เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

“เจ้าผู้ปกครอง” (the Prince) เป็นตำราของ “ผู้นำ” มา 500 ปีแบบไม่มีเสื่อมคลายได้อย่างไร หรือเพราะมักเกียแวลลี ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นักปรัชญา แต่เป็น “ข้าราชการ” ที่นครรัฐฟลอเรนซ์ที่มีประสบการณ์ และเอา “ความจริง” มาพูดอย่างตรงไปตรงมา ร้อยเรียงเป็นหลักการที่ “ปฏิบัติ” ได้ เพราะ “ทำกันอยู่แล้ว”

เขาบอกว่า ผู้ปกครองต้องแสวงอำนาจให้ได้มากที่สุด เพราะเป้าหมายสุดท้าย คือ รัฏฐาธิปัตย์ รัฐเป็นอำนาจสูงสุด ผู้ปกครองคือรัฏฐาธิปัตย์เอง จึงต้องมีอำนาจมากที่สุด ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใด ด้วยกำลัง ความรุนแรง ด้วยเล่ห์กล หรือการโกหกหลอกลวง

เมื่อได้มาแล้ว ผู้นำต้องทำตัวเป็นสิงโต ต้องกล้าหาญและมีพลังอำนาจ พร้อมบารมีที่คนเกรงกลัว ไม่ต้องให้ประชาชนรักก็ได้ เพราะเมื่อเกิดปัญหาประชาชนจะเกลียดและตีจาก ต้องให้ประชาชนเกรงกลัวมากกว่า เพราะแม้เกิดปัญหาก็หนีไปไหนไม่ได้

ผู้นำต้องเป็นเหมือนหมาจิ้งจอก ที่มองเห็นอะไรแต่ไกล ต้องเจ้าเล่ห์ ฉลาดแกมโกงโดยไม่ต้องอายใคร มีอุบายมีกลยุทธ์ในการรบ การรุกและการป้องกัน การบริหารบ้านเมือง การปกครองไพร่ฟ้าประชาชนและคนใกล้ชิด ไม่ว่ายามสงบหรือยามมีภัย ไม่ให้คนตีจากหักหลัง

ผู้นำต้องเป็นทั้งสิงโตและหมาจิ้งจอก เพราะสิงโตไม่ฉลาดเฉลียวจึงมักตกหลุมพราง ขณะที่หมาจิ้งจอกจะรู้จักกับดักหลุมพราง แต่หมาจิ้งจอกก็ไม่มีกำลังพอเพื่อต่อสู้กับสัตว์ที่ใหญ่กว่า ต้องอาศัยสิงโต

มักเกียแวลลีมองอำนาจรัฐเหนืออำนาจอื่นใด ไม่ว่าศาสนา วิชาการ แยกการเมืองจากศาสนา ผู้ปกครองที่ประสบความสำเร็จต้องไม่ยึดมาตรฐานศีลธรรม เพราะรัฐศาสตร์ที่ปฏิบัติได้จริงต้องสร้างมาตรฐานตัวเอง เขาบอกว่า ที่ผ่านมา ผู้นำไม่ว่าทางการเมืองหรือทางศาสนาล้วนแต่ “หน้าไหว้หลังหลอก” (hypocrite) อ้างอุดมคติแต่ทำตรงกันข้าม เล่นพรรคเล่นพวก แสวงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม

ในเวลาเดียวกัน มักเกียแวลลีก็มองว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีคุณธรรม ไม่รู้คุณ โกหก หลอกลวง ไม่จริงใจ เจ้าผู้ปกครองที่เป็นผู้นำที่ดีจึงต้องโกหกเก่ง เพื่อจะได้รักษาอำนาจไว้ และทำให้คนกลัว

มักเกียแวลลีบอกว่า ผู้ปกครองต้องสองมาตรฐาน อันหนึ่งสำหรับประชาชน อันหนึ่งสำหรับผู้ปกครอง ทำได้ทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจ เพราะถ้ามีจริยธรรมตามมาตรฐานประชาชนที่ตนอยากให้มีก็จะรักษาอำนาจไว้ไม่ได้ ผิดถูกก็อีกมาตรฐานหนึ่ง จึงต้องทำทุกอย่างถ้าจำเป็น แม้ต้องฆ่าคน ฆ่าหมู่ ไม่รู้จักคำว่า “สิทธิ”

แม้ว่าเจ้าผู้ปกครองต้องเน้นให้ประชาชนกลัวมากกว่าเกลียด แต่มักเกียแวลลีก็แนะนำให้สร้างอารมณ์ร่วมของประชาชนเพื่อเป้าหมายของรัฐ โดยตัวผู้นำเองต้องเย็น นิ่งและรู้จักจังหวะเวลาในการดำเนินการต่างๆ เขาแนะนำให้มีสัญชาตญาณเหมือนสัตว์นักล่าที่รอเหยื่อด้วยความสงบนิ่ง

มักเกียแวลลีเคยมีหน้าที่การงานใกล้ชิดกับผู้นำอำนาจในยุคนั้น เขาเห็นว่า เจ้าผู้ปกครองที่ฉลาดรู้ดีว่าจะไม่มีทางรอบรู้ทุกเรื่อง จึงต้องมีคนฉลาดเป็นที่ปรึกษาไว้ใกล้ตัว ผู้ปกครองที่หลงตัวเอง หลงอำนาจ คิดเองตัดสินใจเองทุกเรื่อง ที่สุดก็ผิดพลาดและไปไม่รอด

คุณลักษณะที่ดี หรือ “คุณธรรมของผู้นำ” ตามความคิดมักเกียแวลลี คือ มีปัญญา ยุทธศาสตร์ ความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ และในยามจำเป็น มีความโหดเหี้ยม เขาเรียกว่า “คุณธรรมอาชญา” (criminal virtue) ต้องโหดเพื่อปกป้องรัฐ เหี้ยมในนามของรัฐ

ในสังคมอุดมคติผู้นำต้องมีคุณธรรม ในโลกแห่งความเป็นจริง มักเกียแวลลีว่าต้องตรงกันข้าม คนอยากได้ผู้นำที่ดีมีคุณธรรมก็จริง แต่อยากได้ผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะคนดี มีคุณธรรม ใสซื่อมือสะอาดเป็นผู้นำดีไม่ได้ เป็นนักการเมืองดีไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้วัดกันที่คุณธรรม แต่วัดกันที่ประสิทธิภาพ ผลงาน ผู้นำดีต้องปกป้องรัฐจากการคุกคามภายในภายนอก รู้วิธีการจัดการกับคนรอบข้าง รอบด้าน

มักเกียแวลลีเป็นบิดาของนักการเมืองที่แสวงหาอำนาจทุกวิถีทาง คนแบบมักเกียแวลลีต้องขี้โกงแบบนิ่มนวล ไม่สัตย์ซื่อ ไม่จริงใจ หลายมาตรฐาน ดูดีแต่ไม่มีศีลธรรม เพื่อจะได้เป็นผู้นำที่ “ชาญฉลาด” และ “มีประสิทธิภาพ” ทำให้บ้านเมืองเจริญต้องโกงได้โกหกเป็น

มักเกียแวลลีเห็นว่า ตั้งแต่อดีตมา ไม่ว่ายุคไหนก็เห็นมีแต่ตำรารัฐศาสตร์ที่พูดถึงสังคมในอุดมคติ ผู้นำในอุดมคติ ซึ่งไม่มีใครทำได้จริง มีแต่รัฐและผู้นำอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีคนละมาตรฐานทางศีลธรรมกับอุดมคติ กลับปกครองได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

แนวคิดทางการเมืองของมักเกียแวลลีจึงมีเสน่ห์ มีพลังดึงดูดผู้นำทางการเมือง โดยเฉพาะบรรดาเผด็จการที่อ้างความชอบธรรมของการทำรัฐประหารเพื่อ “รักษาความสงบสุข” ของบ้านเมือง ตั้งแต่แบบ “ธรรมดา” ไปจนถึง “เผด็จการเบ็ดเสร็จและโหดเหี้ยม” อย่างจอมโหดแห่งประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ที่ทำให้คนตายไปเป็นแสนเป็นล้าน อ้างว่าเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง อำนาจที่ได้มาและรักษาไว้ด้วยราคาที่แพงมาก

แนวคิดแบบมักเกียแวลลีส่งเสริมลัทธิบูชาผู้นำ ให้ยอมสยบเหมือนสัตว์ป่าอ่อนข้อต่อสิงโตเจ้าป่า ที่มีหมาจิ้งจอกเจ้าเล่ห์นั่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ข้างๆ

แต่ผลลัพธ์ของการใช้อำนาจแบบมักเกียแวลลีมีตัวอย่างที่เลวร้ายให้เห็นตลอดประวัติศาสตร์ ลองย้อนกลับไปดูสถานการณ์โลกร้อยปีที่ผ่านมาเท่านั้นก็มองเห็นนักปกครองแบบมักเกียแวลลีได้สร้างความหายนะให้บ้านเมืองและชีวิตผู้คนมากเพียงใด

โดยไม่ลืมว่า หลังฮิตเลอร์ยังมีอเดเนาว์มาฟื้นฟูกอบกู้บ้านเมือง เช่นเดียวกับผู้นำทางการเมืองดีๆ มีคุณธรรมอีกมากมาย ที่สร้างสังคมแม้ไม่อุดมคติเต็มตัว แต่ผู้คนมีสิทธิ เสรีภาพ เคารพให้เกียรติกัน อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุขพอสมควร ในสังคมที่มาตรฐานประชาชนกับผู้นำเป็นมาตรฐานเดียวกัน