แสงไทย เค้าภูไทย

 

เศรษฐกิจกัญชาของสหรัฐเป้าหมายเพิ่มมูลค่าแสนๆล้านดอลลาร์กำลังเป็นขาลง บริษัทกัญชาครบวงจรขาดทุนกันระนาว  Hemp Economy แบบสหรัญที่คนไทยและรัฐบาลวาดฝันไว้สูง น่าจะเป็นกรณีศึกษา ก่อนกระแสกัญชาจะดับวูบแบบสหรัฐ

สหรัฐเปิดกัญชาถูกกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2014 และได้ตั้งโครงการนำร่องใน 4 รัฐโดยหวังว่าอุตสาหกรรมกัญชาครบวงจรจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นมหาศาล

มีการปลูกกัญชา กัญชงนับล้านๆเอเคอร์( 1 เอเคอร์= 2.5 ไร่) รวมถึงการผลิตครบวงจร คือทั้งปลูก ทั้งผลิตเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่มจนถึงเครื่องสำอาง

มาจนถึงวันนี้ ความนิยมในผลิตภัณฑ์กัญชา/กัญชง ลดลงไปมาก แต่ในทางกลับกัน กลับมีผลเสียเข้ามาแทนที่มากมาย ตั้งแต่ปัญหาจากการเป็นยาเสพติด จนถึงปัญหาสุขภาพ ปัญหาอุบัติเหตุจากการขับขี่ยยวดยาน

จนล่าสุดปัญหาความรุนแรงเช่นการกราดยิงในโรงเรียนอนุบาลเป็นต้น

ผลจากการบริโภคกัญชาและกัญชงที่ลดลงก็คือ เกษตรกรและบริษัทกัญชาพากันขาดทุน เนื่องจากราคาลดลง อันเนื่องมาจากความนิยมของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์กัญชาลดลงและยังมีการลักลอบปลูกกัญชากัญชงจนผลผลิตล้นตลาด

ในช่วงต้นๆของโครงการนำร่องของรัฐ เกษตรกรแห่ปลูกกันคับคั่ง ไม่ต่างจากบ้านเราในขณะนี้

แรกเริ่มส่งเสริมการปลูกกัญชาและกัญชง เป้าหมายตลาดคือการขายสารสกัดจากพืชฝาแฝดคู่นี้ ซึ่งมีทั้งสาร THC(Tetrahydrocannabinol ) กับสาร  CBD( cannabidiol)

ทั้งนี้กัญชามีสาร THC ถึง 12% มี CBD 0.30% เท่านั้น  ตรงข้ามกับกัญชงที่มีสาร CBD 10-20% THC 0.7-1.00% เท่านั้น

ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯสนับสนุนการปลูกกัญชงมากกว่ากัญชขา เพราะ CBD มีคุณสมบัติเป็นยาและไม่มีความเป็นสารเสพติดเช่น THC ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทรุนแรง

นี่คือที่มาของคำว่า hemp economy เศรษฐกิจกัญชง

สารทั้ง 2 ชนิดใช้เป็นส่วนประกอบในเวชภัณฑ์และอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ฯลฯ

แต่เมื่อเกิดพิษภัยจากการใช้ โดยเฉพาะสาร THC ความนิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงก็ลดลง

เป้าหมายตลาดจึงเปลี่ยนไป มีการนำใยกัญชงไปใช้ในการผลิตสิ่งทอแทนการใช้สารสกัด

บ้านเรามีการปลูกกัญชงเพื่อใช้เส้นใยมานานแล้ว โดยราวกว่า 30 ปีก่อน ครั้งพระราชชนนียังทรงพระราชอิสริยยศ พระบรมาชินีนาถ ได้ทรงสนับสนุนการปลูกกัญชงเพื่อใช้เส้นใยควบคู่กับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อนำมาผลิตสิ่งทอที่มีราคาสูง

รัฐที่มีการปลูกกัญชากัญชงมาก อย่างคอนเนกติคัตนั้น บริษัทที่ได้รับอนุญาตปลูก ลดพื้นที่ปลูกลงทุกปี

อย่างเช่น Hemp Benchmarks นั้น ลดพื้นที่จาก 580,000 เอเคอร์เมื่อปี 2019 มาเหลือ 107,000 เอเคอร์ ในปีนี้ คือลดลง 80%ทีเดียว

