เสือตัวที่ 6

การต่อสู้ในสงครามรัสเซียกับยูเครนตั้งแต่ 24 ก.พ. 65 จวบจนวันนี้ ทำให้เห็นว่า ยิ่งนานวันสถานการณ์อันเลวร้ายได้กระจายไปทั่วโลก กระทบกับเศรษฐกิจทุกระดับอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยการต่อสู้ในสงครามครั้งนี้ เปรียบเสมือนสงครามโลกยุคใหม่ที่แม้วันนี้ จะยังไม่มีการประกาศสงครามกันอย่างชัดเจนระหว่างคู่สงครามโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย หากแต่การกระทำผ่านนโยบายทั้งหลายของแต่ละฝ่าย ต่างบ่งบอกให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นปรปักษ์หรือคู่สงครามกันอย่างชัดแจ้ง โดยผ่านการต่อสู้กันทางเศรษฐกิจเป็นหลักและการสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธที่ทันสมัยให้กับพันธมิตรของตนอย่างออกนอกหน้า ทำให้การต่อสู้ในสงครามครั้งนี้เสมือนกับการทำสงครามตัวแทนของโลกตะวันตกผ่านยูเครนกับคู่สงครามอย่างรัสเซียที่มีพันธมิตรอย่างจีนและอินเดียเป็นประเทศสนับสนุนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้าน้ำมันดิบกับรัสเซีย ทำให้รัสเซียยังคงสามารถยืนหยัดทั้งยังกลับผงาดขึ้นเป็นรายได้สูงขึ้นจากการขายน้ำมันให้จีนและอินเดียด้วยซ้ำ มาตรการการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้าน้ำมันกับรัสเซียและการคว่ำบาตรด้านอื่นๆ ต่อรัสเซีย จึงไม่ส่งผลให้รัสเซียอ่อนกำลังลงแต่อย่างใด            

ต้องเข้าใจรับรู้ว่ารัสเซีย คือประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลกรองจากซาอุดิอาระเบีย และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับ 1 ของโลกอีกด้วย โดยเฉพาะศักยภาพด้านเศรษฐกิจของรัสเซียในยุคปัจจุบันนี้   มีความเข้มแข็งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสหรัฐอเมริกาเท่าใดนัก ทั้งยังมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจกว้างขวางกว่าในอดีตมากมายนัก ดังนั้น จึงเป็นการยากที่สหรัฐฯ จะใช้วิธีที่ตนเองเคยเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลกเฉกเช่นอดีต ออกมาตรการใดๆ ที่หวังจะลดตอนความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการทหารของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซียลงได้อย่างที่คิด การต่อสู้ในสงครามรัสเซียกับที่มีชาติตะวันตกที่มียูเครนเป็นตัวแสดงแทน จึงยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ และไม่มีทีท่าว่าจะบีบบังคับให้รัสเซียยอมยุติปฏิบัติการทางทหารแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม มาตรการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอาวุธยุทธภัณฑ์สงคราม การเงินการงบประมาณจำนวนมหาศาล และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย กลับสะท้อนกลับไปยังชาติตะวันตกทั้งหลายให้เกิดภาวะราคาน้ำมันแพงลิบลิ่ว การขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในยุโรป เงินเฟ้อรุนแรง ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ภาวะวิกฤติด้านอาหารโลก เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างน่ากังวล            

ความพยายามตะวันตกที่หวังโดดเดี่ยวรัสเชีย ตอบโต้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียดังกล่าว ผลักให้ราคาธัญพืช น้ำมันประกอบอาหาร ปุ๋ยและราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น และความพยายามของสหรัฐฯ ในการปิดล้อมทางการค้าต่อรัสเซีย การบีบให้จีนและอินเดียไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซียกลับล้มเหลว เพราะความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเชียกับจีนนั้นแนบแน่นเกินกว่าที่สหรัฐฯ จะเข้าใจ โดยประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเชีย กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับจีน ถือว่าดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา และยกย่องความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ ที่มีเป้าหมายตอบโต้อิทธิพลของสหรัฐฯ และมหาอำนาจยุโรป กล่าวโทษการตัดสินใจรุกรานยูเครนของปูติน ว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเชียกับตะวันตกดำดิ่งสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบาปี 1962 ในนั้นรวมถึงการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงที่สุด ในประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่            

