เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

บทเรียนที่มนุษยชาติไม่เคยเรียน อาจทำให้เราก้าวไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 สงครามนิวเคลียร์ที่ทำลายล้างจนไม่เหลืออะไร "คนตายเท่านั้นที่ได้เห็นการสิ้นสุดของสงคราม" “ผู้ที่ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ถูกกำหนดให้ทำซ้ำ" คำกล่าวของ จอร์จ ซานตายานา นักปรัชญาอเมริกันเชื้อสายสเปน

ลัทธิอำนาจนิยม ลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ  ลัทธิขยายอำนาจอาณาเขต  การล่าอาณานิคมแบบเก่าแบบใหม่ การครอบงำ การกอบโกยทรัพยากร การกดขี่ข่มเหง มีมาตลอดประวัติศาสตร์

สงครามโลกสองครั้งยืนยันลัทธิเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกันหมด แล้วแต่จะเรียกว่าอะไร การขยายอาณาเขตอาณาจักรมีมาหลายพันปี ยิ่งใหญ่อย่างเปอร์เซีย กรีก โรมัน เจ้าอาณานิคมยุโรป มาถึงมหาอำนาจอเมริกา รัสเซีย จีน ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ต้องการครอบงำทรัพยากรและผลประโยชน์ในประเทศอื่น

สงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) เกิดขึ้นหลังสั่งสมความขัดแย้งมาหลายร้อยปีในประวัติศาสตร์ยุโรป แต่ที่ชัดเจนเริ่มส่อเค้าตั้งแต่ปี 1870 ที่เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซีย  ฝรั่งเศสภายใต้การนำของนโปเลียนที่ 3 พ่ายแพ้ ปรัสเซียภายใต้การนำของบิสมาร์ก ก็รวมแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นประเทศเยอรมนี รวมทั้งผนวกเอาแคว้นอัลซาซและลอร์แรนของฝรั่งเศสที่ติดพรมแดนตะวันตกไปด้วย

เยอรมันพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วขึ้นมาเทียบอังกฤษที่พัฒนาก่อนนั้นนับร้อยปี รวมทั้งฝรั่งเศสเองก็พัฒนาในหลายด้านแต่ไม่ได้พัฒนากองทัพ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่แพ้สงคราม ขณะที่เยอรมันมีกำลังพลพร้อมรบมากกว่า และพัฒนาเทคโนโลยีไปพร้อมกับอุตสาหกรรม

โดยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เยอรมันมีความสัมพันธ์ดีกับออสเตรีย-ฮังการี และเป็นพันธมิตรกับอิตาลี ซึ่งถูกฝรั่งเศสครอบครองระยะหนึ่ง ขณะที่ฝรั่งเศสก็ไปผูกมิตรกับรัสเซีย ส่วนอังกฤษเองก็กลัวเยอรมันที่พัฒนากองเรือรบและควบคุมน่านน้ำทะเลเหนือใกล้อังกฤษ จึงไปเข้าข้างฝรั่งเศสกับรัสเซีย

ประเด็นความขัดแย้งรุนแรงที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อออสเตรียไปผนวกบอสเนีย เฮอเซโกวินาเข้าเป็นของตน ทำให้เซอร์เบียโกรธแค้นเพราะกำลังต้องการรวมชาติสลาฟเข้าด้วยกัน (ต่อมารวมเป็นยูโกสลาเวีย)  เซอร์เบียจึงไปเข้าข้างรัสเซีย เพื่อต่อต้านออสเตรียและเยอรมัน

เมื่อเกิดการลอบสังหารมกุฎราชการออสเตรียและภรรยาเมื่อเดือนมิถุนายน 1914 ที่เมืองซาราเยโว เมืองหลวงของบอสเนียโดยชายชาวบอสเนีย ออสเตรียกล่าวหาเซอร์เบียว่าอยู่เบื้องหลัง ประกาศสงครามกับเซอร์เบีย ประเทศพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายจึงเริ่มเคลื่อนไหวและเข้าสู่สงครามในที่สุด

อิตาลีประกาศเป็นกลาง แต่ตอนหลังเข้าข้างพันธมิตร เยอรมันบุกไปทางตะวันตกจนถึงชายทะเลฝรั่งเศสเพื่อป้องกันไม่ให้อังกฤษเข้ามาสนับสนุน ทางตะวันออกก็ส่งกองทัพไปยันการรุกของรัสเซีย ทางด้านจักรวรรดิออตโตมาน ที่มีศูนย์กลางที่ตุรกีประกาศเข้าข้างเยอรมัน เปิดการรบทางใต้ไปในเขต “อาหรับ”

