สถาพร ศรีสัจจัง           

คนไทยรุ่น “สงครามอินโดจีน” (ทศวรรษ 1970) หรือที่เรียกกันในยุคก่อนว่า “คนรุ่น 14 ตุลาฯ” ซึ่งคน “เจน”วาย เแซด  ในสังคมไทยรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่น่าจะ “ลืม” หรือไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า “เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ(2516)” กันไปเรียบร้อยโรงเรียน “ตะวันตก” แล้วละมั้ง!           

หรือจะเป็นไปตามวาทกรรมที่ว่า “คนไทยลืมง่าย?” หรือ “คนรุ่นใหม่ไม่มีราก ไม่มีประวัติศาสตร์?” หรือ “เพราะผู้บริหารรัฐไทยที่ผ่านมาทุกคณะล้วนเฮงซวย ไม่มีการสร้างสรรค์ระบบ(การศึกษา)ที่ช่วยให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงความสำคัญของ “รากทางสังคม” (หรือประวัติศาสตร์) ว่าเป็น “soft power” ที่สำคัญยิ่ง!?         

เพราะสิ่งที่เรียกว่า “Soft power” หรือ “วัฒนธรรม” (Culture) หรือ “โครงสร้างชั้นบน” (Super structure)นี่แหละที่จะกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “คุณภาพของประชากร” (อ้าง : ศ.สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์)           

ที่ต้องพูดถึงคนรุ่นทศวรรษ 1970 นี้ขึ้นมาก็เพราะเริ่มเห็น “ลาง” บางประการว่า “ประวัติศาสตร์” ของสยามประเทศวันนี้กำลังจะ “ซ้ำรอย” กับสยามประเทศยุคทศวรรษ 1970 อีกครั้งหรือเปล่า?             

นั่นคือที่มาของหัวข้อเรื่อง “อเมริกันอันตราย!” ตามที่จั่วหัวไว้!            

คำ “อเมริกันอันตราย!” เป็นคำที่วงดนตรีเพื่อชีวิตซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “วงครู” หรือ “ต้นแบบแรก” ของวงการ “เพลงเพื่อชีวิต”  คือวง “คาราวาน” ที่มีศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ชื่อ หงา สุรชัย  จันทิมาธร เป็นหัวหน้าวง (มีสมาชิกประกอบด้วย แดง - วีระศักดิ์  สุนทรศรี(เสียชีวิต)/หว่อง-มงคล อุทก(เสียชีวิต)/ และ ทองกราน  ทานา) ใช้ตั้งเป็นชื่ออัลบั้มชุดที่ 2 ของวง(อัลบั้มแรกชื่อ “คนกับควาย”)          

 เป็นอัลบั้มที่อาจนับได้ว่าโด่งดังและประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในห้วงยามนั้น และเพลงหลายเพลงในอัลบั้มนี้ก็ยังยืนยงคงกะพันเป็นที่นิยมของวงการเพลงเพื่อชีวิตมาจนถึงยุคปัจจุบัน             

อัลบั้ม “อเมริกันอันตราย” ออกมาช่วงต้นปีพ.ศ.2519 เพลงเอกคือ “อเมริกันอันตราย” แต่งโดยสมาชิกในวงคือ อืด-ทองกราน ทานา,มือลีดของวงยามนั้น โดยแต่งร่วมกับสมาชิกดั้งเดิมของวงอีกคน คือแดง-วีระศักดิ์ สุนทรศรี             

เพลงเด่นๆในอัลบั้มนี้ก็เช่น “ตายสิบเกิดแสน”/ “อเมริกันอันตราย”/ “จดหมายจากชาวนา”/ “ลุกขึ้นสู้”/ “ลำเพลินเจริญใจ ขับไสอเมริกา”/ “เซิ้งอีสาน”/ และ “ตาคำ” เป็นต้น              

เฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “อเมริกา” มีหลายเพลงด้วยกัน ได้แก่ “อเมริกันอันตราย”/ “ลำเพลินเจริญใจ ขับไสอเมริกา”/ และ “เซิ้งอีสาน”               

ลองมาดู “เนื้อเพลง” เพื่อเป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆจากบรรดาเพลงดังกล่าว ว่าคนยุคนั้นเขารู้สึกกับ “อเมริกา” อย่างไรบ้าง ก็น่าจะดีนะ คนรุ่นนี้จะได้ “เห็น”!           

