แสงไทย เค้าภูไทย

 

น้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นปัญหาใหญ่เรื้อรังมานับสิบๆปี เคยมีโครงการเขื่อนก้นอ่าวเลียนแบบซุยเดอซีข้ามจากแหลมผักเบี้ยมาเชื่อมปากแม่น้ำบางปะกงในยุคทักษิณงบฯ 1.6 แสนล้านแต่ถูกตีตก พอจะมาสร้างกันใหม่งบฯขึ้นไปถึง 6 แสนล้าน แพงไป ถ้าจะเอามาสร้างเขื่อนชายฝั่งปิดปากสี่แม่น้ำและชายฝั่งจังหวัดใครจังหวัดมัน ใช้งบฯแต่ละจังหวัดจะได้ไหม ?

 

กรุงเทพฯติดอันดับ 5 มหานครแห่งโลกที่จะจมน้ำภายใน 9-10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้คำนวณจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นปีละ 10-20 เซนติเมตรอันเป็นผลจากโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และการทรุดตัวของแผ่นดินซึ่งเฉพาะกรุงเทพฯปีละ 10-15 ซ.ม.

 

มหานครที่อยู่ในภาวะเสี่ยงน้ำท่วมเหตุจากแผ่นดินทรุดตัวปีละกว่า 4 นิ้ว 10 อันดับโลกคือ 1.จาการ์ตา 2. มะนิลา 3.โฮจิมินห์ 4.นิวออร์ลีนส์ 5.กรุงเทพฯ 6.โอซากา 7.ธากา บังกลาเทศ 8.เซี่ยงไฮ้ 9.เวนิส 10.อเล็กซานเดรีย อียิปต์

 

นอกจากระดับน้ำทะเลหรือมหาสมุทรจะสูงขึ้นแล้ว ประเทศที่มีดินแดนจรดทะเลยังเสี่ยงต่อสึนามิที่จะเกิดขึ้นบ่อยกว่าทุกวันนี้ด้วย

 

นครจาการ์ตาเป็นหนึ่งในห้าชาติเสี่ยงจมน้ำพร้อมกับกรุงเทพฯ เริ่มโครงการก่อสร้างเขื่อนล้อมเมืองแล้ว

 

กรุงจาการ์ตาเสี่ยงกว่ากรุงเทพฯเนื่องจากยังมีภูเขาไฟใต้น้ำที่คุอยู่หลายลูก ระเบิดแต่ละครั้ง คลื่นยักษ์โถมถล่มเมืองยับเยินทุกครั้ง

 

เขื่อนที่กั้นเมืองนั้น ไม่จำเป็นต้องสูงท่วมหัว หากคำนวณตามระดับน้ำที่เคยท่วมและคาดการณ์ว่าจะท่วม

 

น่าจะสูงราวๆเขื่อนกั้นเมืองริมแม่น้ำโขงที่เคยถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากแทบทุกปีในหลายพื้นที่

 

สำหรับโครงการเขื่อนข้ามอ่าวนั้น จุดเริ่มที่ปากแม่น้ำบางปะกงข้ามไปจรดแหลมผักเบี้ยเพชรบุรี ผ่านสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม “สามสมุทร หนึ่งมหานครา” ปิดปากน้ำ “สี่มหานที”บางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีนและแม่กลอง

 

โดยสันเขื่อนจะเป็นถนนไฮเวย์รถขนส่งสินค้าจากใต้ขึ้นมาวิ่งข้ามอ่าวมาท่าเรือแหลมฉบังได้สะดวกลัดทางไม่ต้องผ่านเส้นทางถึง 5 จังหวัดอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้

 

ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรเกี่ยวกับอุทกภัย ลงความเห็นว่า ปี 2573 กรุงเทพฯจะจมใต้บาดาลหากไม่แก้ไขปัญหาน้ำท่วม

 

อุโมงค์ยักษ์ 6 อุโมงค์ของ กทม.ลงทุนไป 2.6 หมื่นล้านบาท  คงช่วยอะไรไม่ได้มาก เพระเป็นอุโมงค์ระบายน้ำจากพื้นที่ไปลงแม่น้ำ แม่น้ำก็ไหลไปลงทะเล

 

ถ้าเป็นข้างแรมระดับน้ำทะเลลดต่ำ ก็พอจะรับน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำได้

 

แต่ถ้าเป็นข้างขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำจากแม่น้ำก็ถูกน้ำทะเลหนุนขึ้นมา กลายเป็นน้ำท่วม

 

อยากรู้ว่าน้ำทะเลหนุนสูงแค่ไหน ให้ดูที่ปากน้ำสมุทรปราการกับฝั่งตรงข้ามคือพระประแดงซึ่งเดิมเรียกว่า “ปากลัด” เหตุมีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา มาโผล่ที่เมืองนี้

 

เขื่อนกั้นริมแม่น้ำที่มีถนนอยู่ด้านหลังแล่นขนานไปกับริมเขื่อนนั้น เวลาน้ำลดคนลงไปเดินตกปลาระดับสันเขื่อนจะสูงกว่าหัวคน

 

แต่พอน้ำขึ้น มันสูงขนาดล้นริมเขื่อนไปท่วมถนนได้

 

จึงถ้าไม่สร้างเขื่อนข้ามอ่าว ก็สร้างเขื่อนริมแม่น้ำและเขื่อนปิดปากแม่น้ำทั้งสี่

 

เป็นเขื่อนที่มีประตูเปิดปิด เพื่อรักษาระบบนิเวศวิทยาสัตว์น้ำ และการสัญจรทางน้ำของประชาชน

 

น้ำไม่ได้ท่วมกันทั้งปี หน้าแล้งหรือช่วงข้างแรมน้ำลดก็เปิดประตูน้ำให้น้ำแม่น้ำไหลเป็นปกติ

 

หรือถ้าน้ำไม่มาก ระบายไปลงแก้มลิงที่สามารถรับน้ำได้เพียงพอ ก็เปิดประตูน้ำของเขื่อนตามปกติ

 

แต่ถ้าเกิดน้ำหลาก ก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลหนุนเข้ามา ส่วนข้างในแม่น้ำก็สูบระบายออกทะเลไป

 

ศึกษา “จาการ์ตาโมเดล” ดู เพราะเขาเป็นเมืองหมื่นเกาะ(กว่า 1.7 หมื่นเกาะ) อยู่กับน้ำตลอดชาติ จึงน่าจะสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม แบบเขื่อนปิดเมืองได้ดี

 

เลียนแบบเขาไม่เปลืองสมอง ประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณไปโขทีเดียว