รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
“กลุ่มนักศึกษา” หรือที่เรียกว่า “U-Gen” ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปี หรือผู้ที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2541-2547 ลักษณะสำคัญของนักศึกษาเจนนี้คือ มีความเป็นปัจเจกสูง เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี และเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคมที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ เพราะเป็นกลุ่มที่สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง สามารถสร้างเงินให้กับธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่กำลังปูทางให้ตัวเองสำหรับการออกไปทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ จึงไม่แปลกนักที่จะกล่าวว่า ‘ช่วงชีวิตนักศึกษาเปี่ยมไปด้วยโอกาส ศักยภาพ และคำสัญญา’
แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยวันนี้และวันข้างหน้า จะมีรูปแบบ เทคนิค และกระบวนการการผลิตและดูแลนักศึกษาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะว่าชีวิตและไลฟ์สไตล์ของนักศึกษาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยพฤติกรรมนักศึกษา (เทศ) ยอดนิยมที่เปลี่ยนไป 5 พฤติกรรมที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นชุดข้อมูลที่ต้องนำเอาไปใช้เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของนักศึกษาเจนใหม่ ประกอบด้วย
1.การเรียนรู้แบบผสมผสานหรือไฮบริด ผลพลอยได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักศึกษาต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนรู้แบบใหม่ด้วยเหตุผลสำคัญด้านความปลอดภัย นักศึกษาจำนวนมากชื่นชอบการเรียนรู้แบบออนไลน์จากที่บ้านและการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบออฟไลน์ ทำให้การเรียนรู้แบบผสมผสานหรือไฮบริดนี้กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น
2. การเรียนรู้ด้วยตนเอง ในหมู่นักศึกษาการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Udemy, Coursera, edX, FutureLearn รวมถึงช่อง YouTube กลายเป็นความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะช่วยให้นักศึกษาขยายพรมแดนความรู้ได้ดีและรวดเร็วกว่าหนังสือเรียนและชั้นเรียนของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังทำให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันในตลาดงานอีกด้วย
3. การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิต ความก้าวหน้าของอินเตอร์เน็ตทำให้คนเข้าถึงสื่อใหม่ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย รวมถึงการเสพข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ แต่ทุกสิ่งที่ปรากฏใช่ว่าจะดีงามและถูกต้องทั้งหมด บางครั้งได้กลายเป็นการคุกคามทางจิตใจหรือบูลลี่กัน ส่งผลให้นักศึกษาตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้น และพยายามคิดหาวิธีช่วยเหลือทั้งในด้านการเข้าถึงและการให้คำแนะนำบุคคลที่กำลังมีปัญหา
4. การให้ความสำคัญกับคุณค่าของเงิน การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบทางการเงินให้กับครอบครัวนักศึกษาจำนวนหนึ่งเป็นอย่างมาก เพราะธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะที่สถาบันการศึกษาบางแห่งค่าเล่าเรียนก็เพิ่มขึ้น แต่พ่อแม่นักศึกษากลับไม่มีรายได้ ตัวนักศึกษาก็หมดโอกาสหางานพิเศษทำ ส่งผลให้นักศึกษาหลายคนตระหนักถึงความสำคัญของ “ความรู้ทางการเงิน” เช่น การไม่ก่อหนี้ การออม การลงทุน และการใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
5. การพัฒนาทักษะใหม่ เหตุการณ์และการตัดสินใจของรัฐบาลต่าง ๆ สามารถส่งผลกระทบไปทั่วโลก นักศึกษาต่างตระหนักว่าตนเองต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอเพื่อความมั่นคงในชีวิต ทำให้นักศึกษาสนใจเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะใหม่เพื่อรองรับอาชีพใหม่ในอนาคต เช่น ทักษะดิจิทัล
การที่นักศึกษาก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยวันนี้ก็เพื่อแสวงหาความรู้เอาไปประกอบอาชีพในอนาคต มหาวิทยาลัยจึงต้องผลิต “คน” สู่อนาคตรองรับความท้าทายโลกยุคใหม่ สร้างระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยที่หล่อหลอม ขัดเกลา และ บ่มเพาะนักศึกษาให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องสร้างนักศึกษาให้มีทั้งความรู้ในวิชา และความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่นและสังคม หรืออีกนัยหนึ่งคือต้องเน้นสร้างอาชีพและสร้างความเป็นคนในบุคคลคนเดียวกัน
จากพฤติกรรมของนักศึกษา(เทศ)ที่เปลี่ยนไป ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ต้องหันมามองพฤติกรรมนักศึกษาไทยที่เปลี่ยนไปร่วมกัน เพราะประเด็นด้านการพัฒนาทุนทรัพยากรมนุษย์เชิงคุณภาพเป็นความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2560-2564) มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” เช่นนี้ ทุกภาคส่วนก็ต้องเกื้อหนุนให้ “นักศึกษาไทย” มีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพกันจริง ๆ จัง ๆ แล้วล่ะครับ...