ตีโฉบฉวย / เสือตัวที่ 6
การดำเนินการตามแนวทางของกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐกับกลุ่มเห็นต่างกับรัฐนั้น หาได้มีเป้าหมายปลายทางเดียวกันอย่างแท้จริงไม่ เพราะในขณะที่รัฐต้องการเป้าหมายของกระบวนการพูดคุยเพื่อหลอมรวมแนวคิดที่แตกต่างไปสู่แนวทางการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดด้วยการแสวงหาหนทางแก้ปัญหาทั้งหลายด้วยสันติวิธีบนพื้นฐานการอยู่ภายใต้อธิปไตยเดียวกันของรัฐไทยอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่กลุ่มต่างๆ ของผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ปลายด้ามขวานเหล่านั้น มีเป้าหมายปลายทางสุดท้ายที่ต้องการการปกครองที่เป็นอิสระจากรัฐและต้องการที่จะปกครองกันเองของคนในพื้นที่ ตามแบบฉบับที่พวกเขาต้องการอันเป็นเอกลักษณ์ที่จะบ่งบอกได้ว่า พวกเขามีอิสระอย่างแท้จริงจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาษาราชการที่ใช้ ระบบกฎหมายอิสลาม ระบบศาลยุติธรรม และวิถีชีวิตอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
และด้วยกลุ่มความเห็นต่างกับรัฐในพื้นที่แห่งนี้ได้วิวัฒนาการแตกออกไปเป็นหลากหลายกลุ่มหลายพวก หากแต่ละกลุ่มแท้จะมีเป้าหมายปลายทางที่คล้ายกันในลักษณะที่เป็นอิสระจากรัฐในรูปแบบของตนเอง แต่ก็มีแนวคิดในการต่อสู้กับรัฐที่แตกต่างกัน บางกลุ่มก็มีแนวโน้มเข้ารวมเดินทางบนเส้นทางพูดคุยสันติสุขกับรัฐ ในขณะที่บางกลุ่มยังคงเหนียวแน่นในวิถีการต่อสู้ด้วยความรุนแรงอย่างเหนียวแน่นสุดโต่ง และที่สำคัญคือกลุ่มของตนต้องมีพื้นที่ในเวทีของกระบวนการพูดคุยกับรัฐตั้งแต่ต้นกับรัฐอย่างเป็นทางการเฉกเช่นเดียวกับกลุ่ม BRN ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐทั้งที่ผ่านมาและในห้วงหลังๆ มานี้ ปฏิกิริยาของการก่อเหตุร้ายในห้วงนี้ จึงเป็นการส่งสัญญาณให้รัฐเห็นว่า กลุ่ม BRN ไม่ใช่ตัวแทนของขบวนการต่อสู้กับรัฐอย่างเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียว และรัฐต้องรับรู้ว่า ขบวนการต่อสู้กับรัฐไทยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น กลุ่มคนที่มีความเห็นต่างจากรัฐ มีอุดมการณ์หรือแนวคิดที่ไม่ได้เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว การต่อสู้กับรัฐอันยาวนาน ได้ทำให้คนในขบวนการแตกตัวออกไปตั้งกลุ่มใหม่หลากหลายกลุ่ม และต่างฝ่ายต่างมีศักยภาพในการต่อสู้กับรัฐในหลายมิติอย่างเป็นระบบ นี่คือความสลับซับซ้อนของกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐกับกลุ่มเห็นต่างจากรัฐที่มีความแตกต่างหลากหลายยิ่ง
กระบวนการแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐคาดหวังไว้ว่า เป้าหมายปลายสุดท้ายของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขขั้นคือ การยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธในที่สุด และมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งคับข้องใจของคนในพื้นที่โดยเฉพาะบรรดาแกนนำขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่ด้วยการปรึกษาหารือพูดคุยกันด้วยสันติวิธีระหว่างคณะผู้แทนของรัฐ กับผู้แทนกลุ่มแบ่งแยกการปกครองทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเริ่มที่กลุ่ม BRN ที่อาจลดทอนระดับความรุนแรงในการก่อเหตุร้ายลงให้มากที่สุดก่อนเป็นลำดับแรกหากพูดคุยกับกลุ่ม BRN ได้ลงตัว และอาจเป็นวิถีทางนำร่องให้กลุ่มเห็นต่างอื่นๆ ต้องเข้ามาเดินตามแนวทางดังกล่าวในที่สุดได้ด้วย โดยความเห็นชอบร่วมกันของกลุ่มเห็นต่างในพื้นที่ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือผสมผสานความต้องการของทุกฝ่ายบนโต๊ะเจรจา อันจะนำไปสู่การตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงเฉกเช่นที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และนี่คือเป้าหมายปลายทางของกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐที่คาดหวังว่าจะเป็นหนทางไปสู่การนำสันติสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่แห่งนี้อันเป็นเป้าหมายปลายทางสุดท้ายได้อย่างแท้จริง
