เสือตัวที่ 6
รัฐบาลยูเครนร้องขอความช่วยเหลือจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต อย่างเปิดเผยมาโดยตลอดตั้งแต่ครั้งที่รัสเซีย แสดงท่าทีว่าจะคุกคามด้วยกำลัง เมื่อ 24 ก.พ.65 ที่ผ่านมา โดยผู้นำยูเครนเรียกร้องความช่วยเหลือทางทหารจากนาโต และสหรัฐอเมริกาอย่างแข็งขันในการช่วยปกป้องยูเครนจากการรุกรานด้วยกำลังจากรัสเซีย ว่า ประเทศยูเครนจะสามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีของรัสเซียในภูมิภาคดอนบาสทางภาคตะวันออกได้นั้น ก็จะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งยุทธปัจจัยสงครามเพิ่มเติมอย่างจริงจังมากกว่ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียภายใต้การนำของสหรัฐฯ เท่านั้น ยุทโธปกรณ์สำคัญๆ ที่ยูเดรนต้องการ อาทิเช่น ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง แจฟเวอลีน (Javelin) จรวดต่อสู้รถถังน้ำหนักเบา NLAW ขีปนาวุธสติงเกอร์ (Stinger) และขีปนาวุธ สตาร์สตรีก (Starstreak) เป็นต้น ซึ่งยุทโธปกรณ์เหล่านี้ จะทำให้กองทัพยูเครนมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเพียงพอที่จะสามารถต้านทานการรุกรานจากกองทัพรัสเซียได้
หากแต่ในช่วงเดือนแรกของ นาโตภายใต้การนำของสหรัฐฯ ยังไม่กล้าพอที่จะนำโลกเข้าสู่สงครามใหญ่ที่อาจจะนำไปสู่การเผชิญหน้าโดยตรงกับกองทัพอันเกรียงไกรของรัสเซียซึ่งสหรัฐฯ และนาโต รู้ดีว่ากองทัพรัสเซียมีขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองจำนวนมากที่สุดในโลก ทำให้ ณ เวลานั้น ฝ่ายสหรัฐฯ และสมาชิกนาโต ยังไม่สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารให้กองทัพยูเครนอย่างออกนอกหน้า จึงทำได้เพียงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย โดยให้การสนับสนุนทางทหารอย่างลับๆ ต่อยูเครนเท่าที่จะไม่ไปเพิ่มความตึงเครียดให้มากขึ้นจนนำไปสู่การเผชิญหน้าโดยตรง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ความขัดแย้งจากการเผชิญหน้าทางทหารกันโดยตรงระหว่าประเทศมหาอำนาจในยุคนี้ จะนำไปสู่หายนะจากสงครามใหญ่ยุคศตวรรษที่ 21 ต่อมวลมนุษยชาติอย่างที่มาอาจประเมินความเสียหายได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้ผู้นำชาติตะวันตกต่างกังวลว่า หากสถานการณ์เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น ก็เป็นไปได้สูงที่จะทำให้รัสเซียภายใต้การนำของผู้นำที่ผู้นำชาติตะวันตกจะอ่านความคิดเขาออกได้อย่างกระจ่างแจ้ง ทำให้การคาดการณ์การตัดสินใจในการใช้อาวุธทำลายล้างสูงรวมทั้งอาวุธสมัยใหม่ อย่าง ประธานาธิบดีปูตินนั้นกระทำได้ยาก ผู้นำชาติมหาอำนาจทางตะวันตกจึงไม่กล้าผลีผลามในการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์หลักๆ ให้ยูเครนตามที่ยูเครนต้องการ ความห่วงกังวลของผู้นำทั่วโลกต่างกังวลว่า ผู้นำรัสเซียอย่างปูตินอาจหันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (Tactical Nuclear Weapon) ซึ่งเป็นการโจมตีศัตรูที่อยู่ในระยะใกล้ หรืออาจทำให้สงครามขยายวงกว้างมากขึ้นจนลุกลามเข้าไปในยุโรป ทั้งสงครามยังอาจขยายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกก็เป็นได้ นั่นคือสิ่งที่ผู้นำชาติตะวันตกที่อยู่ตรงข้ามกับรัสเซียที่เห็นตรงกันว่า ณ เวลานั้น สถานการณ์อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงสุดในท่าทีที่จะแสดงออกต่อสงครามรัสเซียกับยูเครน
