สถาพร ศรีสัจจัง

25 ปีแรก ของ “สยาม” หลังเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (กษัตริย์เป็นใหญ่สูงสุด) มาสู่ระบอบการปกครองที่เรียกกันมาจนปัจจุบันว่า (ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข)ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากชาติตะวันตก (น่าจะพยายามให้ละม้ายกับระบอบการปกครองของประเทศอังกฤษยุคนั้น?) ที่มีกลุ่มคนใน “คณะราษฎร” ผลัดกันเข้ายื้อยุดอำนาจสูงสุดการบริหารรัฐให้มาอยู่ในมือ “ตน” หรือ “พวกตน” นั้น

อาจกล่าวสรุปได้ว่า แทบจะไม่เห็นความเป็นโล้เป็นพายในความก้าวหน้าของประเทศ ไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจ-สังคม หรือในเรื่อง “สิทธิเสรีภาพ” ที่เป็นรูปธรรม(กินได้)ของราษฎรไทยแต่อย่างใด

สิ่งโดดเด่นที่เกิดขึ้นก็คือความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำ ที่เริ่มผสานประโยชน์ระหว่าง “อำนาจทางการเมือง” เข้าเป็นหนึ่งเดียวกับ “อำนาจทางเศรษฐกิจ”!

และเพื่อปกป้องอำนาจ (ผลประโยชน์) ดังกล่าวนี้ สังคมจึงเริ่มรู้จัก “การยึดอำนาจรัฐด้วยกองกำลังจัดตั้งติดอาวุธ” ที่เรียกว่า “ทหาร” ซึ่งถ้าจะเรียกให้ดูดีเป็นทางการสักหน่อย ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “การรัฐประหาร” นั่นเอง

แต่คนไทยมักเรียกกันติดปากต่อๆกันมาว่า “ปฏิวัติ” !

ที่หนักแน่นเป็นรูปธรรม (และถือเป็นต้นแบบสำคัญในการรัฐประหารครั้งต่อๆมา) ก็คือการทำรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (ที่ถูกนิสิตนักศึกษาเดินขบวนประท้วง และกล่าวหาว่า “โกงเลือกตั้ง”) ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ.2500

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์บางกลุ่มพวกเรียกการรัฐประหารครั้งนี้ว่า เป็นการเปิดยุค “ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์” ที่เป็นเผด็จการทหารแบบเบ็ดเสร็จเต็มรูปให้เกิดขึ้น

สิ่งสำคัญที่เกิดจากการรัฐประหารครั้งนี้ก็คือ การนำประเทศไทย(ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อจาก “สยาม” มาเมื่อไม่นานนัก)เข้าสู่ยุค “พัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย” (Modernization) ตามแบบแผนที่ “ท่านผู้นำ” ในครั้งนั้นได้เชื้อเชิญให้ “มหามิตร” คือสหรัฐอเมริกามาออกแบบไว้ให้

หัวใจของแผนการพัฒนาดังกล่าวก็คือ การสถาปนาระบบเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมเสรี” ขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง มุ่งส่งเสริมระบบการผลิตเพื่อขาย ส่งเสริมการผลิตพืชเชิงเดี่ยว ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และ อื่นๆ ฯลฯ

อันก่อให้เกิดการบุกรุกผืนป่ากันครั้งมโหฬาร เพื่อเปลี่ยนป่าให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยวดังกล่าว!

ป่าไทยจึงเริ่มพินาศล่มจมตั้งแต่ครั้งกระนั้นมา!

สรุปก็คือ เร่งส่งเสริมระบบ “เงินเป็นใหญ่กำไรสูงสุด” แบบเข้มข้นให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สิ่งใดหรือปรัชญาทางสังคมใดก็ตาม ที่ขัดขวางแนวคิดนี้ จะต้องถูกทำลายและกำจัดทิ้ง ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

ดังปรากฏหลักฐานชัดว่าในครั้งกระนั้น “ท่านผู้นำ” คือจอมพลสฤษดิ์ ถึงกับต้องทำหนังสือถึง “มหาเถรสมาคม”ว่า ห้ามพระสงฆ์องค์เจ้าเทศนาเรื่องที่เกี่ยวกับ “ความมักน้อย สันโดษ” กันทีเดียว!

“ยุค” เผด็จการทหารดังกล่าวนี้ กินเวลาจาก พ.ศ. 2500 จนถึง พ.ศ. 2516 ยาวนานถึง 16 ปี!

ก่อนจะถูกนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ก่อการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ ที่รู้จักกันในนามที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ” นั่นเอง!

เหตุการณ์ครั้งนั้นก็เช่นกัน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ การเมืองบางกลุ่มสรุปว่า เป็นเหตุการณ์ “พังทลาย”ของระบบทุนเสรีอุปถัมภ์แบบเก่าลงแบบต่อหน้าต่อตา  ค่อยๆก่อให้เกิดทุนนิยมเสรีของชนชั้นกลางที่เป็นจริงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

บางคนถึงกับสรุปว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพลของไทยที่บัดนี้ยัง

รุ่งเรืองเอกเขนกอยู่นอกประเทศคนนั้น ก็ได้รับอานิสงส์ จากการ “ปฏิวัติเสรีนิยม” แห่งเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นี่แหละ ที่ทำให้สามารถ “ก่อ” ขบวนเข้าความร่ำรวยในท้ายที่สุด!

ห้วงเวลาที่ประชามหาชนชาวไทยได้หายใจเอา “สิทธิเสรี” เข้าเต็มปอดได้บ้าง (หลัง 14 ตุลาฯ 2516) ช่างสั้นนัก! เพียงเมื่อถึง เดือนตุลาคม พ.ศ.2519 (3ปี) เผด็จการทหารเต็มรูปก็กลับมาพร้อมกับการรัฐประหารอีกครั้ง

ครั้งนี้ มาพร้อมกับการ “ฆ่ากลางเมือง” แบบนองเลือด พร้อมกับการก่อเกิด “ความแตกแยกทางความคิด” ในสังคมไทยอย่างรุนแรง!

คนหนุ่มคนสาวและผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลายในครั้งนั้น ไม่สามารถ “ทน” ต่ออำนาจเผด็จการที่สำแดงชัดอีกต่อไป จำนวนไม่น้อยจึงตัดสิน “เข้าป่าจับปืน” ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างไม่ลังเลใจ

กระทั่ง “รัฐบุรุษจากสงขลา” นาม พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย (คนที่ 16) ในปี พ.ศ. 2523  และท่านนายกฯผู้นี้ได้ชูนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ที่เรียกว่า “นโยบาย 66/23” ขึ้นมาใช้อย่างจริงจัง(ประกอบกับเกิดความขัดแย้งทางแนวคิดขึ้นในกลุ่มประเทศสังคมนิคม)นั่นแหละ 

“การฆ่ากันเอง” ของคนไทยที่ทำท่าจะบานปลายใหญ่โต จึงค่อยๆคลี่คลายและยุติลงได้ในที่สุด!!!