เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

รัฐมนตรีฮาเบ็คของเยอรมนีแนะนำให้อาบน้ำน้อยลงเพื่อประหยัดพลังงาน ก็ขำกัน ถ้าเป็นเมืองไทย รัฐมนตรีท่านนี้อาจได้ชื่อว่ารัฐมนตรี “ฮา 5 ขัน” ซึ่งเขาก็มีเหตุผล แม้เป็นมาตรการเล็กๆ แต่ถ้าทำกันทุกบ้านก็น่าจะประหยัดก๊าซได้ไม่น้อย เพราะที่เยอรมนีต้องอาบน้ำอุ่นกันทั้งปี

แต่ที่ไม่ขำ คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่จบ เยอรมนีคงต้องกลับไปใช้ถ่านหินและนิวเคลียร์เพื่อผลิตพลังงาน ที่ไม่อาจลดเลิกได้ตามที่ประกาศไว้ในนโยบายลดโลกร้อน

เยอรมนีใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าขณะนี้ประมาณ 41% ทำความร้อนความเย็น 16% เพื่อการขนส่ง 7% และเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยนโยบายการส่งเสริมที่ชัดเจนของรัฐบาลที่ต้องการเลิกพลังงานนิวเคลียร์ในปี 2022 นี้ และเลิกใช้ถ่านหินทั้งหมดในปี 2035

เยอรมนีมีเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานหมุนเวียนประเทศแรกของโลก (the world's first major renewable energy economy)  โดยใช้พลังงานจากลม ชีวมวล แสงอาทิตย์ น้ำ และความร้อนใต้ดิน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของพลังงานทั้งหมด และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี

บ้านเรามีศักยภาพมากกว่าเยอรมนีในการผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่มีวิสัยทัศน์สั้นกว่า เจตจำนงทางการเมืองน้อยกว่า เรามีแดดมากกว่า มีวัสดุเพื่อผลิตพลังงานชีวมวลมากกว่า  แต่เพราะนโยบายที่เหมือนกับ “ผูกขาด” พลังงานโดยรัฐ ทำให้พลังงานหมุนเวียนเป็นเพียง “ทางเลือก” ที่คิดได้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น

ประเทศบราซิลปลูกอ้อยอันดับหนึ่งของโลก นำผลผลิตครึ่งหนึ่งมาทำเอทานอล ใช้กับรถยนต์ได้กว่าครึ่งหนึ่งในประเทศ  ไทยผลิตอ้อยได้เป็นอันดับ 4 รองจากบราซิล อินเดีย และจีน ผลิตมันสำปะหลังอันดับ 3 ของโลก  ผลิตปาล์มเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย

ในยามที่โลกเกิดวิกฤติ เพราะโควิดและสงคราม บ้านเราน่าจะกำหนดอาหารและพลังงานเป็นวาระแห่งชาติเพื่อจะพึ่งตนเองในสองด้านนี้อย่างไร รื้อสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เรื่องแรก คือ พลังงานชีวมวล นอกจากขยะที่กองเป็นภูเขาเลากา ที่ยังไม่มีการจัดการที่ดี ที่ใช้เป็นก๊าซ เป็นไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี แต่มีปัญหาที่สร้างมลพิษ ถูกต่อต้านจากชุมชน ทั้งๆ ที่มีมาตรการ มีกฎหมาย และมีเทคโนโลยี แต่ไม่มีความโปร่งใส ชุมชนไม่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน รวมทั้งการรับผลประโยชน์ที่แท้จริง

ขณะที่เรามีของเหลือจากอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ที่นำมาผลิตพลังงานได้อย่างมหาศาล ยังไม่รวมไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จากพืชทั้งสามชนิดนี้โดยตรง รวมไปถึงพืชโตเร็วอย่างไผ่ กระถิน หญ้าเนเปียร์ ฯลฯ

ที่สำคัญ คือ ปาล์ม ที่วันนี้อาจจะราคาดีเพราะมีปัญหาน้ำมันพืชขาดตลาดโลก แต่กระนั้น ไทยเราก็สามารถนำปาล์มมาผลิตไฟฟ้าได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งส่งเสริมให้ปลูกเพิ่มขึ้น แม้ว่าขณะนี้ปลูกอยู่กว่า 6 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 16 ล้านตัน นอกจากภาคใต้ก็ปลูกกันทั่วประเทศแล้ว พื้นที่เกษตรยังมีอีกมาก

จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร มีพื้นที่ปลูกปาล์มแต่ละจังหวัดเกือบล้านไร่ ให้ผลผลิต 2-3 ล้านตัน กระบี่เคยมีแผนพึ่งตนเองด้านพลังงาน ช่วงนี้พลังประชาชนเข้มแข็งขึ้น หลังจาก “ชัยชนะ” เรื่อง “ถ่านหิน” คงจะก้าวไปถึงขั้นพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเอง 100% ด้วยพลังงานหมุนเวียน จับตาดู “จังหวัดต้นแบบ” แห่งนี้

พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เอกชนและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯก็ทำใหญ่ๆ อยู่หลายแห่งทั่วประเทศ ประเด็นอยู่ที่การส่งเสริมให้การประกอบการต่างๆ รวมทั้งครัวเรือนผลิตไฟฟ้าใช้เองยังเป็นปัญหา ติดขัดที่การไฟฟ้าซื้อถูกขายคืนแพง แล้วยังมี “โควตา” ที่ทำให้ “ชาวบ้าน” ยากที่จะลงทุนทำ เพราะเหลือใช้ก็ขายไม่ได้

คงต้องรอให้แบตเตอรี่ราคาถูกลงมากกว่านี้ และเทคโนโลยีที่มีรูปแบบเล็กและมีประสิทธิภาพสูงใช้ในครัวเรือน เก็บพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้ได้ทั้งกลางวันกลางคืน ชาร์จรถยนต์ โดยไม่ต้องขายให้การไฟฟ้าก็คุ้ม ซึ่งคงอีกไม่นาน ก็ไม่ทราบว่า รัฐจะยังหาวิธีปกป้องผลประโยชน์ของการไฟฟ้าต่อไปแบบไหนอีก

ที่สุดแล้ว ปัญหาการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นทางเลือกและทางรอดของบ้านเมืองติดขัดอยู่อย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ คือ หนึ่ง การกระจายอำนาจ กระจายไฟฟ้า หรือที่เรียกหรูๆ ว่า ประชาธิปไตยพลังงาน ที่ควรส่งเสริมให้ชุมชน ให้ครัวเรือนสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ ซึ่งมีวิธีการมากมาย อยู่ที่เจตจำนงทางการเมือง

สอง ความโปร่งใส ไม่โกงกิน ไม่คอร์รัปชันทั้งทางนโยบายและทางปฏิบัติ ที่มีการกล่าวหา การประท้วงเรื่องพลังงานตลอดมา มีคำถามมากมายต่อธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจไฟฟ้า ที่มีเรื่องเล่าไม่รู้จบ

ถ้าอำนาจรัฐยัง “ผูกขาดและเป็นเผด็จการ” ปกป้องผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง คงออกจากหลุมดำพลังงานไม่ได้ รัฐต้อง “คาย” อำนาจ ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาอาหารและพลังงานได้อย่างแน่นอน

สาม มียุทธศาสตร์ก็เหมือนไม่มี เขียนวิสัยทัศน์แต่ไม่ปฏิบัติก็เหมือนฝันกลางวัน เพราะทำงานแบบพายเรือคนละลำ ไม่ได้ลงเรือลำเดียวกัน ไม่ทำสิ่งที่เรียกว่า “บูรณาการ” ชอบสร้างกำแพง ไม่สร้างสะพาน

ยกตัวอย่างที่ปากช่อง เขาใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและที่พักผ่อนของคนเมือง เพราะอากาศดี แต่ไล่คนกรุงเทพฯ คนเมือง นักท่องเที่ยว ที่หนีมลพิษควันพิษในเมืองไปเจอกลิ่นขี้หมู ขี้ไก่ ขี้วัว ทั้งๆ ที่มีกฎเกณฑ์ของกระทรวงให้เทศบาล อบต.ดูแลเรื่อง “กลิ่น”

ทั้งๆ ที่ทั้งมูลสัตว์ น้ำเสียจากคอก ฟาร์มใหญ่ สามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานได้ มีเทคโนโลยี แต่ไม่มีแรงจูงใจจากรัฐให้ภาคเอกชนจัดการดังกล่าว มีแต่จะไปควบคุม ไปจับ เป็นโอกาสให้เกิดการโกงกินมากกว่า

การพัฒนาปากช่อง เขาใหญ่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนิเวศที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทยก็ทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีศักยภาพสูงมาก นอกจากภูมิประเทศ อากาศเย็นดี ยังมีแดด ลม ชีวมวล มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย หญ้าเนเปียร์ และพื้นที่เกษตรที่ปลูกพืชพลังงานได้ เป็นที่ราชพัสดุ ที่ส.ป.ก. ต่อติดไปวังน้ำเขียวรวมหลายแสนไร่

เรื่องพลังงานและวิกฤติใหญ่ไม่ควรดูถูกศรีลังกาหรือลาวที่ประสบปัญหา เพราะเราก็เคยมี “ต้มยำกุ้ง” เมื่อ 20 ปีก่อน วิกฤติเกิดได้หลายแบบ สรุปบทเรียนให้ลึกก็จะรอด