น” ในที่สุด

จีนสู้เทคโนโลยีอังกฤษไม่ได้ พ่ายแพ้ ยกฮ่องกงให้อังกฤษไปครอบครองกว่า 150 ปี (1841-1997) และเปิดเมืองท่าสำคัญให้อังกฤษเข้าไปอยู่และค้าขาย อย่าง กว่างโจ เซี่ยงไฮ้ (ซึ่งมีป้ายติดทางเข้าเขตคนอังกฤษว่า “หมากับคนจีนห้ามเข้า”) ชากับฝิ่นจึงเป็น “สาเหตุ” สำคัญของสงคราม ซึ่งเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษใช้เพื่อครอบครองจีน

อังกฤษได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง นำฝิ่นถูกจากอินเดียไปขายแพงในเมืองจีน ซื้อชาราคาถูกจากจีนไปขายแพงที่อังกฤษและในยุโรป นำไปเผยแพร่ปลูกที่อินเดียและศรีลังกา อาณานิคมของตนเอง

เป็นเกล็ดประวัติศาสตร์โลกที่เครื่องเทศ ชา และฝิ่น ไม่ใช่แค่เรื่องของการบริโภคและค้าขาย แต่เป็นเรื่องการเมือง เป็นเครื่องมือเพื่อขยายอำนาจ

เช่นเดียวกับปัญหายาเสพติดในโลกปัจจุบัน ที่ไม่อาจแยกจากการเมืองได้ แหล่งผลิตใหญ่ในเอเชียและลาตินอเมริกา ที่บรรดา “นักรบกองโจร” “กบฏ” และ “นักสู้กู้ชาติ” ในสองทวีปนี้ใช้เพื่อแลกกับอาวุธและปัจจัยในการคงอยู่และสู้รบ

ยาเสพติดชนิดต่างๆ เป็นผลประโยชน์ที่เปิดเผยและลี้ลับของอำนาจรัฐและอำนาจประชาชน เป็นผลให้การปราบปรามยาเสพติดในโลกล้มเหลว ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายที่ประเทศต่างๆ ประกาศร่วมมือกัน แต่การเน้นที่ปราบปรามผู้ผลิตผู้ค้า โดยไม่ได้สร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้ประชาชนเพียงพอ ไม่สามารถหยุดยั้งยาเสพติดได้

เหมือนภาพยนตร์โด่งดังเรื่อง “Traffic” ที่พูดกันในนั้นว่า การออกกฎหมายใหม่เพื่อปราบปรามยาเสพติดเป็นโอกาสให้ “เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวยขึ้น แล้วจะทำให้ยาเสพติดหมดไปได้อย่างไร”

ด้วยเหตุนี้ นายกุสตาโว เปโตร ประธานาธิบดีของโคลอมเบีย จึงเรียกร้องให้นานาชาติปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหายาเสพติด เพราะที่ทำกันมา 50 ปีนั้นล้มเหลว คนค้ายาติดยาล้นคุก จำนวนคนติดคุกเพราะยาเสพติดหลายประเทศสูงถึงร้อยละ 80 คนค้ายาไม่ได้ลดลง และรวยยิ่งขึ้น

วันนี้ที่บ้านเรา เครื่องเทศ สมุนไพร ฟ้าทะลายโจร กัญชา และชา เป็น “อาหาร” และ “ยา” ได้ดี แต่ก็มีปัญหากลายเป็นเรื่องการเมือง จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจโดยอาศัยกัญชา

ความจริง ปัญหาใหญ่กว่านั้น คือการครอบงำของบริษัทยาและแพทย์พาณิชย์ อำนาจและผลประโยชน์ของฝ่ายธุรกิจ ราชการและการเมืองที่ผนึกพลังกัน รัฐละเลยการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ซึ่งก็คือภูมิคุ้มกันของสังคม โดยบ่อนทำลายตัวเองด้วยปัญหาคอร์รัปชันและการขาดธรรมาภิบาล