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้กล่าวกับปูติน อย่างชัดเจนถึงพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันอย่างแนบแน่นระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์ในวันที่ 15 มิ.ย. 65 ว่าปักกิ่งและมอสโก มีความตั้งใจเดินหน้าสนับสนุนกันและกันในประเด็นอื่นๆ ซึ่งในนั้นรวมถึงผลประโยชน์สำคัญๆ และความกังวลหลักๆ อย่างเช่นประเด็นด้านอำนาจอธิปไตยและความมั่นคง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเชีย โดยผู้นำทั้งสองเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเชียกับจีน อยู่ในระดับสูงที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนและกำลังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และน่ากังวลต่อผู้นำทุกประเทศผ่านคำกล่าวของประธานาธิบดีจีน ที่เน้นย้ำว่าความเคลื่อนไหวของรัสเซียมีความชอบธรรม เพื่อป้องผลประโยชน์ของประเทศ ในขณะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่เกิดจากกองกำลังภายนอก ที่บ่งบอกว่า สงครามครั้งนี้คงไม่จบลงง่ายๆ ในเร็ววัน ในทางกลับกัน มันมีแนวโน้มสูงที่จะขยายวงกว้างไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก อันจะส่งผลต่อความเลวร้ายทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกที่จะต้องเผชิญกับชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ            

ล่าสุด เมื่อ 20 มิ.ย. รอยเตอร์รายงานว่า รัสเซียเตือนลิทัวเนีย สมาชิกองค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต ว่าจะดำเนินการตอบโต้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัสเซีย หลังลิทัวเนียสกัดกั้นการขนส่งสินค้าไม่ให้เข้าออกแคว้นคาลินินกราด ทำให้กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเรียกเอกอัครราชทูตลิทัวเนียประจำกรุงมอสโกเข้าพบเพื่อยื่นจดหมายประท้วงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าเป็นพฤติกรรมของลิทัวเนีย ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับรัสเซีย เป็นการละเมิดข้อบังคับทุกอย่างที่มีอยู่ โดยโฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า สถานการณ์นั้นมีความร้ายแรงอย่างมาก เพราะการตัดสินใจของทางการลิทัวเนียนับว่ารุนแรงอย่างที่สุดเท่าที่เคยมีมา และย้ำว่า หากเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างรัสเซียกับแคว้น  คาลินินกราดยังไม่กลับมาเป็นปกติในอนาคตอันใกล้นี้ ทางการรัสเซียขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ เหล่านี้ยิ่งทำให้สถานการณ์วิกฤติของโลกเลวร้ายลงไปอีก            

แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนีย จะออกมาแก้ตัวกล่าวอ้างว่า ทางการลิทัวเนียไม่ได้ดำเนินการใดๆ เองตามลำพัง หากแต่เป็นการดำเนินการในนามของมติอียู ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 17 มิ.ย. อันเป็นความพยายามในการปกป้องตนเองโดยการลากโยงความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวไปสู่กลุ่มประเทศนาโต ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้รัสเซียหวั่นเกรงและลดความแข็งกร้าวต่อลิทัวเนียแต่ประการใด หากแต่ยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้าเข้าใกล้สงครามทางทหารโดยตรงระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการช่วยประคับประคองให้สถานการณ์ความเลวร้ายทางเศรษฐกิจที่ทุกประเทศกำลังประสบอยู่ทุกวันนี้ดีขึ้น   

การต่อสู้ในรูปแบบใหม่ในโลกยุคใหม่จึงเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนลุ่มลึกและหมิ่นแหม่ต่อหายนะต่อมวลมนุษยชาติที่ทุกประเทศต้องจับตามอง และควรทุ่มเทความพยายามทั้งปวงไม่ให้สถานการณ์การต่อสู้ของมหาอำนาจครั้งนี้เลวร้ายลงไปกว่านี้ ที่สำคัญทุกประเทศต้องเตรียมความพร้อมให้กับคนในชาติสามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤติใหญ่หลวงหนนี้ เพราะหากการต่อสู้ในสงครามครั้งนี้ยิ่งยืดเยื้อต่อไปเท่าใด หายนะของโลกก็จะยิ่งเกิดขึ้นเป็นร้อยเท่าพันทวีกว่าสงครามใดๆ ที่มนุษยชาติเคยเผชิญ