เอาบางท่อนของเพลงนำอย่าง “อเมริกันอันตราย” ก่อน ท่อนหนึ่งเขาว่า “…เมืองไทยเป็นของเรา/

ทำไมให้เขาเข้ามา/จักรวรรดิอเมริกา-อเมริกามันมาย่ำยี/เมืองไทยเป็นของไทย/ออกไปไม่ใช่ของมัน/จักรวรรดิอเมริกัน/มันเที่ยวรุกราน ไม่ว่าบ้านเมืองใคร…”             

 และบางท่อนในเพลง “ลำเพลินเจริญใจ ขับไสอเมริกา” ของหว่อง-มงคล อุทก ว่าไว้อย่างนี้ :

“…อเมริกันมันกดขี่/เบิ่งเอาตี้แม่ป้า/มันปล้นแผ่นดินไทย/ทางภาคใต้ แผ่นดินทองของน้องพี่/ทรัพย์สินมีมากล้น/พวกมันปล้นแบ่งกัน…แล่วมันกินกันโจ้นๆ…ได้ยินบ่พี่น้อง…เฮาสิต้องเฮ็ดจั๋งใด๋…”             

 และในเพลง “เซิ้งอีสาน” (ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง) ว่า : “…มันยกย่องแต่อเมริกา/ ให้เข้ามาจัดตั้งฐานทัพ/ตั้งไนท์คลับเต็มบ้านเต็มเมือง/ไทยเฮาเปลืองทั้งข้าวทั้งน้ำ…”              

ตอนหลังเมื่อ “พงษ์เทพ  กระโดนชำนาญ” เดินทางจากโคราชมาร่วมวง “คาราวาน” อยู่ช่วงหนึ่ง เขาก็เขียนเพลง “โคราชขับไสไอ้กัน” ขึ้นร้องคู่กับเพลงชุดนี้ด้วย มีบางท่อน เช่น : “…จิ้กหัวมันขึ้นเขียง/สับดังเปรี้ยงให้ขาดกลิ้ง/จักรพรรดิอเมริกันจัญไร กับสมุนลูกหมา/อย่าให่มันเกาะกัดเมืองเรา…”             

 ที่ยกเรื่องราวในอัลบั้ม “อเมริกันอันตราย” ของวงคาราวาน มาพูดถึงเสียยืดยาว ก็เพียงเพื่ออยากแสดงให้เห็นว่า “บรรยากาศ” ของคนหนุ่มคนสาวไทยยุคนั้น เป็นยุคแห่งการ “ขับไล่อเมริกา” ที่เข้ามาตั้งฐานทัพเพื่อส่งเครื่องบินไปถล่มเวียดนาม และ ลาวอย่างดุเดือดเลือดพล่าน จนคนอินโดจีนเราต้องตายไปเป็นจำนวนมาก(ประเทศตัวเองอยู่ห่างไปเป็นหมื่นๆไมล์) อย่างแท้จริง             

แต่ท้ายที่สุดก็ต้องถูก “คนโตตัวเล็ก” คือเวียดนามล้อมตีกระหน่ำ จนต้องพ่ายแพ้สงคราม ถอยกรูดกลับบ้านไปเลียแผลแบบน่าสังเวชอย่างน่าอนาถ!                

ผู้นำไทยที่รับใช้อเมริกาอย่างสุดจิตสุดใจในยุคนั้นก็ถูกขบวนการนักเรียนนักศึกษาประชาชนเดินขบวนขับไล่จนต้องเผ่นหนีออกนอกประเทศไปก่อนแล้ว ก่อนที่ “ฐานทัพอเมริกา” จะถูกนักศึกษาประชาชนขับไล่จนต้องถอนออกจากประเทศไทยไปในที่สุดด้วย!               

นี่คือประวัติศาสตร์ระยะสั้น (50ปี) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 1970 แต่ฟังว่า,ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของทศวรรษนี้ (2020) ชนชั้นปกครองไทยยุคนี้ก็ทำเหมือนเป็นคนไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ (อยากเป็นคนรุ่นใหม่?) เห็นเริ่มทำตัวเหมือนเป็น “สมุนรับใช้” (ภาษายุคเก่า) ของอเมริกา กันอีกแล้ว คือ เขาสั่งให้ทำอะไรก็ทำตามอย่างเชื่องๆ เรียกให้ไปประชุมก็ไป ให้ใครก็ประณาม(ชาติที่เคยมีบุญคุณมาแต่อดีต ชาติที่ยกย่องกษัตริย์ไทยอย่างสูงส่ง)ฯลฯ                 

โดยเฉพาะการไปลงนามในสิ่งที่เรียกว่า “Indo-Pacific Strategy” ร่วมกับสหรัฐอเมริกานั่นนะ มันช่างน่าหวาดเสียวอีหลี!                  

จึงเห็นท่าจะต้อง “ขุด” ประวัติศาสตร์เรื่อง “อเมริกันอันตราย” ขึ้นมาละเลงให้ฟังกันยาวๆอีกสักหน่อยแล้วละกระมัง แม้จะรู้อยู่เต็มกึ๋นว่าคนอย่าง “ชนชั้นปกครอง” เขาไม่สนใจหรอก แต่อย่างน้อยชาวบ้านอย่างเราๆก็จะได้บอกตัวเองได้ว่า “ข้าแสดงบทเรียนทางความคิดของข้าแล้วโว้ย!!!!!”