เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit          

ความขัดแย้งที่เป็น “สงคราม” ในโลกครั้งนี้มี “พลังงาน” เป็นอาวุธสำคัญที่สุด จำชื่อ “Gazprom” ไว้ให้ดี นี่คือ “ฐานขีปนาวุธ” ที่สำคัญที่สุดของรัสเซีย

แค่หนึ่งวันหลังการประกาศให้ประเทศต่างๆ จ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล บริษัทก๊าซพร็อมก็ตัดการส่งก๊าซให้โปแลนด์และบุลเกียทั้งหมด ต่อมาไม่นาน ทั้งฟินแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ก็ถูกงดส่งก๊าซเช่นกัน           

ประเทศในยุโรปรวมหัวกันบอยคอตโดยการลดการพึ่งก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อไม่ให้มีเงินไปทำสงครามกับยูเครน แต่ก็ต้องรับผลตามมาที่เหมือนบูมเมอแรง สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง  ค่าครองชีพแพงขึ้น เงินเฟ้อสูงสุดในรอบหลายสิบปี           

เมื่อ อี เอฟ ชูมาเคอร์ บอกไว้เมื่อ 40 กว่าปีก่อนว่า มีเพียง 2 เรื่องที่สำคัญที่สุดในโลก คือ อาหารและพลังงาน คนหัวเราะและไม่สนใจในเนื้อหาหนังสือเล่มน้อย “เล็กนั้นงาม” (Small is Beautiful) ของเขา           

สถานการณ์โลกวันนี้ยืนยันคำกล่าวของชูมาเคอร์ว่า คนต้องเดิน “2 ขา” ขาหนึ่งง่อย อีกขาก็กระทบและเดินไม่ได้  เมื่อโควิดมา เกิดปัญหาที่ยูเครน โลกก็เป็นง่อย ไม่มีน้ำมัน ไม่มีก๊าซ ทำให้อาหารและปุ๋ยที่ผลิตมากที่ยูเครนและรัสเซียก็เกิดปัญหาเพราะต้องผลิต ต้องขนส่ง ซึ่งทำให้ทุกอย่างแพงขึ้น และเงินก็ถูกลง เงินเฟ้อ           

โลกาภิวัตน์กำลังกลายเป็นโลกาวิบัติ เพราะโลกที่เล็กลง สัมพันธ์กันหมด มีรูปแบบเดียวกันหมด ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีความหลากหลาย ไม่ใช้พลังท้องถิ่นพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองมากกว่าพึ่ง “โลก” ที่มหาอำนาจสร้างระเบียบไว้  ผูกทุกอย่างไว้กับดอลลาร์ ขึ้นต่ออเมริกา ที่สุดก็รับผลกรรมกันถ้วนหน้า           

ลองพิจารณาสถานการณ์น้ำมันและก๊าซในโลกวันนี้ ที่ร้อยละ 86 อยู่ในมือของ 10 ประเทศ คือ สหรัฐฯ ซาอุฯ รัสเซีย อิรัก อิหร่าน คูเวต ยูเออี ลิเบีย  เวเนซุเอลา แคนาดา           

ส่วนก๊าซ ร้อยละ 81 อยู่ที่ สหรัฐ รัสเซีย คูเวต ยูเออี กาตาร์ เวเนซุเอลา ไนจีเรีย ลีเบีย อิรัก อิหร่าน เติร์กเมนิสถาน จีน  3 ประเทศที่ผลิตน้ำมันสูงสุดรวมกันถึง 40% คือ สหรัฐฯ ซาอุฯ รัสเซีย  2 ประเทศที่ผลิตก๊าซได้ 40% คือ สหรัฐฯและรัสเซีย  4 ประเทศ: อิรัก อิหร่าน ซาอุฯ คูเวต ยูเออี ผลิตน้ำมันได้ 48% และก๊าซได้ 40% ของโลก           

ภูมิภาคที่บริโภคน้ำมันมากที่สุด คือ เอเชียแปซิฟิก 38% (จีนประเทศเดียว 16%) อเมริกาเหนือ 23.5%  ยุโรป 14.5%  ตะวันออกกลาง 9.5% อเมริกาใต้ 6% แอฟริกา 4%           

 ภูมิภาคที่บริโภคก๊าซ คือ อเมริกาเหนือ 27% เอเชียแปซิฟิก 22.5% ตะวันออกกลาง 14.4% ยุโรป 14.2%  เอเชียกลางและตะวันออกกลาง 14.1% แอฟริกา 4% เอมริกากลางและใต้ 3.8%           

การขนส่งน้ำมัน 60% ทางทะเล 40% ทางบก รถยนต์ รถไฟ ท่อส่งน้ำมัน ส่วนการขนส่งก๊าซมีปัญหา เพราะขนส่งทางเรือต้องมีอุณหภูมิ -162 องศาเซลเซียส เมื่อถึงที่หมายแล้วต้องทำให้ก๊าซละลาย กระบวนการทั้งหมดยุ่งยาก หลายประเทศไม่มีความพร้อมทางเทคโนโลยี ทำให้การขนส่งทางเรือแพงมาก ขนส่งทางท่อดีที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัดมากมายเช่นกัน ทั้งไกลและต้องผ่านประเทศที่มีปัญหา           

