สถาพร ศรีสัจจัง
ช่วงนี้คงไม่มีข่าวอะไรน่าสะอิดสะเอียนหัวใจคนไทย เท่ากับข่าวรัฐสภาไทยล่มแล้วล่มอีกกระมัง?
ความน่าสะอิดสะเอียนนี้ อาจถึงขนาดที่ใครบางคน “อยากคายของเก่าใส่หน้า” (อ้วก)คนที่มีอำนาจสั่งการอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ !
ความที่(ฟังว่า) “ใครคนนั้น” จะทำ “หน้ามึน” ตอบผู้สื่อข่าวในทำนอง “เรื่องอะไร ผมไม่รู้เรื่อง ไม่เกี่ยวกับผม”!
แล้วบรรดาลูกน้องประเภทลิ่วล้อข้าทาสฝีปากดีทั้งหลาย ก็ออกมาตีฝีปากหอนรับแก้เกี้ยวแทนนายกันอย่างจ้าละหวั่นในทำนอง เรื่องนี้เป็นสิทธิการตัดสินใจส่วนตัวของท่านส.ส.และส.ว.ผูทรงเกียรติแต่ละท่าน ใครจะไปสั่งพวกท่านได้!
ใครที่เคยโฆษณานักโฆษณาหนาว่า ระบบประชาธิปไตยไทยในรอบ 90 ปี หลังเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อพ.ศ.2475 ได้สร้าง “ความหวังใหม่” ให้กับประชาชนไทย และสังคมไทยมาโดยตลอดนั้น เมื่อเกิดปรากฏการณ์ “กลับกลอกต่ำช้า” ของสิ่งที่เรียกว่า “นักการเมือง” เช่นนี้อย่าง “ซ้ำแล้วซ้ำ”อีก หรือจะยังมีน้ำหน้าให้ใครเชื่อและจะยังมีความหวังว่าจะได้เห็นวันที่ประชาชนมี “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” โดยระบบรัฐสภา?
โดยเฉพาะจาก “นักการเมืองพันธุ์ไทย” ในรอบ 90 ปี(จนปัจจุบัน) !
90 ปีที่พ้นผ่าน ประชาชนไทยจ่ายเงินภาษีทั้งที่เป็นเงินเดือนค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง เงินสวัสดิการในรูปแบบต่างๆให้คนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักการเมือง” ในรูปของเงินภาษีไปเท่าไหร่แล้ว?
นี่ยังไม่นับรวมการ “คอร์รัปชัน” แบบมโหฬาร อย่างที่ใครๆก็ล้วนรู้กัน ในทำนอง “เป็นสิ่งที่เห็นจริงแล้ว” นั่นเลยนะ!
รองนายกฯประวิตร/หรือรองฯวิษณุ/หรือรองฯอู้ดด้า ช่วยคำนวณให้ดูทีถี!
อย่าให้ต้องถึงมือนายกฯลุงตู่ คนนั้นเลย แค่เกมสภาล่มแล้วล่มอีกที่เห็นๆก็คงเล่นเอาตะแกมึนงงจนคิดอะไรไม่ออกและจะลมจับอยู่แล้วแหละ!
เห็นปรากฏการณ์ “รัฐสภาฯ” ล่มแล้วล่มอีกครั้งนี้ทำให้อดนึกถึงคำของนักหนังสือพิมพ์และกวีใหญ่ยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คนหนึ่งขึ้นมาไม่ได้!
กวีมากฝีมือที่ชื่อ “ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์” คนนั้นนั่นแหละ!
คิดถึงชื่อกลอนบทหนึ่งของเขาที่ชื่อ “พญาโหงบนโลงแก้ว”!
