เสือตัวที่ 6
กระบวนการพูดคุยสันติสุขเพื่อดับไฟใต้พื้นที่ปลายด้ามขวานของไทยระหว่างคณะผู้แทนของรัฐนำโดย พลเอกพัลลภ รักเสนาะ กับผู้แทนกลุ่มแบ่งแยกการปกครองในนามกลุ่ม BRN เพื่อยุติหรืออย่างน้อยก็บรรเทาความรุนแรงจากการใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันโดยเฉพาะการกระทำจากฝ่าย BRN โดยนำปัญหาความขัดแย้งหรือความคับข้องใจของฝ่ายขบวนการแบ่งแยกผู้คนนี้มาสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนบนโต๊ะเจรจา อันจะนำไปสู่การตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง และนี่คือเป้าหมายปลายทางของกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐที่คาดหวังว่าจะเป็นหนทางไปสู่การนำสันติสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่แห่งนี้ได้อย่างแท้จริง หากแต่ว่าการดำเนินการตามแนวทางของกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐกับกลุ่มเห็นต่างกับรัฐนั้น หาได้ง่ายดายตามมโนภาพที่สร้างขึ้นไม่ เพราะแท้ที่จริงแล้วกระบวนการพูดคุยเพื่อนำสันติสุขมาสู่พื้นที่นั้น ต้องได้รับการยอมรับและได้รับการตอบสนองความต้องการของขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่อย่างทั่วถึงทุกกลุ่มทุกฝ่าย ซึ่งในโลกความเป็นจริงนั้น การต่อสู้กับรัฐเพื่อนำการปกครองอย่างเป็นอิสระจากรัฐไทยนั้น มีวิวัฒนาการมาช้านานไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการแบ่งกลุ่มแบ่งพวกของขบวนการเห็นต่างจากรัฐเองเพื่อช่วงชิงการนำในขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐเอง ซึ่งหากกลุ่มของตนได้รับการยอมรับว่ามีตัวตนและมีบทบาทนำไม่แพ้กลุ่มอื่นในขบวนการ ย่อมเป็นที่มาของอำนาจและผลประโยชน์ที่ผู้นำกลุ่มและพวกพ้องจะได้รับเมื่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขลุล่วงลง
หากแต่หนทางไปสู่การยอมรับเข้าเป็นกลุ่มตัวแทนขบวนการแบ่งแยกการปกครองนี้ ต้องมีพื้นที่ในเวทีของกระบวนการพูดคุยกับรัฐตั้งแต่ต้น ซึ่งกลุ่มตนจะต้องเป็นกลุ่มหนึ่งในการพูดคุยกับรัฐอย่างเป็นทางการเฉกเช่นเดียวกับกลุ่ม BRN ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐทั้งที่ผ่านมาและในห้วงหลังๆ มานี้ ปฏิกิริยาของการก่อเหตุร้ายในห้วงนี้ จึงเป็นการส่งสัญญาณให้รัฐเห็นว่า กลุ่ม BRN ไม่ใช่ตัวแทนของขบวนการต่อสู้กับรัฐอย่างเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียว และรัฐต้องรับรู้ว่า ขบวนการต่อสู้กับรัฐไทยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น กลุ่มคนที่มีความเห็นต่างจากรัฐ มีอุดมการณ์หรือแนวคิดที่ไม่ได้เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว การต่อสู้กับรัฐอันยาวนาน ได้ทำให้คนในขบวนการแตกตัวออกไปตั้งกลุ่มใหม่หลากหลายกลุ่ม และต่างฝ่ายต่างมีศักยภาพในการต่อสู้กับรัฐในหลายมิติทั้งการก่อความไม่สงบ การก่อเหตุรุนแรง การใช้สื่อ SOCIAL ในการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) เพื่อต่อสู้กับรัฐ หรือการใช้เวทีวิชาการในการสื่อสารแนวคิดและความต้องการไปสู่รัฐอย่างเป็นระบบ เหล่านี้คือความสลับซับซ้อนของกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐกับกลุ่มเห็นต่างจากรัฐที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด กลุ่มเห็นต่างที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ที่มีทั้งการแสดงตัวตนและที่ยังไม่แสดงตัวตน แต่ต่างมีศักยภาพในการต่อสู้ตามที่ตนถนัดและนิยมชมชอบ และเมื่อใดที่การพูดคุยดำเนินไปจนมีแนวโน้มว่าผลการพูดคุยอาจจะไม่เป็นไปตามที่กลุ่มตนคิดหรือคาดหวัง คนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะปลีกตัวออกมาจัดตั้งกลุ่มใหม่ และมีอิสระในการแสดงออกซึ่งความมีตัวตนของกลุ่มตนได้ทุกรูปแบบตามแต่โอกาสและจังหวะจะอำนวย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงเกิดปรากฏการณ์ก่อเหตุรุนแรงให้เห็นเป็นระยะๆ หนักบ้าง เบาบ้างตามแต่โอกาสและจังหวะจะอำนาย เพื่อต้องการแสดงตัวตนของกลุ่มตนที่กำลังถูกละเลยหรือมองข้ามจากรัฐ คนกลุ่มนี้พร้อมก่อเหตุใดๆ ได้ตลอดเวลา แม้ว่าท่าทีของรัฐและกลุ่ม BRN จะมีแนวโน้มของการยุติความรุนแรงชั่วคราวระหว่างความพยายามในการพูดคุยที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ดังที่ เมื่อกลางเดือน เม.