แสงไทย เค้าภูไทย
อะไรจะเกิดขึ้นหากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ 10 ปีตามที่ประธานาธิบดียูเครนแถลง หรือมองกันสั้นๆแค่ ถึงครึ่งปี ? ข้ามปี ?
นับแต่ 24 กุมภาพันธ์ มาจนถึงวันนี้ กองกำลังรัสเซียเข้าไปทำสงครามในยูเครน 56 วันแล้ว โดยไม่มีทีท่าว่าจะชนะสงคราม
คาดการณ์ว่าสงครามจะยืดเยื้อไปถึงกลางปีหรือนานกว่านั้น เพราะกองทัพยูเครนยังแข็งแกร่ง ต้านทานได้เหนียวแน่น โดยมีสหรัฐและนาโตสนับสนุนด้วยอาวุธและการเงินไม่ขาดสาย
กลายเป็นสงครามตัวแทนโดยยูเครนเป็นตัวแทนของนาโตรบกับรัสเซีย ประลองกำลังกันว่าใครจะเหนือกว่าใคร
สหรัฐและนาโตพยายามหน่วงให้สงครามยืดเยื้อเหมือนครั้งที่ รัสเซียครั้งเป็นสหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานเมื่อ 30 ปีก่อน
ครั้งนั้นก็เหมือนครั้งนี้ รัสเซียส่งกองกำลังไปยึดเมืองสำคัญๆในอัฟกานิสถาน
สหรัฐฯและพันธมิตรก็ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้กองกำลังอัฟกานิสถาน ซึ่งใช้การรบแบบจรยุทธ์ ซุ่มโจมตีจนกองทัพรัสเซียเสียหายหนัก
โซเวียตตรึงกำลังอยู่ในอัฟกานิสถานได้ 9 ปี ก็จำต้องถอนกำลังกลับ
ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ ซาเลนสกี ก็กำลังใช้ตำราเดียวกันกับอัฟกานิสถาน คุยทับไปว่า จะสู้ถึง 10 ปี
รบกันมา 2 เดือน เศรษฐกิจปั่นป่วนย่ำแย่กันไปทั้งโลก ถ้าเล่นกันถึง 10 ปี มิอดตายกันทั้งโลกหรือ ?
แต่ก็นั่นแหละ รบกันยืดเยื้อ ความเคยชินย่อมเกิดขึ้น โลกปรับตัวกันได้ ก็กลายเป็นสถานการณ์ปกติ
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจเติบโตของโลกปีนี้ต่ำลง
องค์การการค้าโลก (WTO) ปรับลดจาก 4.7% เมื่อไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เหลือ 2.4-3% เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังรับลดอัตราเติบโตของ GDP ลงจากอีก 0.7-1.3% เป็น 3.1-3.7%
ทั้งนี้เป็นผลจากการค้าโลกลดขนาดลงเหตุจากทั้งยูเครน ทั้งรัสเซียส่งสินค้าออกได้น้อย
โดยเฉพาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียเคยส่งออกถึง 20% ของปริมาณในตลาดโลกหดหายไป ขณะที่ข้าวสาลีจากยูเครนหายไปจากตลาดโลกถึง 25% ข้าวบาร์เลย์ 15%
ส่งผลให้เกิดภาวะสินค้าแพง เงินเฟ้อรุนแรง จนหวั่นว่าจะเกิดภาวะ stagflation .คือภาวะเศรษฐกิจหยุดนิ่งหรือชะงักงันร่วมกับภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ
ไทยอยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงนี้ เหตุจากยังซมพิษไข้โควิด-19 ไม่สร่าง แล้วกลับมาเจอทั้งสงคราม ทั้งเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี
การที่จีดีพีไทยต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ไทยเจอปัญหาจีดีพีโตต่ำเป้าหมาย บางปีถึงกับติดลบ
ยิ่งขณะนี้ไวรัสกลับมาระบาดในจีนอีกครั้ง ทำให้มีการจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของประชาชน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อไทยที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุด
ไทยจะเจอ stagflation ไหม ?
