เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

น้ำท่วมหนักที่ปากีสถานแบบไม่เคยเกิดมาก่อน เป็นวิกฤติชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรทั้งประเทศ 220 ล้านคนเพราะเศรษฐกิจพัง กระทบโดยตรงต่อคน 33 ล้าน ตายไป 1,100  บ้าน 1 ล้านหลัง ถนน 3,500 กม. พังเสียหาย ผู้คน 500,000 ต้องอพยพไปอาศัยอยู่ตามแคมป์ต่างๆ อีกส่วนหนึ่งไม่รู้จะไปไหน

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม น้ำท่วมกรุงโซล เกาหลีใต้ ฝน 80 ปี ทำให้ตึก 2,800 แห่งได้รับความเสียหาย ในเอเชียยังไม่หมด มีคำเตือนจากพยากรณ์อากาศว่า เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน มีความเป็นไปได้สูงมากที่ฝนจะตกหนัก พายุจะเข้า น้ำจะท่วม ไต้ฝุ่นจากแปซิฟิก และไซโคลนจากมหาสมุทรอินเดียอีกหลายลูกจะเข้ามา

บางคนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติที่นานทีมีหน แต่สถิติของอุตุนิยมวิทยาที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงอากาศโลกชี้ให้เห็นว่า สิบปีที่ผ่านมา ภูมิอากาศโลกเลวร้ายลงอย่างน่าตกใจ อย่าง “ลานีญา” ที่เกิดมา 3 ปีติด ปรากฏการณ์พื้นผิวของมหาสมุทรที่เย็นกว่าปกติ ก่อให้เกิดความร้อนและภัยแล้ง

สามปีนี้รุนแรง แต่ความร้อนและภัยแล้งสะสมมานับสิบปีแล้ว ปี 2022 นี้ สองในสามของยุโรปประสบภัยแล้งแบบไม่เคยมีมาก่อน ฝนไม่ตก คลื่นความร้อนแผ่ไปทั่ว อุณหภูมิที่สเปนและประเทศในยุโรปใต้ขึ้นไปเกิน 40 องศามาหลายเดือน

ความร้อนและภัยแล้งนอกจากสร้างความเสียหายให้พืชผลทางการเกษตรแล้ว ยังทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำ ในแม่น้ำลดจนเรือใหญ่แทบจะวิ่งไม่ได้ ต้องลดน้ำหนักลง สร้างความเสียให้เศรษฐกิจ อย่างที่แม่น้ำไรน์ สายเลือดใหญ่ของเยอรมนีและหลายประเทศ

ยิ่งมาเกิดตอนที่มีปัญหาเศรษฐกิจ ผลกระทบจากภัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ต้องมีการขนส่งถ่านหินที่กลับมาใช้แทนก๊าซ และสินค้าต่างๆ ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ราคาพลังงานและสินค้าบริโภคสูงขึ้นจนต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดอย่างถึงที่สุดทั้งภาครัฐ เอกชน และครัวเรือน

พยากรณ์อากาศในยุโรปบอกว่า ภัยแล้งจะลากยาวไปถึงเดือนพฤศจิกายน ฝนจะยังไม่ตก สงครามก็คงไม่จบ รัสเซียลดการส่งก๊าซลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคงหยุดไปเลย เพราะเป็น “อาวุธ” หนึ่งในสงคราม “โลก” ครั้งนี้ ฤดูหนาวนี้ คนยุโรปจำนวนหนึ่งอาจหนาวตายเพราะไม่มีก๊าซทำความร้อนเพียงพอ

ภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 500 ปีของยุโรป ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองลดลง จนทำให้เห็นก้อนหินมากมายอายุ 7,000 ปีโผล่ที่สเปน ที่เซอร์เบียน้ำลดจนเห็นเรือนาซีหลายลำที่ล่มตั้งแต่ปี 1944 ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง  ยังมีระเบิดและอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่จำนวนหนึ่ง และที่อื่นๆ ทั่วยุโรป ทำให้เห็นสิ่งที่หลงเหลือของอาณาจักรโรมันสองพันปีก่อนมากมายหลายอย่าง

ที่สหรัฐอเมริกา ภัยแล้งที่เริ่มมานับสิบปี มาถึงจุดที่ทะเลสาบ Mead และ Powell ใหญ่สุดของแม่น้ำโคโลราโด ลดลงต่ำสุดตั้งแต่สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำมาเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เหลือไม่ถึงร้อยละ 26 ส่งผลกระทบต่อประชากร 40 ล้านคน และเมืองใหญ่อย่างฟีนิกซ์, ลาสเวกัส, ลอสแอนเจลิส และซานดิเอโก รวมทั้งกระทบต่อการเกษตรกว่า 10 ล้านไร่