สงครามในยุโรปขยายไปตะวันออกกลางที่อังกฤษมีอิทธิพลอยู่ เพราะผลประโยชน์ด้านน้ำมัน อังกฤษขอให้ชาวยิวที่อพยพไปอยู่ที่ปาเลสไตน์ช่วยรบกับ “อาหรับ” และสัญญาว่า ถ้าชนะจะยกดินแดนนี้ให้

ในเอเชีย ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับเยอรมัน และเข้าไปยึดอาณานิคมของเยอรมันในมหาสมุทรแปซิฟิก สงครามขยายไปในแอฟริกา ระหว่างอาณานิคมของเยอรมัน กับของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีกำลังมากกว่า

ประเทศพันธมิตรสงครามต่างก็ระดมกำลังจากคนท้องถิ่นให้ช่วยรบทั้งในประเทศเหล่านั้นและและเกณฑ์ไปช่วยรบในยุโรป ซึ่งไทยเราก็เข้าร่วมกับพันธมิตร และส่งกำลังไปร่วมรบด้วย

เยอรมันใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้เรือเหาะแซปลินไปทิ้งระเบิด ทั้งที่ลอนดอนและปารีส และทั้งสองฝ่ายเริ่มใช้เครื่องบินติดปืนกลในการรบ ยุทธการทางอากาศเริ่มในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนี้ ทางน้ำ เยอรมันใช้เรือดำน้ำจมเรือรบของฝ่ายตรงข้ามไปถึงมหาสมุทรแอตแลนติก โจมตีทั้งเรือรบและเรือสินค้า

รัสเซียสูญเสียทหารและพลเรือนจากการรบอย่างหนัก บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะอดอยากยากแค้น เกิดการปฏิวัติ ล้มระบบกษัตริย์ และเริ่มระบอบคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของเลนินและพรรคบอลเชวิค

สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายพันธมิตรอ้างว่า ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นในมหาสมุทรแอตแลนติก และสงครามมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การเข้าร่วมสงครามของอเมริกาน่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า สร้างงาน ได้ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ และไม่ถูกโจมตีจากศัตรูเพราะอยู่ไกล

รัสเซียภายใต้การปกครองของบอลเชวิก ประกาศสงบศึกกับเยอรมัน ซึ่งถอนกำลังมาเสริมทางฝั่งตะวันตกไปโจมตีถึงปารีส แต่ถูกฝรั่งเศสโต้กลับ พร้อมกับการสนับสนุนของบรรดาพันธมิตร เยอรมันต้องถอย เกิดการ “ปฏิวัติเยอรมัน” เลิกล้มระบบกษัตริย์ ที่สุดเยอรมันก็ยอมแพ้สงครามที่คร่าชีวิตผู้คนไป 18 ล้าน

มิถุนายน 1919 มีการเซ็นสัญญาที่แวร์ซายโดยฝ่ายพันธมิตร ไม่มีเยอรมันเข้าร่วม ถูกให้ชดใช้ค่าเสียหายมหาศาลจากสงคราม ถูกถอดเขี้ยวเล็บ อาณานิคมเยอรมันถูกแบ่งไปให้เจ้าอาณานิคมอื่นๆ  ประเทศในเครือของออสเตรียแยกตัวเป็นอิสระ รวมไปถึงการเกิดประเทศยูโกสลาเวียจากการรวมประเทศเผ่าพันธุ์สลาฟแถบทะเลบอลติก แคว้นอัลซาซ-ลอร์แรน กลับไปเป็นของฝรั่งเศส ทางเหนือสุดกลับไปเป็นของเดนมาร์ก

ขณะที่ในประเทศเยอรมนีเองไม่ได้รับความเสียหายมากนัก เพราะไม่มีการรบ โรงงานอุตสาหกรรมยังอยู่ นั่นคงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เยอรมันกลับมาก่อสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้การนำของฮิตเลอร์และนาซี ประหนึ่งเป็นการ “แก้แค้น” ที่พ่ายแพ้แล้วถูกประณามหยามเหยียด สูญเสียศักดิ์ศรี และถูกลงโทษให้ชดใช้ที่ไม่รู้กี่ชาติจึงจะหมด  การก่อสงครามครั้งใหม่ นอกจาก “ชำระแค้น” ยังเป็นการลบหนี้สงครามไปด้วย

คนทั่วไปอาจไม่สนใจว่า ปัจจุบันสหรัฐเป็นหนี้จีนหนึ่งล้านล้านเหรียญ หนี้เหล่านี้อาจเป็นหนี้สูญเพราะสงครามครั้งใหม่ในภูมิภาคนี้ เหมือนที่รัสเซียถูกชักดาบไปหลายแสนล้านเหรียญจากสงครามยูเครน