เสือตัวที่ 6
ความมั่นคงของโลกยุคศตวรรษที่ 21 นี้ ยืนอยู่บนความล่อแหลมที่จะเกิดหายนะใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งใดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อน ก็กำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ทั้งยังลุกลามใหญ่โตจนยากที่จะมีนักวิชาการหรือนักความมั่นคงคนใดของโลกสามารถคาดการณ์สถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงของคนทั้งโลกได้ในอนาคตอันใกล้ หลายการกระทำจากน้ำมือมนุษย์โดยเฉพาะการกระทำจากผู้นำประเทศมหาอำนาจต่างไม่พึงระมัดระวังต่อบทบาทและข้อคิดเห็นอันอาจกระทบให้สถานการณ์ของโลกเลวร้ายลงเท่าที่ควรจะทำ อันเป็นการกระทำที่ล้วนเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ความมั่นคงของคนทั้งโลกดิ่งลงไปในระดับที่น่ากังวลใจยิ่ง เริ่มจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำคนก่อนของสหรัฐฯ ที่ประกาศนโยบายอเมริกันต้องมาก่อน (American First) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นนโยบายสุดโต่ง อย่างที่ไม่เคยเห็นมากก่อนในอเมริกายุคอื่นๆ ความเล่าร้อนจากนโยบายและการกระทำของผู้นำสหรัฐฯ เมื่อครั้งกระนั้น เป็นเรื่องใหม่และท่าทีของประเทศชั้นนำของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระเทือนไปทั่วโลก อาทิ การถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในช่วงที่องค์การนี้มีบทบาทสำคัญในการรับมือ COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกด้วย
รวมทั้งการที่สหรัฐฯ ประกาศทำสงครามทางการค้ากับยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียจีนอย่างโจ่งแจ้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยกำหนดอัตราภาษี และมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน รวมถึงมีการกล่าวอ้างอย่างแข็งกร้าวในเวทีการเมืองระหว่างประเทศว่าจีนได้พยายามขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และยังมีการตั้งบัญชีดำทางการค้ากับบริษัทสัญชาติจีน ไม่ว่าจะเป็น Huawei และบริษัทจีนอื่นๆ อีกหลายสิบราย จนทำให้สถานการณ์โลกคุกรุ่นต่อภาวะสงครามทางการค้าและเศรษฐกิจโลก ที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจของโลกมากขึ้น ซึ่งจีนเองก็ได้ตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯ อย่างสาสมเช่นกัน
ที่สำคัญก็คือ ผู้นำสหรัฐฯ ในปัจจุบันอย่างโจ ไบเดน ก็ได้สานต่อนโยบายที่แข็งกร้าวมากขึ้นโดยเฉพาะมาตรการทางทหารที่ล่อแหลมต่อการกระทบกระทั่งกันของประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซียและจนอย่างชัดเจน โดยออกมาในรูปความร่วมมือในกลุ่มประเทศยุโรปเช่นสหภาพยุโรปที่กดดันคุกคามความมั่นคงของรัสเซียเพิ่มเติมความตึงเครียดให้กับโลกมากขึ้นเป็นลำดับ ในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ยังได้เดินหน้ากดดันซ้ำเติมสถานการณ์ความตึงเครียดให้ขยายตัวลุกลามมายังภูมิภาคเอเซีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศในคาบสมุทรเกาหลี ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอาเซียนและออสเตรเลียจากกรณีความร่วมมือทางทหารและการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ อาทิ การพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์กับกองทัพออสเตรเลีย เพื่อคานอำนาจและช่วงชิงอิทธิพลในบริเวณทะเลจีนใต้จากกองทัพจีนอย่างไม่เกรงใจใดๆ การกระทำของผู้นำสหรัฐฯ ที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน จึงเป็นการกระทำที่ส่งผลให้ความมั่นคงของโลกตกต่ำลงไปถึงจุดวิกฤติยิ่งขึ้นตามลำดับ
การประกาศตัวชัดเจนอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนต่อการสนับสนุนช่วยเหลือไต้หวันหากถูกยักษ์ใหญ่อย่างจีนปฏิบัติการรุกรานด้วยกำลังทหาร ล้วนเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ความมั่นคงของโลกให้เลวร้ายลงไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนกระทั่งการยั่วยุมหาอำนาจในยุโรปอย่างรัสเซีย จากการแสดงท่าทีที่จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย โดยการแสดงความเป็นไปได้ในการตอบรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิดนาโต (NATO) อันเป็นสาเหตุหลักที่ผู้นำรัสเซียอย่างปูติน ตัดสินใจครั้งสำคัญ ส่งกำลังกองทัพอันเกรียงไกรของเขาเข้าปฏิบัติการพิเศษทางทหารตั้งแต่ 24 ก.