ย.65 ได้มีการก่อเหตุเกิดบริเวณ ข้างบ่อน้ำ ม.8 ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยวางระเบิดซ้อนกันถึง 3 ลูก เพื่อหมายสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้ามาตรวจสถานที่เกิดเหตุเมื่อระเบิดลูกแรกทำงานแล้ว และแผนการก่อเหตุร้ายครั้งนั้นก็ได้ผล เมื่อมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดได้รับบาดเจ็บทันที 3 นาย ซึ่งเป็นจังหวะที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดเข้าตรวจสอบ ปรากฏว่าได้เกิดระเบิดขึ้น นอกจากนั้น คนร้ายกลุ่มนี้ยังทิ้งใบปลิวไว้ 1 แผ่น มีสัญลักษณ์รูปหัวเสือหรือสิงโต เขียนข้อความเป็นภาษามลายู อักขระรูมีว่า DAULAT TUANKU G5 ASKAR DI-RAJA PATANI แปลเป็นไทยว่า ทหารกองทัพหลวงปาตานี หรือทหารของประชาชนปาตานีและยังมีสัญลักษณ์ G5 ที่คาดว่าเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มด้วย
เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ นับเป็นเหตุร้ายขนาดใหญ่ที่มีการใช้ระเบิดเหตุการณ์แรกของเดือนรอมฎอนในปีนี้ ซึ่งแม้จะมีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทยกับคณะพูดคุยฝ่าย BRN ว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องการลดความรุนแรงในช่วงเดือนถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้หรือที่เรียกกันว่า เดือนรอมฎอน เพื่อให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายให้เป็นไปตามแนวทางรอมฎอนสันติสุขที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน หากแต่ว่ากลุ่มเห็นต่างจากรัฐนั้นหาใช่มีเพียงกลุ่ม BRN ไม่ และกลุ่ม BRN ก็ไม่ได้เป็นผู้นำกลุ่มเห็นต่างในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มเห็นต่างอื่นๆ ต่างก็มีศักยภาพในการต่อสู้กับรัฐอย่างเป็นอิสระอย่างเต็มที่
ล่าสุดนายกัสตูรี มาห์โกตา ผู้นำกลุ่มเห็นต่างอีกกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-MKP) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ โดยอ้างว่าเหตุวางระเบิดที่สายบุรีที่ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น เป็นฝีมือจากการกระทำของกลุ่มพูโล ที่ทำไปเพื่อเรียกร้องให้คณะพูดคุยของรัฐไทยนั้น ต้องเจรจากับฝ่ายผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่ม BRN เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น และนาย นายกัสตูรี ยังกล่าวอีกว่า การระเบิดครั้งนี้ ถือเป็นปีกหนึ่งของพูโลที่วางระเบิด โดยกลุ่มพูโล มีเครือข่ายกองกำลัง 5 ปีก ในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยแต่ละปีกจะมีอิสระในการต่อสู้ในเขตรับผิดชอบของตน และกลุ่มพูโลนี้ มีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมที่พร้อมจะต่อสู้กับรัฐในทุกรูปแบบหากกลุ่มตนถูกละเลยหรือถูกมองข้ามจากรัฐ
จากปฏิกิริยาที่ผ่านมานี้ จึงไม่อาจคาดหวังในผลสัมฤทธิ์อันสวยงามของรัฐได้ว่า เมื่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่ม BRN สำเร็จลง ก็น่าจะลดศักยภาพการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงจากผู้เห็นต่างของกลุ่มอื่นๆ ได้อย่างมากอย่างที่ฝัน ด้วยคนกลุ่มนี้กำลังแสดงตัวตนว่ากลุ่มพูโลเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ส่งสัญญาณแรงๆ ให้รัฐเห็นชัดเจนว่า พวกเขามีตัวตนอยู่จริงในพื้นที่แห่งนี้ และอย่าได้ละเลยพวกเขาในเวทีการพูดคุยไม่ว่าจะเป็นหนไหนเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นปลายทางสุดท้ายที่รัฐคาดหวังก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น