แสงไทย เค้าภูไทย
สถานการณ์โควิด-19 ในไทยตัวเลขผู้ติดเชื้อจนถึงเสียชีวิตรายวันลดลงในทุกด้าน จนมีแนวโน้มจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประจำฤดูที่จะต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิตเช่นเดียวกับไขหวัดใหญ่
ขณะนี้อัตราการป่วย-ตายจากการติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกลดลง จนหลายประเทศรวมทั้งไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และพยายามทำตัวให้อยู่กับมันให้ได้ โดยถือว่าเป็นโรคประจำถิ่น ประจำฤดูแบบไข้หวัดใหญ่
แต่ก็ยังจับตาดูว่า โควิด-19 จะยังกลายพันธุ์ไปทางเป็นอันตรายลดลงดังเช่นสายกลายพันธุ์โอไมครอนหรือรุนแรงมากแบบเดลตา
นับแต่ SARS-CoV -2 กลายพันธุ์มาเป็น Omicron มีการกลายพันธุ์มาจนถึงสายที่ 5 คือ BA.5 แล้ว
โดยเฉพาะยุโรปนั้น มีการจับตาดูว่าเมื่อถึงช่วงอายุที่มันจะกลายพันธุ์ใหม่ คือตกราว 22 พฤษภาคมนี้ จะมีการกลายพันธุ์อีกหรือไม่ จะก่อเกิดพิษภัยร้ายแรงรุนแรงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าหรือว่าจะลดลง
และแม้จะพบสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกกันว่าสายพันธุ์ล่องหน (Stealth Omicron)เพราะมันหลบภูมิต้านได้ แต่ก็ไม่ออกฤทธิ์รุนแรงมากเท่ากับสายพันธุ์แรกๆที่ระบาดช่วงต้นๆ
เฉพาะไทย หลังพบมีผู้ติดเชื้อโอไมครอนเมื่อเดือนมกราคม ยอดผู้ติดเชื้อลดลงเป็นระดับพันจากระดับเกินหมื่นต่อวัน
เหตุผลหนึ่ง อาจเกิดจาก ผู้ติดเชื้อบางรายไม่พบอาการ หรือมีอาการแบบไข้หวัดธรรมดา
ตัวเลขติดเชื้อที่เพิ่มเกิน 2 หมื่นรายนั้นเป็นช่วงหลังตรุษจีน โดยพบทั้งเชื้อ เดลต้าที่ยังไม่หมดไปและโอไมครอนในสัดส่วนที่โอไมครอนอยู่ระดับต่ำกว่ามาก
ตัวเลขผุ้ติดเชื้อเกินหลัก 2 หมื่นรายยังทรงอยู่ตลอดเมษายน เหตุจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ จนถึงปลายเดือนจึงลดต่ำลง
เริ่มพฤษภาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดต่ำลงกว่าระดับหมื่นแม้ตัวเลขตรวจวัด ATK จะพบเพิ่มเท่าตัว แต่ก็มีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆจนถึงกลางเดือนตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำสุดนับแต่วันขึ้นปีใหม่
โดยวันจันทร์ที่ผ่านมา ยอดติดเชื้อ 5,238 ราย ตรวจวัด ATK 3,445 รวมยอดดิดเชื้อ 8,683 ราย เสียชีวิต 40 ราย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงคือผู้ป่วยหายแล้ว 2.1 ล้านคนเศษ ซึ่งกว่า 50% ยังมีอาการตกค้างจากการป่วยหรือ ลองโควิดอยู่ชั่วระยะหนึ่ง กับอีกกลุ่มที่มีอาการลองโควิดระยะยาว 30%
ในสหรัฐที่มีผู้ติดเชื้อโควิดมากที่สุดในโลกและเสียชีวิตมากที่สุดในโลกเช่นกัน พบว่ามีผู้มีอาการลองโควิดทั้งในช่วงเวลาสั้นๆจนถึง 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์ของอวัยวะส่วนใด
ทั้งนี้ในวัฏจักรเซลล์ อายุของเซลล์ในแต่ละอวัยวะไม่เท่ากัน เมื่อเซลล์แก่ตายหรือถูกทำลายลง ก็จะมีเซลล์เกิดใหม่มาแทนที่
อย่างเช่นเซลล์ปุ่มรับรสที่ผู้ป่วยลองโควิดมักจะมีอาการทั้งรับรส รับกลิ่นนั้น อายุแค่ 10 วันเท่านั้น
เมื่อมันถูกไวรัสทำลาย ก็จะสูญเสียความรู้สึกในการรับรสรับกลิ่นไปจนกว่าจะมีเซลล์ใหม่เกิดขึ้นมาแทน จึงอาจจะเป็นอาการชั่วคราว แล้วก็หายหรือคืนสภาพขึ้นมาเอง
หรือเกิดเนื้อเยื่อพังผืดที่ปอดซึ่งมักเป็นกับคนไข้ที่เชื้อโควิดลงปอด
เมื่อมีการตายหรือกลายเป็นเนื้อเยื่อพังผืด (Fibroplasia) ก็จะมีการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาทดแทน (Proliferative Phase) ระยะเวลาที่ฟื้นฟูนานที่สุดคือ 1 ปี
แต่ก็มีการพบผู้ป่วยในสหรัฐฯบางรายมีอาการยาวมาก คือนานกว่า 2 ปีคือนับแต่มีการระบาด และกำลังมีการศึกษาว่า จะเป็นถาวรหรือไม่
อาการลองโควิดมีกว่า 200 อาการ ตั้งแต่วิงเวียน ปวดหัว เหนื่อยง่าย หอบ อ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม ไม่ได้กลิ่นหรือไม่รู้รสอาหาร ใจสั่น ไปจนถึงจิตตก ซึมเศร้า สมองเสื่อม
ทางแพทย์แผนไทยเรียกว่า “ลมปลายไข้” คือหายจากไข้แล้ว ยังมีอาการตามหลัง หรือ Post-COVID condition หรือ Long-hual COVID ฯลฯ
แม้ะมีความกังวลว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน จะกลายพันธุ์ต่อไปไม่หยุดยั้ง แต่หากยิ่งกลายพันธุ์ อันตรายจากเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ยิ่งมีความรุนแรงน้อยลง จนเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดา มันก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
มนุษย์จะต้องปรับตัวให้สามารถอยู่กับมันได้เหมือนกับอยู่กับไข้หวัดใหญ่ ไข้ป่า มาลาเรีย ไข้พิษ ไข้กาฬ โรคห่า ที่เคยคร่าชีวิตผู้คนนับล้านๆในอดีต
เราเอาชนะมันมาแล้วด้วยการปรับตัวสู้กับการกลายพันธุ์ของมันอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน