เสือตัวที่ 6
วาระรอมฎอนสันติสุขปี 2565 เป็นวาระสำคัญของกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่แสวงหาจุดร่วมอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่ปลายด้ามขวานนั้นคือเดือนรอมฎอนเพื่อเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐในพื้นที่แห่งนี้ที่จะแสดงออกถึงความจริงใจเบื้องต้นในกระบวนการพูดคุยแสวงหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งด้วยวิถีทางแห่งสันติวิธี ซึ่งสาระสำคัญในการตกลงร่วมกันที่ว่านี้ก็คือการยุติการใช้ความรุนแรงระหว่างกันในช่วงเทศกาลถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิมที่เรียกกันว่าเดือนรอมฎอนซึ่งถือกันว่าเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องชาวมุสลิมทุกชีวิต หากแต่ข้อตกลงในการยุติการใช้ความรุนแรงดังกล่าวระหว่างคณะผู้แทนรัฐนำโดย พล.อ.วัลลภฯ กับผู้นำขบวนการเห็นต่างซึ่งเป็นตัวแทนขบวนการที่มาจากกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นหลักนั้น ถูกท้าทายและทำลายข้อตกลงสันติสุขชั่วคราวด้วยการก่อเหตุรุนแรงขึ้นระหว่างเดือนศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านมา ทั้งยังตอกย้ำให้เห็นถึงการมีตัวตนและการดำรงอยู่ซึ่งศักยภาพของคนในกลุ่มอื่นที่กำลังต่อสู้กับรัฐอย่างเข้มข้นด้วยการก่อเหตุโจมตีอย่างรุนแรงที่สถานีตำรวจน้ำตากใบ ริมฝั่งแม่น้ำโกลกเมื่อคืนวันพุธที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ผู้ก่อความไม่สงบโจมตีสถานีตำรวจน้ำ ริมฝั่งแม่น้ำโกลกด้วยอาวุธนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นระเบิดไปป์บอมบ์และอาวุธสงครามในช่วงกลางดึกทำให้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บรวมสามนาย ขณะที่กำลังติดอาวุธของขบวนการร้ายแห่งนี้อีกส่วนก็ปิดทางเข้าออกและยิงสกัดเจ้าหน้าที่ไม่ให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ นับเป็นเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ที่มีการวางแผนปฏิบัติการเป็นอย่างดี หลังจากที่ฝ่ายรัฐและบีอาร์เอ็นดำเนินความริเริ่มให้เกิดสันติสุขในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา อันเป็นการบ่บอกให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลุ่มเห็นต่างจากรัฐในพื้นที่แห่งนี้นั้นหาใช่มีแต่กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ และกลุ่มกลุ่มบีอาร์เอ็นก็ไม่ได้มีอิทธิพลเหนือกลุ่มเห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นๆ ในขบวนการต่อสู้กับรัฐแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม แต่ละกลุ่มต่างก็มีอิสระในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการปกครองกันเองในรูปแบบที่ขบวนการทั้งหลายต้องการ
แม้ว่าข้อสันนิษฐานจากรัฐจะคาดการณ์เหตุโจมตีครั้งนี้ที่ อ.ตากใบ ว่าน่าจะมีจาก 2 ประเด็นคือ ประเด็นที่หนึ่ง เป็นปัจจัยที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในขบวนการพูดคุยสันติสุขหนล่าสุดนี้ระหว่างรัฐและบีอาร์เอ็น จึงต้องการการเรียกร้องให้เห็นตัวตนของกลุ่มตน จึงกระทำการรุนแรงเพื่อขัดขวางกระยวนการพูดคุยสันติสุขที่ไม่มีกลุ่มของตนร่วมอยู่ด้วย เพื่อส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าขบวนการต่อสู้กับรัฐไม่ได้มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวอย่างที่รัฐเข้าใจ ประเด็นที่สอง เจ้าหน้าที่ให้น้ำหนักในเรื่องของการตอบโต้ผลจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปจัดการกับภัยแทรกซ้อนในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา หากแต่ประเด็นที่สองนี้ ยังมีน้ำหนักน้อยเมื่อพิจารณาจากจังหวะเวลาที่ก่อเหตุโจมตีที่ประจวบเหมาะกับห้วงเวลาหลังเดือนรอมฎอน นั่นคือมีความเป็นไปได้สูงที่คนกลุ่มนี้ต้องการขัดขวางกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ไม่เห็นพวกเขาในสายตา และอาจวิเคราะห์ได้ไกลไปกว่านั้นก็คือ การก่อเหตุร้ายรุนแรงครั้งนี้ที่ตากใบ เพื่อขัดขวางกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ไม่ใช่แนวทางการต่อสู้กับรัฐที่กลุ่มตนนิยมใช้การต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงนำการเจรจา
การก่อเหตุร้ายโจมตีเป้าหมายเป็นพื้นที่พร้อมกันในวงกว้างครั้งนี้ แสดงถึงศักยภาพของกลุ่มติดอาวุธของตนที่มีขีดความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากลุ่มอื่นรวมทั้งกลุ่มบีอาร์เอ็นที่รัฐเห็นว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมากที่สุดในขบวนการแบ่งแยกการปกครอง โดยก่อเหตุรวม 4 แห่งพร้อมกัน ทั้งการโจมตีสถานีตำรวจน้ำ ตากใบ และคนร้ายยังได้ใช้ระเบิดไปป์บอมบ์และอาวุธสงครามระดมยิงเข้าใส่อาคารสำนักงานด่านศุลกากรตากใบ ซึ่งห่างออกไปจากสถานีตำรวจน้ำประมาณ 200 เมตร รวมทั้งวางระเบิดเสาไฟฟ้า ริมถนนสาย ฮูมอลานัส-ตะปอเยาะ และหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเจ๊ะเห อีกด้วย โดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มเห็นต่างกลุ่มนี้คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 10 คน และแยกเป็นชุดปฏิบัติการจู่โจมเข้าโจมตีพร้อมกันอย่างมืออาชีพ คาดว่าเป็นการปฏิบัติการเพื่อส่งสัญญาณขัดขวางกระบวนการพูดคุยสันติสุขปีนี้ที่มีวาระสำคัญคือเดือนรอมฎอนเพื่อสันติสุขให้เดินหน้าต่อไปด้วยความยากลำบาก
กระบวนการพูดคุยสันติสุขครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม - ต้นเดือนเมษายนนี้ โดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มบีอาร์เอ็นและคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทย ได้ตกลงร่วมกันในการดำเนินความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข โดยสองฝ่ายหลีกเลี่ยงประเด็นใดๆ ที่ล่อแหลมต่อการใช้กำลังอาวุธหรือการปะทะกันขึ้นเป็นเวลา 40 วัน จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ เพื่อเป็นแนวทางนำร่องในการเดินหน้าสู่สันติสุขผ่านกระบวนการพูดคุยที่จะดำเนินต่อไป หากแต่มีกระบวนการขัดขวางเส้นทางแห่งสันติสุข ทำลายบรรยากาศและข้อตกลงใดๆ ระหว่างรัฐและกลุ่มขบวนการเห็นต่างที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม โดยอย่างน้อยก็มีกลุ่มพูโลที่อ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุวางระเบิดในพื้นที่ในห้วงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเหตุรุนแรงล่าสุดในพื้นที่ อ.ตากใบ นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-MKP) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า พูโลไม่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์โจมตีดังกล่าว หากแต่ถ้าเป็นอย่างที่กลุ่ม พูโลกล่าวจริง อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ มีกลุ่มเห็นต่างที่กำลังต่อสู้กับรัฐตามวิถีนิยมของเขาอีกหลายกลุ่มซึ่งเป็นสัญญาณให้รัฐตระหนักถึงกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ต้องใช้ท่วงทีที่ลุ่มลึกและกว้างขวางครอบคลุมกลุ่มเห็นต่างอย่างทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้
เหตุการณ์ร้ายที่ อ.ตากใบ หนนี้มีสิ่งที่สำคัญที่ต้องวิเคราะห์ให้ดีคือ กลุ่มคนร้ายปล่อยคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีนัยยะอยู่ เพื่อต้องการป่าวประกาศ สื่อให้เห็นว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ กระบวนการพูดคุยสันติสุขจะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่ยังละเลยกลุ่มขัดแย้งเห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นๆ ไม่เฉพาะบีอาร์เอ็นและพูโล ทั้งยังต้องการสื่อสารให้เห็นความเป็นตัวตนของกลุ่มและต้องการแสดงศักยภาพของกลุ่มตนว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาร์เอ็นหรือพูโล ทั้งที่ในห้วงเดือนที่ผ่านมากว่า 50-60 วัน พี่น้องในพื้นที่ต่างอยู่ในความสงบมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่อาจเป็นกลุ่มใหม่ที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มเดิมๆ และยังไม่เปิดเผยตัวมากนัก หากแต่ยังดำรงแนวคิดอัน แน่วแน่มุ่งมั่นสู่จุดหมายปลายทางด้วยความรุนแรงเป็นเครื่องมือ คนกลุ่มนี้จึงพยายามอย่างที่สุดในการขัดขวางวิถีทางแห่งสันติสุข เพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