เรื่องระหว่างอียูกับรัสเซียวันนี้มีความซับซ้อน รบกันด้วยอาวุธที่ยูเครน ที่อียูส่งทั้งเงินและอาวุธไปช่วย แต่ก็รบกันด้วย “พลังงาน” เพราะ 41% ของน้ำมันและก๊าซที่ใช้ในอียูมาจากรัสเซีย           

การขนส่งพลังงานจากรัสเซียไปยุโรปก่อนนี้มีหลายทาง ผ่านยูเครนเป็นทางหลัก ผ่านทะเลบอลติกและทะเลดำเป็นทางรอง ต่อมามีการเพิ่มท่อส่งที่ทะเลบอลติกที่เรียกว่า Nord Stream 2 ที่ส่งมาเยอรมนีเป็นหลัก เปิดเมื่อเดือนตุลาคม 2021 แต่ก็ปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022

เยอรมนีต้องทำเพราะถูกกดดันจากสหรัฐเพื่อบอยคอตรัสเซีย เยอรมนีต้องพึ่งน้ำมันถึง 33% และก๊าซ 35% จากรัสเซีย  ประเทศในยุโรปอื่นๆ ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า มากน้อยต่างกัน ฝรั่งเศสได้รับผลกระทบน้อยเพราะพึ่งน้ำมันจากรัสเซียเพียง 15% เพราะส่วนใหญ่ยังใช้พลังงานนิวเคลียร์

ทางออกไม่ง่ายสำหรับยุโรปและประเทศต่างๆ ที่จะไปซื้อน้ำมันและก๊าซจากประเทศอื่นๆ นอกจากรัสเซีย  เพราะราคาที่แพงขึ้นมาก การขนส่งที่เป็นปัญหา ระยะเวลา ระยะทาง และอื่นๆ

ภูมิรัฐศาสตร์การพลังงานได้เปลี่ยนไปหมด ทางรอดทางเลือกเหลือไม่มาก เยอรมนีกำลังพิจารณากลับไปใช้ถ่านหินและนิวเคลียร์ กลืนน้ำลายตัวเองที่วางเป้าหมายว่า ภายในปี 2022 จะยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ และปี 2035 ถ่านหินต้องหมดไป

ผู้เชี่ยวชาญยุโรปคาดว่า ไม่นาน รัสเซียอาจตัดการส่งก๊าซทั้งหมดให้ยุโรป การรบที่ยูเครนก็รบไป ยุทธการพลังงานอาหารก็แรงขึ้น แค่นี้บางประเทศอย่างอังกฤษต้องอดมื้อกินมื้อ ยืดเยื้อจนที่สุดอาจจะยกระดับเป็นสงครามนิวเคลียร์ก็เป็นได้

สงครามไม่ว่าผู้ชนะหรือผู้แพ้ต่างก็บาดเจ็บด้วยกันทั้งนั้น ในอดีต สงครามเกิดในช่วงเปลี่ยนผ่านจากมหาอำนาจเก่าไปสู่มหาอำนาจใหม่ จากอังกฤษมาเป็นสหรัฐอเมริกาหลังสงคราม ที่กำลังล่มสลายเช่นเดียวยกับ “จักรวรรดิ” ทั้งหลายในอดีต ให้จีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ ผ่านสงครามยูเครนและอาจเป็นไต้หวันต่อไป

ถึงเวลาที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯด้อยค่าจนอาจกลายเป็นเงินกงเต๊ก ถึงเวลาที่อเมริกาต้องกลับลำไปง้อซาอุฯ และอาจลดเลิกบอยคอตอิหร่าน เหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นสิงโตเจ้าป่าที่กำลังป่วยและอาจล้มในอีกไม่นาน

ไอน์สไตน์บอกว่า ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดแบบถอนรากถอนโคน (to change the way of thinking radically) โลกวิบัติแน่ หายนะที่กำลังเกิดอาจทำให้โลกต้องกลับมา “เล็กลง” เล็กทั้งกายภาพที่ถูกทำลายหายไปส่วนหนึ่ง เล็กทั้งวิธีคิดและวิธีปฏิบัติ อ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น ไม่ทำตัวยิ่งใหญ่เหนือสรรพสิ่งอย่างทุกวันนี้

บ้านเราถ้ารู้จัก “พอเพียง” ซึ่งก็คือฐานคิดเดียวกับ “เล็กนั้นงาม” ทำให้พอกินพอใช้ พึ่งตนเองได้ทางอาหารและพลังงาน “ไม่ต้องเป็นเสือก็ได้” เป็นแมวเล็กๆ ตัวหนึ่งก็อยู่ได้ดีและมีความสุข