ภายหลังดูเหมือนชื่อ “พญาโหงบนโลงแก้ว” นี้จะกลายไปเป็นชื่อปกหนังสือรวมเรื่องสั้นและ กวีนิพนธ์เล่มสำคัญของกวี นักเขียนลือนามท่านนี้ ที่บรรดา “คอหนังสือ” วรรณกรรมไทยร่วมสมัยไม่เคยลืมเลือน
จำเนื้อหาได้ว่า บทกวี “พญาโหงบนโลงแก้ว” ชิ้นนั้น กวีผู้เขียนมุ่งสัญญะของคำ “คีย์เวิร์ด”คือคำ “พญาโหง” ไปที่ขุนทหารผู้สวมฐานะเป็นนักการเมืองคนสำคัญผู้ทรงอำนาจบารมีในช่วงยามนั้นอย่างชัดเจน
และถ้าจำไม่ผิด กวีผู้เขียนจะจบวาทกรรม “พญาโหง” ในวรรคสุดท้ายว่า มันก็คือ “อันธพาลชั้นพญา” นั่นเอง!
ไม่รู้จะนำมาใช้กับ “ผู้มากบารมี” ที่ทรงอำนาจในยุคปัจจุบันที่ถึงขนาดสั่งการทำให้ “รัฐสภาไทย” ต้องล่มแล้วล่มอีกได้หรือเปล่า?!
แต่…เพื่ออธิบายถึงเรื่องนี้ โชคดี ที่มีบางใครแอบส่งจดหมายน้อยที่แนบบทกลอนชิ้นหนึ่งมาให้ อ่านดูแล้ว แม้จะเทียบชั้นไม่ได้กับบทกวี “พญาโหงบนโลงแก้ว” ของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ แต่ดูเขาจะตั้งใจเขียนส่งมาให้เป็นพิเศษ น่าจะเพื่อนิยามคำ “นักการเมือง” ไทยให้ใครๆได้เห็นภาพชัดขึ้นกระมังว่าเป็นอย่างไร!
แต่เขาตั้งชื่อบทกลอนของเขาว่า “นัก “กาน” เมือง” ใช่แล้วคำ"กาน ที่แปลว่า “ทำให้ต้นไม้ต้องยืนต้นตาย” นั่นแหละ! ลองช่วยฟังลีลาของเขากันสักหน่อยปะไร…
“…ไม่มีภาพสวยสวยให้รู้สึก/แม้เพียงนึกก็เหมือนได้กลิ่นเหม็น/กลิ่นน้ำลายสามานย์ซ่านกระเซ็น/และคล้ายเห็นฝูงเปรต ฝูงโหงพราย/เห็น “โจรชุดสากล” ผู้ต้นเหตุ/ปล้นสะดมประเทศจนฉิบหาย/
เห็นแวตาฉ้อฉลทุรนทุราย/เยี่ยงคนขาดยางอายไร้คุณธรรม/เห็นคนปากปล้อนปลิ้นกินไม่อิ่ม/นัยน์ตาชั่วแฝงยิ้มแบบรอห้ำ/ดูหน้า เหมือนสะอาดใส แต่ใจดำ/ชอบคิดค้นถ้อยคำหลอกหูคน/มีบางคนแต่เดิมคล้ายเคยดี/แต่ล้วนกลับอัปรีดิ์อยู่เกลื่อนกล่น/บ้างเคยเดินนำหน้าประชาชน/ก็กลายกลับสัปดนกระดางลาง/ “มัน” เหล่านั้นดำรงอย่างองอาจ/ร่วมกังฉินโกงชาติจนเกินอ้าง/ปรากฏหัวให้เห็นทั่วเส้นทาง/อยู่ในร่างสามานย์ “นัก “กาน” เมือง”!!
เป็นอย่างไรบ้าง อ่านกันแล้วตัดสินลงมติได้หรือเปล่าว่า รากเหง้าเผ่าพันธุ์พวกนี้ที่แท้จริงคือ “พญาโหง” หรือกระหัง หรือ กระสือ หรือปอบ หรือ “เปรต” กันแน่ !!ฯ