นอกจากตลาดหดตัวลงแล้ว หลายรัฐถอนกัญชาถูกกฎหมายในการใช้ด้านสันทนาการ คงเหลือแต่ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น

ขณะนี้มีการห้ามใช้กัญชาสันทนาการใน 5 รัฐแล้ว จากจำนวนที่เปิดเสรี 30 รัฐ

ภาวะกัญชาขาลงส่งผลให้ราคาหุ้นกัญชาในตลาดหุ้นวอลสทรีตตกรูด มูลค่าตลาด (market cap) 12 เดือนที่ผ่านมาเหลือแค่ 0.31-2.22 ดอลลาร์

ราคาหุ้น Marijuana Stocks บนกระดานแนสแด็ก ติดลบระนาวตั้งแต่-56.9% ถึง -62.9%   

เพราะนักลงทุนเชื่อว่า อุตสาหกรรมกัญชาจะไม่คืนกลับไปคึกคัก เป็นกระแสเหมือนช่วงปีแรกๆอีกแล้ว

นักวิเคราะห์การตลาด ถึงกับกล่าวว่า The Hemp Boom is Over . What Now ? หมดยุคกัญชงบูมแล้ว ในยามนี้หรือ ?

ตลาดหุ้นบ้านเรามี “หุ้นกัญชา” เช่นกัน โดยมีการซื้อขายกันตั้งแต่ก่อนจะมีการเปิดกัญชาถูกกฎหมาย 9 มิ .ย.เสียอีก

ทั้งนี้เพราะฝันหวานกันว่า ราคากัญชาจะสูงถึง 20,000-25,000 บาทต่อกิโลกรัม มูลค่าตลาดรวมเป็นแสนๆล้านบาท

แต่พอเปิดเสรีวันแรก ราคากัญชาก็กลับผิดเป้าหมาย มีร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งนำกัญชาสดออกขายตั้งต้นที่กิโลละ 700 บาท

แต่เป็นราคาที่ไม่เป็นที่ยอมรับ (เพราะกัญชาใต้ดินกิโลกรัมละ 300-350 บาท) ลงท้ายก็เลยต้องขายตามราคาที่คอกัญชาเคยซื้อกันก่อนกัญชาจะถูกกฎหมาย

นี่เป็นสัญญาณเตือนว่า ทิศทางตลาดกัญชาของไทยจะไม่ต่างไปจากสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดกัญชาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ที่ฝันเฟื่องว่าจะส่งนอก หรือส่งขายทั่วโลก ก็อย่าไปฝัน เพราะชาติที่ยังถือกัญชาเป็นยาเสพติด ก็ห้ามนำเข้า ส่วนชาติที่เปิดกัญชาเสรี เกษตรกรบ้านเขาก็ปลูกขายกันอยู่แล้ว

ยังห่วงว่า ภาวะกัญชาล้นตลาดจะเกิดขึ้นแบบสหรัฐ ฯ

ตามที่มีการติดต่อลงทะเบียนผู้ปลูกถึง 38-39 ล้านครั้งนั้น สมมติว่าปลูกกัน 30 ล้านราย รายละ 6 ต้น อีกปีให้หลังจะมีกัญชาที่สามารถเก็บเกี่ยวใบได้ถึง 180 ล้านต้น

รวมถึงวิสาหกิจชุมชนปลูกแห่งละ 5 ไร่ กับกัญชาใต้ดินที่แอบปลูกกันอีกนับล้านๆต้น

ราคากัญชาสดยามนี้กิโลกรัมละ 400-500 บาทจะมิหล่นลงไปเหลือ 50-100 บาทหรือ ?

พวกที่เดือดร้อนคงมิใช่เกษตรกรที่ปลูกกันตามหัวไร่ปลายนาหรือแทรกอยู่ในสวนในไร่ ยังมีพืชผลหลักทำรายได้หลักอยู่

จะมีก็แต่บรรดาบริษัทที่ลงทุนเป็นแสนๆล้านๆปลูกเชิงเดี่ยวที่ฝันว่ากัญชาจะเป็น Green Gold แต่กลับกลายเป็นกรีนโคลนไปเสียได้เท่านั้นที่รับกรรม