ต้องดูที่ปัจจัยเสี่ยง อันมี
อัตราเงินเฟ้อ พุ่งขึ้นไปถึง 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี ยกเลิกตรึงราคาดีเซล พ.ค.นี้จะขยับขึ้นอีกแน่นอน เพราะดีเซลเป็นทั้งต้นทุนผลิตและต้นทุนขนส่งสินค้า
อัตราว่างงาน ทั้งว่างงานประจำและว่างงานแฝง(ทำงาน รายวัน รายสัปดาห์ รายชั่วโมง ฯลฯ) รวมแล้วกว่า 900,000 คน ตัวเลขของ IEC ล่าสุด 2.3% สูงสุดในรอบ 3 ปี
ข่าวสดุ้งใจเมื่อสัปดาห์ก่อนโรงงานเครื่องเสียงเจวีซีเคนวูดอิเล็กทรอนิกส์ ปิดกิจการถาวร พนักงานตกงานกันระนาว
อัตราเติบโต GDP ต่ำต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะ 2562-63 ถึงกับติดลบ ปีนี้ทำท่าจะดี สำนักเศรษฐกิจทุกสำนักทักว่าจะโต 4-4.5% แต่พอเกิดสงครามยูเครน ตัวเลขปัดตกเป็น 2.5-4.00%
ภาคการผลิตชะลอตัว อันเป็นผลพวงจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตสูงจากราคาน้ำมันแพง สินค้าแพง คนไทยใช้เงินกันอย่างระมัดระวังดังที่แบงก์ชาติแจ้งผลการสำรวจไว้ว่า คนไทยกำลังซื้อหดตัวรุนแรง
ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ของไทยยังอยู่ในขั้นอ่วมๆ ไม่ถึงกับย่ำแย่ ต้องนอนหยอดน้ำข้าวต้ม
จึงอาจจะยื้อไปเรื่อยๆจนกว่าสถานการณ์เลวร้ายทั้งสองด้านบรรเทาลง ก็พอจะฟื้นตัวได้
แต่ที่เจ็บตัวหนักคือรัสเซีย ที่การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทำให้ต้องสูญเสียถึงวันละ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อวัน
ล่าสุด รัสเซียผิดนัดชำระหนี้ ทั้งจากการกู้ยืมในระบบธนาคารพาณิชย์และธนาคารกลาง
เหตุจากไม่สามารถใช้บริการระบบ SWIFT เครือข่ายการเงินระดับโลกที่ในการโอนเงินข้ามพรมแดนได้
กองเชียร์รัสเซียกับจีนยุว่า ให้ใช้ระบบทำธุรกรรม SPFS ของรัสเซีย กับ CIPS ของจีน แต่มีการเจรจากันมาเป็นปีๆแล้ว ยังหาข้อยุติไม่ได้
เพราะหยวนยังไม่อยู่ในฐานะสกุลเงินระหว่างประเทศ(Globalization) ยังเป็นแต่ระดับ ภูมิภาค(Regionalization) เท่านั้น
ธุรกรรมหยวน (Cross Border Yuan Transaction) มีสัดส่วนแค่ 3.2% ของธุรกรรมการเงินโลก ต่างจากดอลลาร์สรอ.ที่มีกว่า 88%
ทุกวันนี้จีนยังต้องยืมจมูกฮ่องกงหายใจ ให้เป็นศูนย์กลางเงินหยวนนอกประเทศจีน Offshore Yuan Business อยู่
หากสงครามยืดเยื้อ คนเจ็บตัวมากที่สุดก็คือรัสเซีย
แต่สหรัฐฯก็เจ็บไม่น้อยเหมือนกัน เข้าข่ายหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ จากการผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซีย
ระบบธนาคาร การปล่อยกู้ระหว่างธนาคาร ยูโร ดอลลาร์ ตลาดซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล และการกู้ยืมในรูปแบบอื่นๆที่ใช้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
กูรูการเงินคนหนึ่งของสหรัฐฯถึงกับกล่าวลอยๆ
“เราอาจได้เห็นวิกฤติการณ์สภาพคล่องที่เลวร้ายที่สุดที่เคยมีมา”