ที่เทกซัส น้ำลดทำให้เห็นรอยตีนไดโนเสาร์อายุ 113 ล้านปี ที่อุทยานโลกดึกดำบรรพ์ และสิ่งที่อยู่ใต้น้ำมานานก็โผล่ให้เห็น ไม่ว่ากระดูกมนุษย์หลายร้อย เรือเล็กใหญ่ที่จมลงไปพร้อมกับทรัพย์สินต่างๆ

ในจีนก็เกิดภัยแล้งอย่างไม่เคยมีมาก่อน น้ำในแม่น้ำแยงซี ที่ยาวอันดับสามของโลก ลดลงมาก ส่งผลกระทบต่อประชากร 450 ล้านคนที่ต้องพึ่งพาอาศัย และหนึ่งในสามของผลผลิตทางการเกษตรของจีน น้ำจืดในทะเลสาบโปหยาง ที่ใหญ่ที่สุดของจีน เหลือน้ำไม่ถึงร้อยละ 25 พร้อมกับเกิดไฟไหม้ป่าอีกจำนวนมาก

ประเทศในแหลมแอฟริกาอย่างเคนยา โซมาเลีย และเอธิโอเปีย ฝนไม่ตกมา 4 ปี องค์การอาหารโลกบอกว่า อาจทำให้คน 40 ล้านคนอดตายในไม่ช้า ไม่รู้ว่าฝนจะมาเมื่อไร ไม่เคยเกิดมากว่า 40 ปีแล้ว

อุตุนิยมวิทยาโลกเตือนว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญ และลานีญา  มีความเป็นไปได้ร้อยละ 70 ที่จะเกิดไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน และร้อยละ 55 จากธันวาคมถึงกุมภาพันธ์  

ไฟป่าปีนี้เกิดทั่วโลก หนักที่สุดที่สเปนไหม้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากว่า 1.2 ล้านไร่ เมื่อต้นปีไหม้ที่นิวเม็กซิโก สหรัฐกว่า 700,000 ไร่  นอกนั้นก็ไหม้ในหลายประเทศในยุโรป และแอฟริกา  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไฟป่าที่อาร์เจนตินาเผาไปกว่า 4.5 ล้านไร่

ทุกฝ่ายเชื่อว่า ฝนแล้งน้ำท่วมและไฟป่าที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน ความพยายามลดสาเหตุจากมนุษย์ทำได้ยาก เพราะปัญหาธรรมชาติกับปัญหาสังคมของมนุษย์แยกกันไม่ออก ความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจสังคมส่งผลต่อความอยุติธรรมต่อธรรมชาติ  ประเทศที่ก่อให้เกิดมลภาวะโลกสูงสุด คือ ประเทศพัฒนาแล้ว ที่ “เอาเปรียบ” ประเทศกำลังพัฒนาในนามของ “ฟรีเทรด”

มีความพยายามลดการใช้พลังงานฟอสซิล คือ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ แต่สงครามทำให้ทำไม่ได้ ส่วนที่พยายามให้ลดพลังงานนิวเคลียร์ก็ตกลงกันไม่ได้ในยุโรป เพราะฝรั่งเศสมีพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุด และอ้างว่า “ยั่งยืน” ไม่แพ้พลังงานหมุนเวียน โดยลืมเรื่องอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล และสึนามิที่ฟุกุซิมะ

ยังมีสถานีพลังงานนิวเคลียร์ที่ชาปุริชา ทางใต้ของยูเครน ที่ทหารรัสเซียเข้าไปยึด แต่ชาวยูเครนยังบริหารจัดการ เป็นที่ผลิตไฟฟ้าสำคัญของภาคใต้ ก็เสี่ยงที่จะถูกระเบิดและเกิดปัญหาใหญ่อีกแห่งหนึ่ง

ประเทศไทยปีนี้ฝนตกมาก น้ำในเขื่อนมากกว่าปีที่แล้ว ภาคกลางฝนตกสะสม น้ำเหนือกำลังลงมา ไม่แน่ว่า ถ้าจัดการไม่ดีจะเหมือนปี 2554 หรือไม่ เห็นแต่คำทำนายของโหรที่ดูน่ากลัว

บ้านเรายังมีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ทั้งท่วมทั้งแล้ง เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ ไม่มี “ประชาธิปไตยน้ำ” ไม่ใช่กระจายอำนาจ แต่ “คืนอำนาจ” ให้ท้องถิ่น

“น้ำคือชีวิต” เรายังมีปัญหา เพราะยังไม่เข้าใจ “ชีวิต” ดีพอ