สถาพร ศรีสัจจัง

“ปรากฏการณ์อเมริกา” ในสังคมไทยในห้วงปี พ.ศ. 2501-2519 (ผ่านมาแล้วเกือบ 50 ปี) ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นห้วงยามที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้ามาแสดงบทบาทอย่างทรงพลัง และ ก่อผลสะเทือนต่อสังคมไทยอย่างสูงในหลายด้าน-บางด้านในหลายด้านดังกล่าว ยังก่อผลมาจนถึงยุคปัจจุบัน (เช่น เรื่องความรู้สึกของประเทศเพื่อน บ้าน อย่าง เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ที่มีต่อประเทศเรา) จึงนับได้ว่า มีเรื่องที่ควรจะนำมากล่าวถึงเป็นจำนวนมาก แต่ภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่และเวลาอันจำกัด จึงเพียงแต่จะขอหยิบยกมาบอกมาเล่าสัก “พอเป็นสังเขป” เพียงเพื่อให้พอเป็นน้ำกระสายยา ดังนี้ :                             

พ.ศ. 2500 ผู้ทรงอำนาจในการปกครองประเทศไทยขณะนั้นคือนายแปลก  ขีตตะสังคะ หรือหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม 1 ใน 7 ของผู้นำคนสำคัญในกลุ่ม “คณะราษฎร” (หารายละเอียดอ่านเอาเอง ยุคนี้ข้อมูลประเภทนี้กำลังล้นเมืองไม่ใช่หรือ?) ผู้ทำการยึดอำนาจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” จากพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้สำเร็จ(ฟังว่าด้วยเวลาเพียง 3 ชั่วโมง) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 (ผ่านมา 90 ปีพอดี) ถูกกดดันขับไล่จนต้องหนีกระเซอะกระเซิงจนต้องไปตายที่ประเทศญี่ปุ่น (ดูเหมือนจะ 3 ปีหลังจากนั้น)                          

ความพ่ายแพ้ทางการเมืองของ “ท่านผู้นำ” คนสำคัญแห่ง “คณะราษฎร” ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยถึง 9 สมัย รวมเวลาถึง 14 ปี 11 เดือน 18 วัน จนต้อหลบหนีเข้าประเทศกัมพูชาก่อนที่อพยพไป “ลี้ภัยทางการเมือง” ที่ประเทศญี่ปุ่น “มิตรเก่า” ของท่านนั้น เกิดจากแรงกดดันสำคัญจากเรื่อง “การเลือกตั้งสกปรก” ที่พรรคมนังคศิลา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลภายใต้การนำของท่านขณะนั้น ถูกกล่าวหา(พร้อมหลักฐานเชิงประจักษ์?)ว่าทุจริตการเลือกตั้ง จนนักศึกษามหาวิทยาลัยจากจุฬาลงกรณ์และธรรมศาสตร์ออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ขึ้น!                 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ผบ.ทบ.) ซึ่งเพิ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขณะนั้นได้เพียง 10 วัน ประกาศลาออกจากตำแหน่งทันที และแสดงท่าทีว่ายืนอยู่ข้างผู้ประท้วงอย่างเต็มที่ จนได้รับฉายาจากหนังสือพิมพ์ในตอนนั้นว่า “วีรบุรุษสะพานมัฆวาน” เพราะได้กล่าวปราศรัยกับผู้ชุมนุม ด้วยการจบลงด้วยประโยคสำคัญที่ว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”!

หลังเหตุการณ์นี้ สื่อมวลชนก็โหมประโคมข่าวกันอย่างกว้างขวาง และตั้งฉายาให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ผู้เติบโตมาภายใต้การชูชุบอุปถัมภ์ของจอมพล ป.พิบูลสงครามนั่นแหละ! เพราะเขาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังรัฐประหาร ที่นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ เข้าโค่นล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ภายใต้การวางแผนอยู่เบื้องหลังของจอมพล ป.และในตอนนั้น จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ มียศเป็นเพียงนายพันเอกแห่งกองทัพบกเท่านั้น)ว่า “ขวัญใจประชาชน”!     

หลังหลวงพิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์(ผู้กุมกองกำลังค้ำยัน)ถูกกดดันให้ลี้ภัยไปต่างประเทศทั้งชุดเรียบร้อยแล้ว จอมพลสฤษดิ์ฯท่านก็กุมอำนาจทางการเมืองไว้อย่างเบ็ดเสร็จ  ได้แต่งตั้งให้นายพจน์ สารสิน รักษาการนายกรัฐมนตรี และจัดการเลือกตั้งทั่วไป จนได้พลโทถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น)จากพรรค “ชาติสังคม” (ของจอมพลสฤษดิ์ฯเอง!) ขึ้นเป็นผู้นำประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด!

ขณะที่จอมพลสฤษดิ์ฯได้รับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐฯ (โดยการจัดการของทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยขณะนั้นคือนาย Max Waldo Bishop)ให้ไปพักรักษาตัว ณ โรงพยาบาลวอลเตอร์รีด (และเจรจาตกลงความเมืองเรื่องสำคัญ?) แล้วเดินทางกลับเมืองไทยมาทำการรัฐประหารรัฐบาลหุ่นเชิดถนอม  กิตติขจร(ลูกน้องตัวเอง)ในเดือนตุลาคม 2501 เที่ยวนี้จอมพลสฤษดิ์ฯก็ประกาศตัวเองขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “ตัวจริง” อย่างเต็มรูปแบบและเต็มอำนาจในมือ ในฐานะ “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”!

แล้วขบวนแถวบุคลากรของรัฐบาล “อเมริกามหามิตร” ในรูปแบบและฐานะต่างๆก็เคลื่อนขบวนเข้าสู่ประเทศไทยกันอย่าง “สะพรึ่บสะพรั่ง ณ หน้า และ หลัง ณ ซ้าย และ ขวา” กันทันที!

เริ่มด้วยในนาม “ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสังคม” เพื่อ “เก็บข้อมูลศึกษาวิจัย สังคมไทยด้านต่างๆ” และเพื่อเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความทันสมัย (Modernization)!

และแล้ว “แผนพัฒนาเศรษฐกิจ(ยังไม่มีคำ “และสังคม”) ระยะที่ 1 ก็ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปีพุทธศักราช 2504 นับเวลาจนถึงปัจจุบัน ก็นับเวลาได้ทั้งสิ้นร่วม 6 ทศวรรษ หรือ 60 ปี พอดิบพอดี!

พร้อมๆกับการ “สนับสนุนช่วยเหลือ” ทั้งด้าน “งบให้เปล่า” และ อื่นๆ อีกหลายประการ จากสหรัฐอเมริกา  จากนั้น ประเทศไทยก็กลายเป็น “ฐานทัพ” เพื่อการทำ “สงครามอินโดจีน” (เวียดนามเป็นหลัก)ของสหรัฐอเมริกาไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวและโดยปริยาย ด้วยข้อตกลงเพียงโดยวาจาของผู้ปกครองประเทศผู้เรืองนามในยามนั้น และต่อเนื่องมาอีกยาวนานนับกว่าสิบปี !

ก่อเกิดปมปัญหามากมายให้กับสังคมไทยอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง ทั้งด้านโครงสร้างชั้นล่าง(Base structure)และโครงสร้างชั้นบน(Super structure) ทั้งที่ปรากฏให้เห็นบนพรมและที่ซุกอยู่ใต้พรม ทั้งที่เป็น “ฮาร์ด พาวเวอร์” และ “ซอฟต์ พาวเวอร์” ทั้งด้านกิจการในประเทศและต่างประเทศ ฯลฯ

ช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 จนถึงปี พ.ศ. 2519 (ที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนสามารถขับไล่ฐานทัพอเมริกาให้ออกไปจากประเทศไทยได้สำเร็จ) รวมทั้งสิ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 18 ปี มี “กิจการอเมริกัน” เกิดขึ้นในสังคมไทยมากมายเสียจนยากจะคณานับ!

ประเด็นและรายละเอียดที่เกี่ยวกับ “อเมริกัน” ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างสำคัญ และ อย่างยาวนานมาจนถึงปัจจุบันเช่นนี้ คงมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาแจงนับให้เห็นกันเพื่อความประจักษ์ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพกันบ้างสักเล็กน้อย ก็น่าจะดีมิใช่หรือ?!!!!!