ในขณะที่ยูเครนมีความต้องการการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าที่ชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนในแบบที่ผ่านมา ยูเครนเรียกร้องความช่วยเหลืออย่างจริงจังจากชาติตะวันตก ที่เป็นยุทโธปกรณ์ทางสงครามหลักๆ อาทิ รถถัง เครื่องบินรบ โดรน และระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีเทคโนโลยีทันสมัยมากกว่าอาวุธป้องกันภัยทางอากาศแบบที่ใช้ยิงโดยบุคคล เพื่อรับมือกับการที่รัสเซียเพิ่มการโจมตีทางอากาศอย่างหนักต่อยูเครน โดยใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลในการถล่มคลังเชื้อเพลิง ที่เก็บยุทธภัณฑ์สงคราม และสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของยูเครนตลอดมา ในขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ประกาศเตือนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสงครามจนถึงทุกวันนี้ว่า การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์หลักๆ ทางทหารของชาติใดก็ตาม ย่อมเป็นการประกาศเป็นประเทศที่เป็นปรปักษ์กับรัสเซียโดยตรง ทั้งยังย้ำเตือนให้คิดหน้าคิดหลังให้ดีในการสนับสนุนทางทหารต่อยูเครนอย่างออกนอกหน้า เพราะนั่นคือการเผชิญหน้าโดยตรงต่อรัสเซีย และเมื่อถึงเวลานั้น รัสเซียก็มีความชอบธรรมในการดำเนินการใดๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของรัสเซีย และพร้อมที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของรัสเซีย โดยตอกย้ำว่า รัสเซียคือชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ด้านอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งพร้อมแล้วในการใช้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียตามคำสั่งการของประธานาธิบดีปูติน
หากแต่สถานการณ์ต่อมา ผู้นำชาติตะวันตกได้แสดงท่าทีที่เป็นการเผชิญหน้ากับรัสเซียอย่างเปิดเผยมากขึ้น เป็นการส่งสัญญาณที่เป็นปรปักษ์กับรัสเซียมากขึ้นเป็นลำดับด้วยการกระชับแน่นการเยือนและการต่อสายพูดคุยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ระหว่างกันมากขึ้น การแสดงออกในห้วงเวลานี้เป็นการบ่งบอกถึงความเหนียวแน่นของนาโตอย่างเป็นปึกแผ่นมากขึ้น เพื่อความเป็นเอกภาพอย่างแข็งแกร่งต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทั้งยังมีการเยือนยูเครนของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น ชาติตะวันตก ยังมีท่าทีให้การสนับสนุนทางทหารต่อยูเครนอย่างเปิดเผยมากขึ้น อาทิ รัฐบาลเยอรมนี กำลังพิจารณาอนุญาตให้บริษัทไรน์เมทัล ผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์สัญชาติเยอรมัน ให้เตรียมส่งรถถังเลพเพิร์ด 1 (Leopard 1) จำนวน 50 คันให้แก่ยูเครน ซึ่งหากรัฐบาลเยอรมนีอนุมัติ ก็จะจัดส่งรถถังชุดแรกให้ยูเครนได้ภายใน 6 สัปดาห์ และจะทยอยส่งส่วนที่เหลือให้ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
ในขณะที่สงครามในยูเครนยังไม่มีทีท่าจะบรรเทาเบาบางลง โดยรัสเซียยังคงมุ่งโจมตีเป้าหมายในหลายเมือง หลายแห่งของยูเครนทั้งทางตะวันออกเฉียงเหนือและทางใต้ โดยมุ่งเป้าทำลายระบบขนส่งหลายแห่งซึ่งยูเครนใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้า ขณะที่สหราชอาณาจักรเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะใช้อาวุธฟอสฟอรัสในการโจมตี โดยยูเครน กล่าวหารัสเซียว่า ใช้ระเบิดฟอสฟอรัสโจมตีใส่กองทัพยูเครนในแคว้นลูฮานสค์ ในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของประเทศ ด้วยอานุภาพของอาวุธฟอสฟอรัส ทำให้กฎหมายระหว่างประเทศ ห้ามใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาวในที่ชุมชนหนาแน่น ในขณะที่รัสเซียประกาศว่าสหรัฐฯ ควรหยุดใช้วาจาข่มขู่รัสเซียและหยุดสนับสนุนอาวุธให้ยูเครน แต่ขณะนี้มีแนวโน้มแย่ลงสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเนื่องจากท่าทีแข็งกร้าวของทั้งสองฝ่าย และนี่คือการนำไปสู่การเผชิญหน้ากันมากขึ้นจนเป็นที่วิตกกังวลของชาติต่างๆ ทั่วโลก