พ. 65 จนถึงปัจจุบัน การประกาศมาตรการชัดเจนของผู้นำสหรัฐฯ ในการเป็นปรปักษ์กับรัสเซียทั้งมาตรการทำลายหรือบั่นทอนความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างโจ่งแจ้ง รวมทั้งการสนับสนุนยูเครนทั้งจำนวนเงินมหาศาล ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีสูงนานาชนิด ล้วนแสดงให้รัสเซียโกรธเกรี้ยวสหรัฐฯ และพวก จนผู้นำรัสเซียประกาศว่าใครก็ตามที่สนับสนุนยูเครนและกระทำต่อรัสเซียนั้น ถือว่าเป็นการประกาศสงครามกับรัสเซียโดยตรง และรัสเซียพร้อมจะตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามเหล่านั้นในทุกรูปแบบเช่นกัน ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจในยุโรปและสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของโลกอย่างรุนแรงยิ่ง จนกระทบต่อคนทุกประเทศในขณะนี้
สถานการณ์ความมั่นคงของโลก ถูกซ้ำเติมมากขึ้น ความตึงเครียดลุกลามจากทวีปยุโรปมาถึงเอเชียอย่างน่ากังวล จากการเอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. 2565 กล่าวว่า การประชุมสุดยอดความมั่นคงเอเชีย (Shangri-La Dialogue: SLD) ในปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน จุดเด่นอยู่ที่การพูดคุยกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ในประเด็นสงครามยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นไต้หวัน ซึ่งสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้จีนละเว้นการกระทำที่เป็นการละเมิดความมั่นคงต่อไต้หวัน ขณะที่จีนตอบโต้อย่างแข็งกร้าวกลับไปว่า กองทัพจีนพร้อมทำสงครามเต็มรูปแบบหากไต้หวันพยายามแยกตัวออกจากจีนไม่ว่าทางใด ที่สำคัญคือ กระทรวงกลาโหมจีนแถลงเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจีนจะทำลายแผนการประกาศเอกราชของไต้หวันให้แหลกเป็นชิ้นๆ และจะผดุงรักษาความเป็นเอกราชของมาตุภูมิไว้อย่างเด็ดขาด พร้อมย้ำหนักแน่นว่า ไต้หวันคือไต้หวันของจีน และใครก็ตามที่หวังจะใช้ไต้หวันเพื่อโจมตีจีนนั้น จะไม่มีวันชนะจีนอย่างแน่นอน ทั้งยังมีท่าทีแข็งกร้าวชัดเจนว่าไต้หวันเป็นเกาะที่ปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยและอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ซึ่งจีนถือว่าเกาะไต้หวันนี้เป็นอาณาเขตของจีน และจีนเองก็พร้อมที่จะเข้ายึดไต้หวันด้วยการใช้กำลังกองทัพอันเกรียงไกรของจีนหากจำเป็น
โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน อ้างถ้อยแถลงที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจีน กล่าวกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ว่า ถ้ามีใครกล้ายุยงให้ไต้หวันแยกตัวออกจากจีน กองทัพจีนก็พร้อมทำสงครามอย่างไม่ลังเล ไม่ว่าจะต้องสูญเสียแค่ไหนก็ตาม การหวังจะใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือปิดล้อมจีน ย่อมไม่มีวันสำเร็จ ในขณะที่สหรัฐฯ ก็ประกาศว่าขอคัดค้านการกระทำฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ (Status Quo) รวมถึงขอให้จีนหยุดการกระทำใดๆ ก็ตามที่จะเป็นการบ่อนทำลายไต้หวัน ปัญหาไต้หวันเริ่มทวีความร้อนระอุ หลังจากที่จีนมีการส่งเครื่องบินรุกล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวันอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนมานี้ ยิ่งไปกว่านั้น ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ยังกล่าวระหว่างเยือนญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่แล้วว่า สหรัฐฯ พร้อมจะใช้กำลังทหารปกป้องไต้หวัน หากถูกจีนโจมตี ซึ่งเป็นถ้อยแถลงที่ฟังดูขัดแย้งกับนโยบาย ความกำกวมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Ambiguity) ที่วอชิงตันใช้กับไต้หวันมาอย่างยาวนาน ทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้นำมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน ต่างไม่ระมัดระวังท่วงท่าใดๆ ที่ล่อแหลมต่อวิกฤติโลก ทั้งยังกลับแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นอันเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์โลกให้เลวร้ายลงไปอย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น หายนะของมวลมนุษยชาติขนาดไหนและจะมาเมื่อไร จึงไม่มีใครคาดเดาได้