หลังจากสิ้นสุดการลดความรุนแรงระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับ BRN หลังจากมีการพูดคุยสันติภาพ ประชาชนในพื้นที่เชื่อว่าถึงจะมีการพูดคุย โจรใต้ก็ก่อเหตุอยู่ดี เพราะมันคือหน้าที่ของเขาในการสร้างความเดือนร้อนสร้างความรุนแรงสร้างความสูญเสียเพื่อแสดงตัวตนของกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพูโล ที่ต้องการขยายอำนาจและมีส่วนร่วมในการพูดคุย ครั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่นายกัสตูรี มาห์โกตา ผู้นำกลุ่มเห็นต่างที่ชื่อ องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-MKP) กล่าวว่ากลุ่มพูโลนี้ มีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมที่พร้อมจะต่อสู้กับรัฐในทุกรูปแบบหากกลุ่มตนถูกละเลยหรือถูกมองข้ามจากรัฐ จากปฏิกิริยาที่ผ่านมานี้ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าไม่อาจคาดหวังในผลสัมฤทธิ์อันสวยงามของรัฐได้ว่า เมื่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่ม BRN สำเร็จลง ที่รัฐกำลังคาดหวังปลายทางสุดท้ายของยุทธศาสตร์นี้ไว้อย่างสวยหรูว่าจะสมารถยุติความขัดแย้งด้วยอาวุธหรือนำความสงบสุขมาสู่พื้นที่แห่งนี้ได้หรืออย่างน้อยก็น่าจะลดศักยภาพการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงจากผู้เห็นต่างของกลุ่มอื่นๆ ได้ หากแต่แท้ที่จริงแล้วปฏิกิริยาการแสดงศักยภาพของกลุ่มต่างๆ เช่นที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มพูโลนี้ กำลังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มพูโลเป็นอีกกลุ่มหนึ่งในหลายๆ กลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐตามอุดมการณ์และความต้องการจุดหมายปลายทางของการต่อสู้ ให้รัฐเห็นชัดเจนว่า พวกเขามีตัวตนอยู่จริงในพื้นที่แห่งนี้ ทั้งยังสื่อให้รัฐได้รับรู้ว่าอย่าได้ละเลยพวกเขาในเวทีการพูดคุยไม่ว่าจะเป็นหนไหนเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นปลายทางสุดท้ายที่รัฐคาดหวังก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุดกลุ่ม BRN ได้ออกมาประกาศท่าทีที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขของกลุ่มขบวนการนี้กับรัฐ ที่ดูจะมีเป้าหมายเดียวกันกล่าวคือ คืนสันติสุขสู่พี่น้องในพื้นที่แห่งนี้ หากแต่ว่าแท้ที่จริงแล้วเป้าหมายปลายทางสุดท้ายของรัฐนั้นมุ่งหวังความสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างบนความเป็นรัฐเดียวกัน ในขณะที่กลุ่มขบวนการทั้งหลาย มุ่งหมายที่จะมีสันติสุขบนความเป็นรัฐปกครองตนเองในแบบของตนเอง โดย เจ๊ะมูดอ บินเจ๊ะเตะ ผู้อาวุโสสูงสุดในคณะเจรจาของขบวนการฯ พูดในงานเสวนาออนไลน์ “ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” (SCENARIO PATANI) เมื่อ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญว่า การปกครองตนเองอย่างอิสระของคนปาตานีในอนาคต ต้องมีกฎหมายของตนเองทุกด้าน มีศาลของตัวเองและผู้แทนรัฐสภาจากการเลือกตั้งของตัวเอง รวมทั้งและภาษีของตนเอง และย้ำว่า จะต้องได้เขตดินแดนภายใต้สนธิสัญญาแองโกล-สยาม ที่ระบุไว้ในปี 1909 นับตั้งแต่สยามทำสัญญากับอังกฤษ นั่นคือบางพื้นที่ของสตูล และบางส่วนของสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นดินแดนที่เรียกร้องในอนาคต นั่นคือการยอมรับประชาชนเชื้อสายมลายู ตามแนวการเมือง ณ ปัจจุบัน ที่เริ่มจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่เป็นเอกราชในที่สุด เหล่านี้คือความยากของความสำเร็จในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่คาดหวัง ด้วยแต่ละฝ่ายล้วนมีเป้าหมายปลายทางของกระบวนการพูดคุยที่แตกต่างระหว่างกันอย่างชัดเจน