รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

Data (ดาต้า) หรือข้อมูลเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของหรือสถานที่ โดยอาจได้มาจากการสอบถาม การสังเกต การรวบรวม หรือการวัด เป็นต้น ข้อมูลมีหลายรูปแบบ เช่น ตัวเลข อักขระ (ตัวอักษร ผสมตัวเลข หรืออักขระพิเศษ/เครื่องหมายต่าง ๆ) ภาพ และเสียง ข้อมูลนับว่ามีความสำคัญต่อองค์กรมาทุกยุคสมัยเพราะข้อมูลช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต สร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ถ้าองค์กรไม่มีข้อมูลนำทางหรือสนับสนุนการทำงานก็ยากที่โครงการ/งานจะสำเร็จ แต่กระนั้นก็ตามหากข้อมูลที่มีเป็นข้อมูลชุดเก่า ล้าสมัย ปลอม ไม่ผ่านการกลั่นกรอง หรือจะเรียกว่า ‘ชุดข้อมูลเลว’ ก็ได้ เมื่อมีการนำไปใช้โดยรู้ไม่จริง/รู้ไม่เท่าทันก็จะทำให้การตัดสินใจผิดพลาดนำไปสู่ความล้มเหลวและล่มสลาย  

ข้อมูลมีความสำคัญทุกยุคทุกสมัย แต่มีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะปริมาณข้อมูลที่มากขึ้น จนครั้งหนึ่งเคยมีคำยอดฮิตว่า ‘Information Explosion’ หรือ ‘การระเบิดของข้อมูล’ ที่จำนวนสารสนเทศหรือข้อมูลเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนสร้างความงุนงงให้กับโลกมาแล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่งการมีข้อมูลหรือสารสนเทศก็สร้างอำนาจให้กับผู้ถือครองข้อมูลนั้นด้วยเช่นกัน จนเกิดคำว่า ‘Information is Power’ หรือ ‘สารสนเทศคืออำนาจ’ หรือความได้เปรียบจากการมีข้อมูลหรือสารสนเทศที่มีคุณภาพ

ปัจจุบันมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันที่รองรับการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลทุกรูปแบบ ทุกคนจึงสามารถสร้างข้อมูลด้วยตนเอง พร้อมกับนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลด้วยตนเองได้ทันที และผู้อื่นก็มาแสดงความเห็นต่อข้อมูลได้ทันทีเช่นกัน เมื่อทุกคนผลิตสร้าง เป็นเจ้าของ และเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลได้ในบุคคลคนเดียวกัน ส่งผลให้วันนี้เกิดปรากฏการณ์เก่าแต่หนักกว่าและทำให้งุนงงกว่าเดิมคือ ‘Information Overload’ หรือ ‘ความท่วมท้นของข้อมูล’ ในทุกรูปแบบ ดังจะเห็นได้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของข้อมูลที่มีการประเมินเอาไว้ระหว่างปี 2015-2025 (2558-2568) พบว่าจะมีปริมาณข้อมูลเพิ่มสูงถึง 16 เท่าตัว นี่คือที่มาของคำว่า ‘Big Data’

Big Data (บิ๊กดาต้า) ข้อมูลขนาดใหญ่ทุกชนิดทั้งแบบมีโครงสร้าง เช่น ข้อมูลซื้อขายของลูกค้า ข้อมูลการดาวน์โหลดบทความอิเล็กทรอนิกส์ กึ่งโครงสร้าง เช่น สเตตัสหรือแฮชแท็กบนสื่อสังคมออนไลน์ และไม่มีโครงสร้าง เช่น รูปภาพ เสียง ข้อความ มัลติมีเดีย การพูดคุยโต้ตอบกันทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น ข้อมูลขนาดใหญ่นี้ถ้าขาดการจัดกระทำและ การวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) ที่มีประสิทธิภาพก็จะไม่เกิดคุณค่าหรือสร้างประโยชน์ใด ๆ

การลงทุนเพื่อจัดการกับบิ๊กดาต้าเป็นการลงทุนระยะยาว ต้องใช้เม็ดเงินสูง และต้องอาศัยบุคลากรเฉพาะทาง มีความเชื่อกันว่าถ้าองค์กรใดได้ครอบครองบิ๊กดาต้าที่ถูกต้อง ชัดเจน และมีความเชื่อมโยง/สัมพันธ์กันจะทำให้องค์กรเข้าถึงผู้ใช้บริการหรือลูกค้ายิ่งขึ้น ทำให้สามารถนำมาต่อยอดการให้บริการที่ดีและไม่เหมือนใครทั้งในเชิงการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้า

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล ลูเคียนอฟ (Michael Lukianoff) เจ้าของธุรกิจ Data Science กลับเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจกว่าว่า ‘การนำบิ๊กดาต้ามาใช้ในองค์กรต้องประสบกับความล้มเหลวถึงร้อยละ 60-85’ ซึ่งตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ สาเหตุหลักของความล้มเหลวมาจากผู้เชี่ยวชาญโครงสร้างพื้นฐานข้อมูล (Data Infrastructure Experts) ขาดความเข้าใจอย่าง ถ่องแท้เกี่ยวกับเป้าหมายองค์กรหรือธุรกิจ ทำให้เข้าไม่ถึงความต้องการที่แท้จริงในเรื่องเชิงเทคนิคกับกระบวนการหรือการนำข้อมูลไปใช้สร้างมูลค่าและคุณค่า

ในสถานการณ์จริงการนำข้อมูลไปใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ลึกซึ้งกว่าข้อมูล/บิ๊กดาต้า เช่น อารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง ความยากในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่เป็นความลับ การปกปิดข้อมูลหรือการหวงแหนข้อมูล รวมถึงปัจจัยแทรกซ้อนที่เหนือการควบคุมที่ทำให้การใช้และการเข้าถึงข้อมูลล้มเหลว...

ยิ่งกว่านั้น อนาคตของข้อมูลก็คงเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอีก ตราบใดที่โลกไม่หยุดเคลื่อนไหว มนุษย์ยังจินตนาการไปสู่สเปซใหม่ แต่สิ่งนั้นคืออะไร...ช่วยกันหาคำตอบด้วยครับ...